ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า QE กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเงินอันสำคัญของโลกยุคใหม่ที่ช่วยผลักดันตลาดหุ้น ในช่วงจังหวะวัฏจักรที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากลายมาเป็นผู้นำด้านการใช้นวัตกรรมการเงินดังกล่าวอย่างหนักหน่วง
เรามาดูกันว่า QE นั้นคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรกับใครบ้าง รวมถึงตลาดหุ้น
QE คืออะไร? ทำความรู้จักเครื่องมือการเงินแห่งโลกยุคใหม่ ที่อาจจะไม่ได้ใหม่อย่างที่คิด?
QE คือ นโยบายทางการเงินที่ฉีกกดนโยบายแบบดั้งเดิม ซึ่งธนาคารกลางจะทำการเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะยาวจากตลาดเสรีเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ (หลัก ๆ เป็นพันธบัตรรัฐบาล) ซึ่งจะช่วยหนุนนำการกู้ยืมและลงทุนต่อไป
มาตรการนี้มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมในยุคดอกเบี้ยต่ำที่ลำพังการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงถดถอย
การทำ QE จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินหมุนเข้าไปเพิ่ม อีกทั้งยังช่วยกดดอกเบี้ยของพวกตราสารประเภท Fixed income (ตัวอย่างเช่น ตราสารหนี้, MBS ต่าง ๆ ) ซึ่งมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ นอกจากจะช่วยเพิ่มเงินให้ระบบมีสภาพคล่องมากขึ้นไม่ล้มละลาย QE ก็ยังช่วยลดดอกเบี้ยซึ่งเปรียบเสมือนภาระหนี้ (ในช่วงวิกฤต) ได้อีกด้วย
สรุปง่าย ๆ QE ก็คือการซื้อพันธบัตรของตัวเองคืนหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ และเอาเงินไปมอบให้กับเจ้าของเดิมที่ถือหรือคนที่ต้องการเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตามการกระทำมีสิ่งที่ต้องแลกมาอย่างหนึ่งก็คืองบดุล (Balance sheet) ที่บวมหรือเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ภาพแสดงการขยายตัวของงบดุล (Balance sheet) ของ Fed ที่มา: fred.stlouisfed.org
จากภาพเราจะเห็นได้ว่าหลัก ๆ แล้ว เราได้เห็นการทำ QE ในช่วงล่าสุดหลัก ๆ คือช่วงปี 2008 และช่วง 2020 ล่าสุด ซึ่งในปี 2008 เป็นการทำ QE เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดอย่างการเข้าซื้อ MBS เพื่อพยุงเสถียรภาพตลาดเอาไว้ ในขณะที่ปี 2020 เป็นปีที่ Fed ใช้นโยบายดังกล่าวแบบเชิงรุกหนักหน่วงในหลายภาคส่วนของระบบ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเอาไว้
คำถามต่อไปก็คือมันสมเหตุสมผลจริง ๆ หรือที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะพิมพ์เงินซื้อหนี้ของประเทศตัวเองได้อย่างอิสระ เช่น ออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มทุนและซื้อหนี้ขของตนเองคืนยามที่ต้องการ เพราะ หากเราจินตนาการง่าย ๆ บริษัทในตลาดหุ้นที่ขาดสภาพคล่องยังพิมพ์เงินออกมาเพิ่มสภาพคล่องตัวเองไม่ได้เลย ซึ่งคำตอบของประเด็นที่ว่าก็คงเป็นการที่ “ค่าเงินดอลลาร์” เป็นค่าเงินหลักสำคัญของโลกทั้งในแง่ของการใช้สอยค้าขายและการเป็นเงินสำรองหลักนั่นเองครับ
ภาพแสดงสกุลเงินสำรองหลักของโลกซึ่งดอลลาร์ยังเป็นค่าเงินหลัก ที่มา: IMF
ด้วยการที่เงินดอลลาร์มีสถานะดังกล่าวจึงทำให้สหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินที่ถึงแม้จะเป็นการด้อยค่าเงินของตนเองได้อย่างอิสระ เพราะถึงจะพิมพ์อย่างไร เงินดอลลาร์ก็ยังแข็งแกร่งและถูกใช้เป็นจำนวนมากอยู่ดีนั่นเอง
QE ได้สร้างวิถีแห่งหุ้นยุคใหม่
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า QE เปรียบเสมือน้ำมันเติมเชื้อเพลิงให้กับตลาดหุ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2008 และข้อสรุปดังกล่าวยังชี้ชัดให้เห็นในปี 2020 อีกด้วยที่ตลาดหุ้น Rebound และเทียบจะเรียกได้ว่าวิ่งไปเพลิน ๆ ไปพร้อม ๆ กันกับ QE
