เมื่อโรคระบาด นโยบาย และระบบการเงิน เดินทางมาถึงจุดจบ

2021 เป็นปีที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และตลาดแทบไม่หยุดเปลี่ยนแปลง

ยิ่งช่วงนี้หลายสำนักเริ่มพูดถึงแนวโน้มตลาดปี 2022 กันแล้ว เพราะทันทีที่ปีนี้จบลง ตลาดการเงินก็จะก้าวผ่านวิกฤตโควิดอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสินทรัพย์การเงินได้มากกว่าปรกติ

ผมเห็นด้วยว่าท้ายปีนี้เหมาะสมที่จะมอง “จุดจบ” ของแนวโน้มในตลาดการเงิน และหา “จุดเริ่มต้น” ของแนวโน้มใหม่ โดยผมมองว่ามี “สามจุดจบ” ของเรื่องราวในตลาดที่เราต้องรู้ให้ทัน เพื่อเตรียมพร้อมปรับพอร์ตลงทุนรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสนี้และปีหน้า

The End of Pandemic (and Pandemic Stimulus)

การระบาดใหญ่ของโควิด เป็นจุดจบแรกที่ทั้งตลาดอยากเห็นและน่าจะได้เห็นในไตรมาสสุดท้ายของปี

ทั่วโลกจะได้รับมือกับหน้าหนาวที่สองของวิกฤตขณะที่มีวัคซีนพร้อม

ถ้าเราผ่านไตรมาสนี้ได้ ผมเชื่อว่าความกลัวการระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ Pandemic จะลดลงเหลือเพียงระดับโรคประจำถิ่น (Endemic) กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นชัดเจนในปีหน้า

แต่ Good News for the Economy อาจเป็น Bad News for the Markets

เมื่อไม่มีโรคระบาด รัฐบาลทั่วโลกก็ควรลดการอัดฉีดทางการคลังลง เพราะไม่ใช่แค่ใน EM ที่มีหนี้รวมสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970 เกินกว่า 200% ของจีดีพี ฝั่ง DM ก็มีหนี้รวมสูงเป็นประวัติศาสตร์กว่า 3 เท่าของจีดีพี ผลข้างเคียงของหนี้จะเข้ามาเป็นตัวแปรในสมการเศรษฐกิจ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้ม “ภาษี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินไม่อยากได้เห็น

The End of Ultra-Loose Policy (and Deflation)

แม้จะไม่มีสำนักวิเคราะห์ไหนกล้าพยากรณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงเหมือนทศวรรษ 1970s แต่แทบทุกที่เชื่อว่าโลกจะไม่กลับสู่ภาวะเงินฝืดอย่างน้อยในปีหน้า

ด้วยระดับดอกเบี้ย 0% วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ บวกกับเงินเฟ้อ ทั้งหมดบอกเราว่ายุคสมัยของนโยบายการเงินผ่อนคลายสุดโต่งใกล้ถึงจุดอวสานแล้ว

ธนาคารกลางในกลุ่ม G10 เช่น Norges Bank ของนอร์เวย์เริ่มขึ้นดอกเบี้ย BoE ของอังกฤษประกาศหยุด QE ปลายปี และ Fed ก็กำลังจะประกาศลด QE ในไม่กี่วันข้างหน้า

แม้จุดจบของนโยบายการเงินผ่อนคลายอาจไม่ได้หมายความว่าต้อง “เข้มงวด” ทันที แต่ก็ถือเป็นจังหวะเริ่มต้นของยุค “เงินเฟ้อ” ที่เข้ามาแทนที่เงินฝืด ในอดีตมักส่งผลให้เกิด Asset Rotation ถี่ขึ้น การปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงจึงอาจเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในอนาคต

The End of Fiat Currency System (and Unregulated Crypto)

เมื่อแรงหนุนของสินทรัพย์หลักกำลังหมดลง นักลงทุนก็จับตาไปที่สินทรัพย์ทางเลือก

มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นจุดเริ่มต้นใหม่ของระบบการเงินโลกในปี 2022 หลังจากที่ใช้ Fiat currency system มานานกว่า 50ปี

แม้จุดจบของ currency system ในอดีต เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ เพราะเกี่ยวข้องทั้งกับความเชื่อมั่น การเมือง ไปจนถึงระบบที่จะเข้ามาแทนที่

แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี บริษัทระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการตอบรับของตลาดกับ Decentralized Finance ก็เพิ่มเร็วกว่าที่โลกนี้เคยพบ

ในปี 2022 ผมเชื่อว่าเราจะเห็นความพยายามของทั่วโลกที่จะสร้างระบบขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ อย่างไรก็ดี การที่ Crypto จะก้าวขึ้นมาทัดเทียมระบบการเงินหลักได้ ไม่ใช่แค่เพราะมีสถาบันสนใจหรือมีบทบาทกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ต้องหาจุดจบความ “ไร้กฎเกณฑ์” ให้ได้ด้วย

ในอดีตช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Bretton Woods System มาเป็น Fiat Currency ในปี 1973 ก็สร้างความผันผวนมากในช่วงแรก ก่อนที่จะมีกฎชัดเจนเป็นจุดเริ่มต้นของการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง เราจึงไม่ควรประมาทกับความผันผวนช่วงเริ่มต้นของยุค DeFi เช่นกัน

ทั้งสามจุดจบนี้ส่งสัญญาณให้เราต้องเตรียมพร้อมในหลายอย่าง

The End of Pandemic บอกเราว่าสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในตลาดไม่ใช่ไวรัส แต่เป็นนโยบายที่ใช้รับมือและผลข้างเคียง

The End of Ultra-Loose Policy บอกเราว่าสภาพคล่องที่ดูไร้ขีดจำกัด ก็อาจไม่มีความหมายเมื่อมุมมองความเสี่ยงเปลี่ยนแปลง

และสุดท้าย The End of Fiat currency system บอกเราว่า ในระยะยาว ทุกอย่างก็อาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ระบบการเงินก็เช่นกัน

สำหรับการลงทุน เราจึงควรเปิดใจให้กว้าง เรียนรู้จากอดีต มองไปข้างหน้า กระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในเดือนหน้า ผมจะขยายความต่อว่าอะไรคือเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในตลาดการเงินจากทั้งสามจุดจบนี้กันครับ

ค่ากลางเงินเฟ้อโลก (Log Scale) ชี้ว่าจุดจบของวิกฤติ สงคราม หรือระบบการเงินมักเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเงินเฟ้อ

ที่มา: GFD, DB, และ UOBAM Thailand

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024