มุมมองตลาดปัจจุบัน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทปรับตัวลดลงจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเร็วๆนี้  ทั้งนี้ จากผลการประชุมเฟด คณะกรรมการมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามที่ตลาดคาด และประธานเฟดระบุว่าคณะกรรมการยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเร็วๆ นี้อย่างจริงจัง  อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่าการที่เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงอาจส่งผลให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งนำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ในขณะที่ทางกลุ่มโอเปกพลัสยังคงการเพิ่มปริมาณการผลิตไว้ดังเดิม เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้มาจากการขาดแคลนอุปทานอย่างแท้จริง แต่เกิดจากการที่หลายประเทศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ในจีน ซึ่งนำไปสู่การล็อคดาวน์หลายเมืองใหญ่ที่สำคัญของจีน ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกลดลง  ทั้งนี้ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและการล็อคดาวน์ในจีนส่งผลให้ปัญหาในภาคอุปทานเลวร้ายลงและเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่ราคาตราสารหนี้ของไทยปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยมีสาเหตุหลักจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

ทางเรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะยาว โดยมองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นการปรับฐานเพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางดอกเบี้ย ปัญหาความวุ่นวายในยูเครน และการล็อคดาวน์ของจีน ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยเฟดย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด  สำหรับเศรษฐกิจไทย การส่งออกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่การผ่อนคลายเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวมีทิศทางดีขึ้น

ในส่วนของตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ถึงแม้มีความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม เนื่องจากตลาดได้ตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่ตลาดคาดการณ์ และเงินเฟ้อของสหรัฐอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จึงเปิดโอกาสในการที่จะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการที่ตลาดปรับตัวลดลงมามากเกินไป ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมีความน่าสนใจในแง่ของความปลอดภัยและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในอนาคต

พอร์ตการลงทุน

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่ได้รับเอกสาร: 12 พฤษภาคม 2022

Krungsri The Masterpiece อัปเดตมุมองประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2022: หุ้นเทคโนโลยีผันผวน แต่ตลาดหุ้นในระยะยาวยังเป็นเชิงบวก

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่ได้รับเอกสาร: 12 พฤษภาคม 2022

กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค

กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ

KFAFIX-A:

  • กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง – ยาว มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนต่อไป จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ถึงแม้ว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 1 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะสามารถปรับขึ้นได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของไทยช้ากว่ามาก และยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิด Covid-19 ได้ หากแต่ตลาดพันธบัตรไทยจะยังคงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนต่อไป ทั้งนี้ในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน สถานการณ์ดูรุนแรงและยังคงยืดเยื้อทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั่วโลก โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอาจมากถึง 50 bps ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป โดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีลักษณะแบนราบลงอย่างรวดเร็วและเป็นแบบ Inverted ในบางช่วงเวลา

กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

KF-SINCOME/ KF-CSINCOM:

  • ตราสารที่มีสภาพคล่องสูงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อหาโอกาสที่เหมาะสมในการลงทุนกองทุนมีการลงทุนบนตราสารหนี้ที่ช่วยรักษาอำนาจการซื้อในสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ และมีสถานะชอร์ตตราสารหนี้ในประเทศอังกฤษ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนแก่กองทุนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

กองทุนตราสารทุนในประเทศ

KFDYNAMIC

  • กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาว ตามผลการดำเนินของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน

กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity

KFGBRAND-A/KFGBRAND-D:

  • ภาพตลาดโดยรวมยังคงมีความผันผวน จึงยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน โดยปกติกองทุนจะมีความผันผวนน้อยกว่าตลาด เนื่องจากกองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง รายได้และกำไรเติบโตสม่ำเสมอ

KF-EUROPE/ KFHEUROP-A:

  • ตลาดยุโรปเจอแรงกดดันต่อเนื่อง ทั้งจากการเมืองระหว่างประเทศที่มีทิศทางยืดเยื้อหลังทางรัสเซียและยูเครนยังไม่สามารถเจรจายุติสงครามได้ อีกทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรปต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์

KFACHINA-A :

  • ตลาดจีนปรับตัวดีขึ้นโดยรัฐบาลได้กลับมาให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2022 ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางจีนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวยังคงมีความผันผวน โดยตลาดจีนทยอยฟื้นตัวจากความเสี่ยงเรื่องการ de-list หุ้นจีนจากตลาดสหรัฐฯ หลังทางการจีนออกมาให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนว่าจะร่วมมือกับทาง SEC สหรัฐฯในการเข้ามาตรวจสอบบริษัทจีน อีกทั้งแรงกดดันจากการล๊อคดาวน์รอบใหม่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของ Covid-19

KFHHCARE :

  • Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเชิงรับ หรือมีความ Defensive โดยมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ขณะที่ Earnings  เติบโตได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง

Krungsri The Masterpiece อัปเดตมุมมองประจำเดือนพฤษภาคม 2022: เฟดยืนยันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง รับการขึ้นดอกเบี้ย

ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่ได้รับเอกสาร: 12 พฤษภาคม 2022

หมายเหตุ:

  • กองทุน KFGBRAND-A, KFGBRAND-D, KF-EUROPE, KFACHINA-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • กองทุน KF-SINCOME, KF-CSINCOM, KFAINCOM-A, KFAINCOM-R, KF-HUSINDX, และ KF-HEUROPE ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน

คำเตือน  ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้   กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น   กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้  (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย  เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร  0 2657 5757

TSF2024