จริงอยู่ว่าคงยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ปัจจัยมหภาค Macro ได้อย่างยืนยาว
แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า QE และ QT มีผลต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกันอย่างค่อนข้างมีนัยยะ
จากท่าทีของ Fed ที่ดูเหมือนจะเลิกสปอยล์หลังเศรษฐกิจและตลาดหุ้นผ่านวิกฤตเป็นที่เรียบร้อยจากการเกิดเงินเฟ้อเข้ามาแทนที่
ในวันนี้ Mr. Serotonin จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับการทำ QT เพื่อที่เราจะได้พร้อมรับมือกับแรงปะทะของ Fed ที่อาจเกิดขึ้นได้กัน!
QT คืออะไร? ทำความรู้จักยาแรงเลิกสปอยล์ของ Fed เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างร้อนแรงเกินไป
QT คือหนึ่งในเครืองมือทางการเงินยุคใหม่ที่เปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามของเครื่องมือคุ้นหูอย่าง QE ซึ่งก็คือการอัดเงินเข้าไปพยุงเศรษฐกิจ
QT หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือการ “ดูดเงินจากระบบกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ” โดยธนาคารกลางจะทำการขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถือเอาไว้จากการทำ QE คืนให้กับตลาดการเงิน (คนในระบบขนเงินมาซื้อลดปริมาณเงินที่ถือ) หรืออาจจะใช้วิธีการแบบ Passive โดยการปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดอายุครบไปแล้วไม่หาตัวใหม่มาแทนคล้ายในช่วงปี 2019 ก็ย่อมได้
ในทางทฤษฎีแล้วกระบวนการที่ว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด
ในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อที่หลับใหลมาหลายศตวรรษได้ตื่นขึ้นมาจากการทำ QE อันมหาศาลของ Fed ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอนสูงจน Fed ต้องหว่านแหอัดเงินไปก่อน เพื่อพยุงเศรษฐกิจเอาไว้
การเติบโตของ M2 หดลงแรง สะท้อนการถอนคันเร่งและจุดสูงสุดของเงินเฟ้อ?
ภาพแสดงปริมาณเงิน M2 กับเงินเฟ้อจากภาพเราจะสังเกตได้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวไล่ตามสอดคล้องกับปริมาณเงิน M2 ที่เพิ่มขึ้นกระทันหัน ที่มา: longtermtrends.net วันที่: 1 เมษายน 2022
จากภาพเราจะเห็นได้ว่าปริมาณการเติบโตของเงิน M2 (ตัววัดปริมาณเงินในระบบซึ่งประกอบไปด้วยสกุลเงินและเหรียญต่าง ๆ ของภาคเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในธนาคาร เช็คเงินฝากกระแสรายวัน เช็คเดินทาง รวมไปถึงเงินฝาก) ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับเงินเฟ้ออย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามในช่วงล่าสุดปริมาณการเติบโตของเงิน M2 ได้ลดลงแบบมีนัยยะให้เห็นจะ ๆ เช่นเดียวกัน สวนทางกับเงินเฟ้อที่เพิ่งสะท้อนผลออกมา
ซึ่งตามความเห็นของ Mr. Serotonin หากเรามองจากภาพดังกล่าว เราก็อาจจะมองได้ว่าเงินเฟ้ออาจแตะจุดพีคไปแล้วหรือไม่?
