เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟดมีการเปิดเผยรายงานการประชุม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไฮไลท์ ก็คือ ความเห็นของคณะกรรมการแต่ละท่าน ที่ให้ความเห็นต่อการลดขนาดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งโดยสรุปเลยนะครับ 4 ใน 15 ท่านของกรรมการเฟดที่มีสิทธิโหวต มองว่า เฟดควรลด QE ทันทีเลยในการประชุมครั้งถัดไป ขณะที่ อีก 6 ใน 15 ท่าน มองว่า เฟดควรเริ่มสื่อสารกับตลาดว่า จะเริ่มทยอยลดวงเงิน QE และอีก 5 ท่าน รวมคุณเจอโรม พาวเวลด้วย มองว่า ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะทำอะไร ขอรอดูสถานการณ์ก่อน
แต่โดยสรุปคือ คณะกรรมการ FOMC ที่มีสิทธิโหวตในปีนี้ 10 ใน 15 ท่าน มองว่า เฟดยังไงก็ต้องลดวงเงิน QE ไม่ช้าก็เร็ว
แล้วในอดีต ตอนเฟดประกาศลด QE เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้น?
ผมลองหาข้อมูลการตอบรับของตลาดหุ้นเมื่อตอนที่เฟดทำ QE Tapering ตอนปี 2013 โดยมี Timeline คร่าว ๆ ตามนี้
- 29-30 ม.ค. เฟดเริ่มมีการอภิปรายถึงต้นทุนและผลประโยชน์ของ QE3 ที่เริ่มในเดือน ก.ย. 2012 โดยเข้าซื้อพันธบัตรที่วงเงิน $85 Billion ต่อเดือน ตอนนั้น Unemployment Rate อยู่ที่ 7.9% ขณะที่ PCE Inflation อยู่ที่ 1.7%
- 22 พ.ค. นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดในตอนนั้น แถลงต่อสภาคองเกรส ว่า “If we see continued improvement and we have confidence that that’s going to be sustained then we could in the next few meetings … take a step down in our pace of purchases,”
- 30-31 ก.ค. เฟดหารือกันถึงวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับตลาดว่าจะลดการซื้อสินทรัพย์ Unemployment 7.5% และ PCE Inflation อยู่ที่ 1.5%
- 17-18 ธ.ค. หลังจากการถกเถียงกันมานานกว่า 1 ปี เฟดได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการกระตุ้น จากเดิมเข้าซื้อเดือนละ $85 Billion จะลดวงเงินเข้าซื้อเดือนละ $10 Billion
พอย้อนกลับไปดูตลาดหุ้นช่วงปี 2013-2014 ที่มี Taper Tantrum (ส่งสัญญาณลดวงเงินกระตุ้น) และ QE Tapering (ลดวงเงินกระตุ้นจริง ๆ) จะพบว่า ดัชนี S&P500 มีการปรับฐานเป็นช่วง ๆ แต่ไม่ได้รุนแรงอะไร โดยความแรงของการปรับฐานอยู่ที่ -4% ถึง -6% เพียงแค่นั้น
แต่กลับกัน พอลองไปดูตลาดหุ้น Emerging Markets ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการปรับฐานแรงถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือช่วงเดือน พ.ค. 2013 ลบไปถึง -18% และช่วงเดือนพ.ย. 2013 – ม.ค. 2014 ร่วงไปถึง -15%
ขณะที่ SET Index ปีนั้น กลายเป็นขาลงตั้งแต่เดือนพ.ค. ไปทำจุดต่ำสุดตอนเดือนธ.ค. ลบจากระดับสูงสุดของปีไปถึง -26%
จากข้อมูลในอดีตคร่าว ๆ ที่เห็น จะพบว่า การลดขนาดวงเงิน QE ดูจะมีผลกับตลาดหุ้นเกิดใหม่มากกว่า โดยเฉพาะกับหุ้นไทยเรา ที่กลายเป็นขาลงระยะกลางเกิน 7 เดือน ซึ่งแน่นอนว่า จริง ๆ มันคงมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
QE Tapering รอบนี้ ต่างจากรอบที่แล้วปี 2013 อย่างไร?