ภาพแสดงการขยายตัวของงบดุล (Balance sheet) ของธนาคารกลางหลักในโลกเทียกับดัชนีหุ้น S&P 500 ที่มา: yardeni.com
นอกจากนั้น QE ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วงให้หุ้นเติบโต (Growth stock) เอาชนะหุ้นคุณค่า (Value stock) ได้อย่างขาดลอยนับตั้งแต่นั้นมา จากการซื้อสินทรัพย์ที่ช่วยกดให้อัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนทำให้มูลค่าหุ้นเติบโตก้าวกระโดด และทำให้โลกเข้าสู่ยุคของการลงทุนในหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป
ภาพแสดงผลงานหุ้นมูลค่าและหุ้นเติบโตโดยหุ้นเติบโตทำผลงานได้ดีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2008 ที่มา: nasdaq.com
สาเหตุสำคัญที่ QE มีผลกับตลาดหุ้นขนาดนี้ก็อาจเป็นเพราะ ดอกเบี้ยที่ถูกกดให้ต่ำรวมถึงการที่เงินที่ถูกอัดฉีดเข้าไปนั้น ไม่ได้ไหลเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจริง ๆ สังเกตได้จาก Money velocity (ตัววัดการแลกเปลี่ยนของสินค้าและบริการเทียบกับปริมาณเงินในระบบเพื่อดูการไหลเวียนของเงินในเศรษฐกิจ) ที่ใช้วัดการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะได้มีการเร่งตัวอะไรเพิ่ม สอดคล้องกับการทำ QE ครั้งใหญ่ของ Fed นับตั้งแต่ปี 2008 จึงอาจทำให้เม็ดเงินมหาศาลดังกล่าวไหลเข้าตลาดทุนแทน
ภาพแสดง Velocity of money ของ M1 (ธนบัตร เหรียญ เงินฝากจ่ายคืน) ที่มา: fred.stlouisfed.org
และหากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ หากเรามีเงินสัก 10,000 ล้านบาท เราคงไม่กินอะไรเพิ่มเป็นวันละ 1 ล้านบาท เพราะ เรามีจุดที่อิ่มจนไม่ไหวแล้ว ดังนั้นเงินที่เหลือเราก็คงจะนำไปทำอย่างอื่น เช่น ลงทุนหรือเก็บออม
นอกจากนั้นการที่เงินเฟ้อไม่ปรับตัวขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Money velocity จึงอาจเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าเงินไม่ได้หมุนเข้าไปในเศรษฐกิจจริง ๆ และทำให้เกิดการเติบโตเสริมสร้างรายได้ ประเด็นจึงอาจนำไปสู่คำถามถัดไปในเรื่องของรายได้และหนี้ ว่าจะเติบโตทันกันกับหนี้ที่ก่อมาเป็นกองพะเนินในตอนนี้หรือไม่?
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก QE
หาก QE เปรียบเสมือนน้ำมันที่หล่อลื่นเครื่องยนต์ของตลาดหุ้นฉันใด การที่เราเติมมันมากไปก็อาจส่งผลกระทบอีกด้านหนึ่งฉันนั้น เรามาดูกันว่าตอนนี้ QE อาจก่อให้เกิดผลเสียอะไรบ้าง และวัฏจักร QE จะอยู่ยั่งยืนยงได้อีกนานแค่ไหน
ภาพแสดงวัฏจักรของเงินจากตัวอย่างหนังสือ The Changing World Order โดย Ray Dalio ที่มา: academy.blue-swan.io
โดยปกติแล้ว Cycle ของเงินตราในภาพใหญ่ ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ
ช่วงที่ 1: Hard Money
ช่วงแรกก็คือช่วงของ Hard money หรือช่วงที่เราใช้ทองคำ เหรียญ เงิน พวกโลหะมีค่าต่าง ๆ หรือโภคภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (มีความน่าเชื่อถือสูงและมีการกู้ที่ต่ำ)
ช่วงที่ 2: Claims on Hard Money
ในช่วงที่ 2 ระบบดังกล่าวจะถูกพัฒนามาเป็น Claims on Hard Money หรือ ช่วงที่เราจะใช้เงินกระดาษ ธนบัตรต่าง ๆ ที่ถูกค้ำโดยสินทรัพย์มีค่าอย่างทองคำเป็นต้น ซึ่งในช่วงต้นเงินกระดาษต่าง ๆ จะถูกนำมาแลกเป็นทองคำได้อย่างสมบูรณ์ แต่หลังจากเริ่มมีการฝากเงินในธนาคารเพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน โดยที่ตัวธนาคารเองก็ได้นำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม (ระบบเบสิคธนาคารเอาเงินฝากไปปล่อยกู้ต่อและนำไปบริหารจัดการให้ดีและสร้างผลกำไร)
เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะทำให้ความต้องการเงินเพิ่มขึ้น และเติบโตไปเรื่อย ๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปริมาณทองคำหรือสินทรัพย์ค้ำยันไม่เพียงพอ (จุดที่ความต้องการเงินโตมาก ๆ จนมากกว่าทองคำที่ค้ำเงิน) ประจวบกับช่วงที่คนต้องการเรียกทองคำคืนแต่ทองคำที่มีอยู่ดันไม่พอกับความต้องการ ทางธนาคารกลางก็จะเหลืออีกเพียง 2 ทางเลือกซึ่งก็คือปล่อยล้มละลายหรือการพิมพ์เงินออกมาตอบสนองความต้องการเพิ่มเติม ซึ่งก็จะทำให้เราเข้าสู่ยุคถัดไปที่เรียกว่า Fiat Money
ช่วงที่ 3: Fiat Money
เป็นยุคปัจจุบันที่เทียบกับค่าเงินดอลลาร์ได้ดีที่สุด ยุคของ Fiat money คือยุคที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งมันจะไม่มีปัญหาอะไรหากประเทศนั้น ๆ สามารถสร้างรายได้ออกมาใช้หนี้ได้เรื่อย ๆ แต่เมื่อใดก็ตามเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่หนี้อาจจะมีมากเกินไปเกินรายได้ที่มีจะจ่ายไหว ระบบดังกล่าวก็อาจจะต้องสิ้นสุดลงและนำไปสู่การหมดความเชื่อถือจนทำให้ผู้คนหลีกหนีจากสินทรัพย์ต่าง ๆ ในประเทศนั้น ๆ จนต้องนำตัวเองไปผูกกับสินทรัพย์อย่างทองคำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือดังเดิมใหม่
ความเชื่อมั่นกำลังหดหายในดอลลาร์?
ภาพแสดงการถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯ ของต่างชาติ ที่มา: allseasonfunds.com
จากภาพข้างต้นเราจะเห็นได้ว่าต่างชาติเริ่มลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างมีนัยยะสำคัญส่งผลให้ยอดรวมการถือตราสารหนี้สหรัฐฯ โดยต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่ก็อาจเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการลดความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ของต่างชาติ อย่างไรก็ดีเนื่องด้วยดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่ถูกใช้ในตอนนี้ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นจึงอาจทำให้ในตอนนี้ผลลัพธ์อาจยังไม่ได้เป็นปัญหามากนัก แต่ในอนาคตสัญญาณดังกล่าวอาจบอกกับเรานัย ๆ เกี่ยวกับเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้นก็เป็นได้
ภาพแสดงการสำรองเงินดอลลาร์ (แกนขวา) ที่ลดลงพร้อมการอ่อนค่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แกนซ้าย) นับตั้งแต่ปี 2000 ที่มา: South China Morning Post
สรุปโดยรวม QE เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ค่อนข้างฉีกตำราแบบเดิม ๆ ซึ่งคงไม่แปลกอะไรนักในยุคหลัง เพราะ เราคงได้ยินกันจนคุ้นหู
เครื่องมือดังกล่าวเปรียบเสมือนสารกระตุ้นที่เข้ามาช่วยพลิกเกมการเงินที่ท่าอย่างการลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำไม่ได้มากนัก อีกทั้งยังส่งผลให้หุ้นเติบโตทำผลงานได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย อย่างไรก็ดีผลลัพธ์ในตอนจบเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามสำหรับนักลงทุนกองทุนรวมว่าประเทศที่เราลงทุนนั้น จะยังสามารถเติบโตต่อไปได้หรือไม่ หากนโยบายดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่อง
ทุกคนคิดเห็นอย่างไร ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ ลองคอมเมนต์กันมาได้นะครับ
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
https://academy.blue-swan.io/blog/decentralized-finance-and-the-debt-cycles
https://allseasonfunds.com/reading-the-tea-leaves-behind-crypto/
https://data.imf.org/?sk=E6A5F467-C14B-4AA8-9F6D-5A09EC4E62A4
https://fred.stlouisfed.org/series/M2V
https://fred.stlouisfed.org/series/WALCL
https://www.investopedia.com/terms/q/quantitative-easing.asp
https://www.investopedia.com/terms/v/velocity.asp
https://www.nasdaq.com/articles/value-vs-growth%3A-a-brief-historical-view-2021-05-06
https://www.yardeni.com/pub/peacockfedecbassets.pdf