นวัตกรรมทางการแพทย์ กำลังจะทำให้ “คนไทย” อายุยืนขึ้นเกือบถึง 100 ปี ซึ่งแม้จะเป็นข่าวดี แต่ขณะเดียวกัน นี่เป็นประเด็นที่น่าตกใจอย่างมาก …เพราะหากต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณยาวนานขึ้นขนาดนี้ ก็หมายถึงต้องใช้เงินจำนวนมากเช่นกัน …แล้วจะทำอย่างไรดี ?!?
นวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวล้ำ ได้ทำให้ประชากรโลก รวมถึงประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการแพทย์ด้านการบำบัดด้วยยีน เทคโนโลยีการฟื้นฟูเซลล์ การพัฒนาอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยยืดอายุประชากรให้มีชีวิตยาวนานมากขึ้นกว่าในอดีต
โดยสำหรับคนไทยนั้น ปัจจุบันมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี แต่ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้าตามที่ได้เล่ามานั้น จึงส่งผลให้อายุขัยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.4 เดือนต่อปี ดังนั้นด้วยทิศทางการมีชีวิตที่ยืนยาวนี้เอง สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2568 คนไทยที่อายุยืนมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรประเทศ1
และยังนำไปสู่ปรากฏการณ์สำคัญด้านอายุของกลุ่มคนซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป หรือที่รู้จักกันใน Gen Alpha ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มที่จะอยู่ได้นาน 100 ปีเลยทีเดียว2
อายุยืน…แต่เงินอาจไม่พอใช้ ?!?3
แม้คนไทยจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ชีวิตหลังเกษียณของคนส่วนหนึ่งก็อาจไม่สะดวกสบายนัก เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ที่ระบุว่า โครงสร้างของผู้สูงอายุประมาณ 96% ของประเทศไทย อาศัยอยู่บ้านหลังเดิมอย่างยากลำบาก และมีเพียงสวัสดิการแห่งรัฐฯ เท่านั้นที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต
และหากเจาะลึกผลสำรวจที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2560 ก็จะพบว่าคนไทยกว่า 19% มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณอีกด้วย!!
ข้อมูลเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า หลังเกษียณที่มีอายุยืนยาวขึ้น ก็อาจไม่ใช่ปลายทางที่มีความสุขนัก หากมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย
ประกันบำนาญ Living Benefit สูง … ช่วยให้มีเงินใช้ในวัยเกษียณดีขึ้น ?
คุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) แนะนำให้เลือก “ประกันบำนาญ” เพื่อใช้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีรายได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งย้ำว่า ควรเลือกประกันบำนาญที่เน้นเรื่องของผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) สูง ซึ่งผู้เอาประกันฯ จะได้รับผลประโยชน์กรณีที่มีอายุยืนยาว โดยจะช่วยให้ได้รับเงินคืนอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุขัยหรือจนครบสัญญาฯ ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามไลฟ์สไตล์ที่ตั้งใจ
“Living Benefit ที่สูงจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมาก ซึ่งเวลาเลือกประกันบำนาญ ก็อยากให้เน้นตรงนี้ และแยกการพิจารณาออกจากผลประโยชน์หลังจากเสียชีวิต (Death Benefit) ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันจะได้รับกรณีเสียชีวิตก่อนอายุที่ระบุในสัญญาฯ โดยจะถูกส่งมอบให้ผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุในสัญญาฯ”
นอกจากนี้ ยังได้แนะนำเทคนิคการเลือกประกันบำนาญ ดังนี้ 1.อายุการจ่ายเงินบำนาญ ยิ่งนาน ยิ่งมีโอกาสได้ประโยชน์คุ้มค่า 2.เปอร์เซ็นต์การจ่ายเงินบำนาญ ยิ่งสูงยิ่งดี 3.ความมั่นคงด้านฐานะทางการเงินของบริษัทประกัน เพราะประกันบำนาญเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลายาวนาน ก็ต้องดูความมั่นคงของบริษัทประกันด้วย
เพราะประกันบำนาญ ไม่ใช่แค่ “มี” ก็เพียงพอกับการเกษียณแล้ว แต่ต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดในเรื่อง Living Benefit ด้วย จึงจะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณดีไม่แพ้ตอนทำงาน
ข้อมูลอ้างอิง
1. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปี 2562, บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), United Nations – World Population Prospects (Thailand Life Expectancy 1950-2021)
2. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปี 2562, บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ, มูลนิธิสถาบันพัฒนาและวิจัยผู้สูงอายุไทย ปี 2564
TISCO Advisory
ที่มาบทความ: https://www.tiscowealth.com/article/retirement-advisory/thais-live-longer-but-may-not-have-money-to-live.html