QT ในอดีตกับผลกระทบต่อตลาดหุ้น
ภาพแสดงงบดุลของ Fed (เปรียบเสมือนตัวแทนปริมาณ QE และ QT หากลดหรือขะลอลง) ที่มา: longtermtrends.net วันที่: 1 เมษายน 2022
จากภาพเราจะเห็นได้ว่าหากงบดุล (Balance sheet) ของ Fed เริ่มชะลอหรือปรับตัวลงตลาดหุ้นจากเริ่มมีราคาแกว่งไปมา sideway ออกข้าง หรืออาจปรับตัวลงแรง ๆ ได้ดังเช่นช่วงหลังการทำ QT1 ที่มีการลดขนาดงบดุลแรง ๆ
อย่างไรก็ดีหากเราสังเกตจากภาพข้างต้นในช่วงที่ Fed เริ่มทำการชะลอปริมาณงบดุลบางทีตลาดอาจรับรู้ไปก่อนหน้าและสะท้อนความคาดหวังผ่านราคาไปก่อนแล้ว อีกทั้งบางทีตลาดยังวิ่งหน้าตั้งต่อไปอีกเพราะสะท้อนการอัดเงินเพิ่มในอนาคตไปก่อนหน้า
ดังนั้นหากเราคาดหวังที่จะรอ QT จบแล้วค่อยทยอยสะสมลงทุนจึงอาจไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไรนัก (ตลาดมักสะท้อนข้อมูลและ Facts ไวกว่าพื้นฐาน) จึงเป็นที่มาของการคาดการณ์อนาคตเป็นสิ่งที่ไชมิอาจทำได้โดยสมบูรณ์ การรักษาวินัยลงทุนหรือการเก็บเงินสดรอจังหวะลงหน่วง ๆ หนัก ๆ ที่คิดว่าเหมาะสม แล้วซัดไปโดยไม่รอหวัง Fed จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า (Stay invested!!!/ Keep cash in hands)
QT กับผลตอบแทนพันธบัตร Treasury Yield
ในเมื่อ QE เปรียบเสมือนตัวช่วยในการกดดอกเบี้ยให้ต่ำ คำถามต่อไปก็คือแล้ว QT จะส่งผลในทางตรงกันข้ามหรือไม่? ซึ่งผลที่ได้ก็อาจจะตรงกันข้าม
ภาพแสดงงบดุลของ Fed เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ที่มา: investing.com วันที่: 26 พฤษภาคม 2021
ในช่วงที่ Fed ทยอยลดปริมาณงบดุลเมื่อปี 2018 ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ แบบ 10 ปี กลับปรับตัวลดลง? ส่วนหากจะถามถึงสาเหตุก็อาจเป็นเพราะ ในช่วงที่ QE ช่วยกดดอกเบี้ยและดันหุ้นขึ้นอาจส่งผลให้เม็ดเงินจากการลงทุนในพันธบัตรไหลออกไปเข้าหุ้น ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรอาจปรับตัวขึ้นจากการไหลออกของเงิน จนกระทั่งเมื่อมีการทำ QT ที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดความไม่แน่นอน เงินจึงอาจไหลเข้ามายังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรที่ ณ ตอนนั้น อัตราผลตอบแทนหรือ yield อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่น่าดึงดูด
ดังนั้นหากจะถามว่าถ้า QE จบแล้วเกิด QT ผลตอบแทนพันธบัตรจะเป็นอย่างไร? เราก็อาจสังเกตได้จากภาพข้างต้นครั้นปี 2014-2015 และปี 2019-2020 ครับ
จากภาพข้างต้นเราอาจสังเกตได้ว่าหลัง QE ถึงจุดพีค ผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวลงทุกครั้งไป ที่มา: investing.com วันที่: 26 พฤษภาคม 2021
นอกจากนั้นหลังการทำ QE แตะจุดพีคในอดีตทั้ง 4 ครั้ง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแบบ 10 ปี ก็พร้อมใจกันปรับตัวลงดังภาพข้างต้นอีกด้วย
QT ยุคนี้จบตอนไหน?
คำตอบก็คงอยู่ที่ต้นตอของปัญหาอย่าง “เงินเฟ้อ” ที่ปรับตัวร้อนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีเศษ ครั้นเดือน มีนาคม ที่ระดับ 8.5% (CPI (YoY)) ดังนั้นหากความร้อนแรงของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงเราอาจได้เห็นภาพการถอนคันเร่งของ Fed ที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ตามที่ได้ยกตัวอย่างเรื่องของการเติบโตของ M2 ที่ค่อนข้างมีนัยยะกับเงินเฟ้อ สถานการณ์ในตอนนี้จึงอาจบอกเราเป็นนัย ๆ ได้ว่าเงินเฟ้ออาจเข้าสู่จุดพีคเเล้วหรือไม่?
ภาพอัปเดตล่าสุดตอนนี้การดูดเงินออกจากระบบอาจได้เริ่มขึ้นแล้วตอนนี้ตัว reverse repo แตะระดับ 2 ล้านล้านเหรียญ ที่มาไอเดีย: https://web.facebook.com/632010822/posts/10158991546970823/?d=n&_rdc=1&_rdr
ที่มาข้อมูล: FRED วันที่: 6 มิถุนายน 2022
การทำความรู้จัก QT ถือเป็นการติดอาวุธเข้าสู่สนามลงทุนเพิ่มอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งถึงแม้เราจะไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ทั้งหมด การที่เรารู้ว่าเรายืนอยู่ ณ จุด ๆ ไหนของวัฏจักรหรือรอบตลาด ก็อาจช่วยให้เราจิตใจเราสงบลงได้หรือหากดีไปกว่านั้นเราอาจหาโอกาสได้มากขึ้น ทำผลตอบแทนได้ดียิ่งขึ้นจากการไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์อันเลวร้ายอีกด้วย
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับทุก ๆ คนนะครับ
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
https://fred.stlouisfed.org/series/RRPONTSYD
https://www.investing.com/analysis/taper-is-coming-got-bonds-200582426
https://www.longtermtrends.net/m2-money-supply-vs-inflation/
https://www.yardeni.com/pub/monpolicyqe.pdf