อย่างแรก ขนาด Balance Sheet หรือ งบดุลของเฟด ต่างจากวันนั้นราวฟ้ากับเหว วันนี้ขนาดงบดุลของเฟดอยู่ที่ $8.1 Trillion หรือ 8.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่างจากปี 2013 ที่เริ่มส่งสัญญาณคุยกับเรื่องลดขนาดงบดุล ตอนนั้นขนาดงบดุลอยู่ที่ $2.75 Trillion หรือ 2.75 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพียงเท่านั้น
อย่างที่สอง คือ รอบ QE3 ที่ประกาศมาตั้งแต่เดือน ก.ย. เฟดประกาศว่า จะทยอยซื้อพันธบัตรและ MBS รวมกันในวงเงินเดือนละ $85 Billion หรือ เดือนละ 85,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่ QE Infinity ที่ประกาศมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2013 เฟดประกาศว่า จะทยอยซื้อพันธบัตรและ MBS รวมกันในวงเงินเดือนละ $120 Billion หรือ เดือนละ 120,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มากกว่าตอนนั้นราว ๆ 35,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ทำให้การเร่งตัวของขนาดงบดุลอยู่ในระดับที่เร็วกว่าในอดีต
อย่างที่สาม คือ จากข้อสอง แปลว่า ถ้าเฟดเลือกลดวงเงินในอดัตราเท่ากับตอน QE Tapering ปี 2013 คือ ลดการเข้าซื้อเดือนละ $10 Billion เฟดจะยุติ QE รอบนี้ช้ากว่ารอบที่แล้ว ซึ่งอาจไม่เป็นไร เพราะตลาดก็คาดไว้แล้วว่า เฟดจะใช้เวลา อย่างเร็วสุดก็การประชุมครั้งสุดท้ายขของปี 2022 ในเดือน ธ.ค. ถึงค่อยพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
แต่หากเฟดประกาศลดวงเงินเข้าซื้อเร็วกว่าครั้งนั้น (ลดวงเงินมากกว่าเดือนละ $10 Billion) ความไม่แน่นอนเรื่องระยะเวลาในการขึ้นดอกเบี้ย จะถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งทันทีว่า มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกหรือเปล่า
ซึ่งประเด็นหลังนี้ ไม่ถือว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเท่าไร เพราะหากขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ Cost of Fund ของทั้งระบบสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ดูดสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ออกไปเร็วกว่าเดิม
และสภาพคล่องเหล่านั้น เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า ส่วนหนึ่งวิ่งเข้ามาในตลาดหุ้นและทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอีกหลายๆตลาดดัชนีอยู่ในระดับ All Time High อยู่ตอนนี้
จะยกเว้นก็แค่ตลาดเกิดใหม่ ที่นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 เป็นต้นมา Underperform อย่างต่อเนื่องเลย
ภาพด้านบนนี้ จาก Bloomberg จะเห็นว่า เมื่อเทียบ Performance ของ MSCI Emerging Markets Index กับ MSCI World Index นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา วิ่งได้ช้ากว่ามาตลอด จนถูกตั้งคำถามว่า วิกฤตโควิด-19 รอบนี้ จะยิ่งถูกทิ้งมากขึ้นไปอีกหรือเปล่า?
แล้วรอบนี้ เฟดจะส่งสัญญาณ QE Tapering เมื่อไร?
สัปดาห์ก่อนเขียนบทความนี้ มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า นายเจอโรม พาวเวลอาจเลือกใช้งานสัมนาวิชาการประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มี Fed สาขาแคนซัสซิตี้ เป็นเจ้าภาพ และมีชื่อเรียกที่นักลงทุนติดปากว่า “Jackson Hole”
แต่มาวันนี้ มุมมองส่วนตัว ผมมองว่า เฟดน่าจะไปส่งสัญญาณในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. วันที่ 21-22 มากกว่าแล้ว สาเหตุเพราะ
- ในการประชุม Jackson Hole ปีนี้ ทางเจ้าภาพเลือกที่จะจัดแบบ Virtual Conference โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยของผู้มาร่วมงานทุกคน (ก็แน่นอนนะครับ สมาชิดเฟดระดับสูงแต่ละท่านก็อายุไม่น้อยกันแล้ว) สะท้อนชัดเจนว่า เจ้าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ยังคงอยู่ในความกังวลของผู้กำหนดนโยบายการเงินอยู่ตอนนี้
- ถ้าหากเลือกการส่งสัญญาณออกไปเพื่อรอดูพัฒนาการที่น่าสนใจ คือ การที่ FDA อนุมัติให้วัคซีนจากบริษัท Pfizer-BioNTech เป็นวัคซีนเต็มรูปแบบ ก็จะทำให้ความมั่นใจต่อสถานการณ์ในภาพรวมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะการอนุมัติครั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชาวอเมริกันที่ยังไม่ได้เข้าฉีดวัคซีนไม่มากก็น้อย และเชื่อว่า Moderna กับ Johnson & Johnson ก็น่าจะได้รับการอนุมัติจาก FDA มาไม่ช้าก็เร็ว
ถ้าประกาศมาว่าลด QE Tapering แน่ ๆ เราควรเตรียมรับมืออย่างไร?
