รับชมบน YouTube: https://youtu.be/ZutNqsOQmTs

มีใครจำข่าวเก็บภาษี e-Service จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศกันได้บ้าง ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียในฐานะผู้บริโภคอย่างเดียวอาจไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่าไร แต่สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการซื้อบริการยิงโฆษณา หรือ “ยิง AD” อาจจะพอสังเกตเห็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ว่านี้ได้บ้าง เรามาสรุปและอัปเดตกันสักหน่อยว่าภาษี e-Service ที่ว่านี้คืออะไร เก็บจากใคร และในวันนี้กลายเป็นรายได้เข้าประเทศเราแล้วกี่บาท

ภาษี e-Service คืออะไร?

  • ภาษี e-Service เป็นภาษีในหมวดของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจัดเก็บจากการซื้อสินค้าและบริการ
  • แตกต่างจากภาษีเงินได้ที่เรายื่นและเสียภาษีกันในแต่ละปีที่จัดเก็บจากฐานรายได้
  • โดยทั่วไป ผู้ประกอบการที่กฎหมายกำหนดจะมีหน้าที่จัดเก็บและนำส่งภาษีที่ว่านี้ให้กับรัฐ
  • โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกผลักให้ผู้บริโภคเป็นผู้จ่าย VAT แทนได้
  • ซึ่งผู้บริโภคอาจสังเกตได้จากใบกำกับภาษีอย่างย่อที่จะได้รับเวลาที่ซื้อของว่าจะมีการแสดงราคาแยกกันระหว่างส่วนที่เป็นค่าสินค้าและบริการกับส่วนที่เป็นค่าภาษี VAT
  • แสดงให้เห็นว่าทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจด VAT ก็เท่ากับได้เป็นส่วนหนึ่งในการจ่ายภาษีให้กับรัฐเรียบร้อยแล้ว
  • ภาษี e-Service จึงเป็นภาษีที่กำหนดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างในการเก็บภาษี VAT จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ

ภาษี e-Service เก็บจากใคร?

  • ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LINE, Google,  Netflix, TikTok, Shopee, Zoom, Agoda
  • ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้มีการดูดเงินค่าสมาชิกหรือค่าบริการจากคนไทยออกนอกประเทศไป โดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยเลย
  • การเก็บภาษี VAT จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ หรือ ภาษี e-Service จึงเริ่มต้นเก็บเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
  • โดยเมื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศเลือกที่จะให้บริการแก่ผู้บริโภคในไทย ก็จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจด VAT ในไทยด้วย

ภาษี e-Service กับการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

  • ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่จดทะเบียน VAT ในไทยแล้ว 127 ราย
  • ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนนี้ที่จัดเก็บได้คิดเป็นเงิน 3,120.03 ล้านบาท
  • คาดว่าจะจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ถึง 8,000 – 10,000 ล้านบาทภายใน 1 ปี
  • ภาษี e-Service จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย
  • รวมถึงเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการชาวไทยที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลลักษณะเดียวกัน ไม่ให้เสียเปรียบผู้ให้บริการจากต่างประเทศ

การผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภค

  • ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศจะมีหน้าที่ต้องจัดเก็บและนำส่งภาษี VAT ให้กับรัฐไทย
  • แต่เมื่อเป็นภาษี VAT ดังนั้นผู้ประกอบการจึงอาจผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภคได้ผ่านการเพิ่มต้นทุนค่าภาษี VAT เข้าไปในค่าบริการ
  • แปลว่าแท้จริงแล้วก็อาจเป็นภาระของคนไทยที่ต้องเป็นคนจ่ายภาษีเหล่านี้เองอยู่ดี
  • เช่น การที่ผู้ซื้อบริการยิง AD จาก Facebook ซึ่งเป็นผู้ซื้อบริการทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจด VAT ก็จะได้เห็นว่า Facebook ได้เพิ่มค่าบริการยิง AD ผ่านการบวกเป็นค่า VAT 7%  
  • ดังนั้นถึงแม้จะดูเหมือนว่าภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไหลไปสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ
  • หากคนไทยต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศไปเรื่อย ๆ ก็เท่ากับการขาดดุลดิจิทัลให้ต่างชาติไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
  • ดังนั้นหากผู้ประกอบการชาวไทยได้รับการสนับสนุนที่มากพอจนสามารถผลิตแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดึงดูดผู้ใช้บริการจากทั่วโลกได้บ้าง ก็คงเป็นช่องทางรายได้สู่ประเทศที่ทั้งมหาศาลและยั่งยืนกว่าเพียงแค่การจัดเก็บภาษี VAT จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเท่านั้น

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"

TSF2024