มองในแง่ร้ายสุด ๆ ไปกันก่อน (ซึ่งโอกาสเกิดอาจจะต่ำมาก ๆ) คือ Bloomberg มีการทำข้อมูลให้เราดูตามรูปด้านล่าง
Bloomberg พยายามจะบอกว่า ทุกครั้งที่ดัชนี S&P 500 มี Major Correction และปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเกิน 100% จะตามมาด้วย Correction ระดับรุนแรงแทบทุกครั้งเลย ใครที่เชื่ออดีต เห็นภาพนี้ ก็อาจจะกังวลหน่อย ๆ
แต่ก็ต้องมองประกอบกันต่อว่า แล้วการปรับฐานแรงมันจะมาจากอะไร?
ซึ่งมุมมองในแง่ดีก็มี อย่างกรณีคุณเคธี วูด แห่ง ARK Invest ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การที่ทุกคนยังกังวลเรื่องฟองสบู่ในตลาดหุ้น มันแปลว่า ฟองสบู่ยังไม่แตกหรอก เพราะก่อนแตกทุกครั้งในอดีต มันมาจากการไม่ทันตั้งตัว
ส่วนมุมมองผม มองว่า ตัวเลขที่น่าสนใจหลังจากนี้ จะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจจริง ๆ ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันกลับมาไหม และถ้าดูที่ภาคการบริโภคภายในสหรัฐฯ จะพบว่า ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ออกมาเติบโตต่ำกว่าคาดที่ -1.1%
รวมถึง ที่ Bloomberg Consensus รวบรวมมาพบว่า นักวิเคราะห์เริ่มปรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 สหรัฐฯ ลง แปลว่า มาตรการกระตุ้นแบบเยอะ ๆ ที่ปีนี้มี จะไม่มีแล้วในปีหน้า และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังต้องตามดูเรื่อย ๆ
เมื่อเป็นแบบนี้ เฟดจะกล้าถอน QE ออก หรือ กล้าขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ๆ ได้จริงหรือ? เฟดเรียนรู้มาตลอดแล้วว่า ถ้าใส่ใจ Sentiment ตลาด ใส่ใจความเห็นนักลงทุน ความมั่นใจที่เกิดขึ้น ก็เป็นตัวทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเงินนักลงทุนก็อยู่ในนั้น ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นก็เกิด Wealth Effect ตามไปด้วย
ปัญหามันอยู่ที่ว่า โลกหลังโควิด คนที่ไม่ได้มีเงินอยู่ในตลาดหุ้น เขาไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินแบบที่เป็นอยู่ มันมีแต่จะทำให้เกิด Inequality เพิ่มขึ้น (คนรวยก็รวยขึ้นไป คนจนก็ยังจนเหมือนเดิม) ซึ่งเรื่องนี้ เป็นปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างที่ทุกรัฐบาลต้องแก้โจทย์กันต่อไป
เพราะทุกคนมีแต่บอกกันว่า “เอาวันนี้ให้มันผ่านไปให้ได้ก่อน”
แหล่งที่มาข้อมูล:
- https://www.reuters.com/article/us-usa-fed-2013-timeline-idUSKCN1P52A8
- https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-08-10/federal-reserve-s-8-trillion-balance-sheet-will-only-grow?sref=e4t2werz
- https://www.cmegroup.com/trading/interest-rates/countdown-to-fomc.html
- https://www.facebook.com/finnomenaopportunity/photos/a.107371898002423/222115516528060
- https://www.facebook.com/finnomenaopportunity/photos/a.107371898002423/221684703237808/
Mr.Messenger รายงาน