หลังจากที่จีนได้มีข่าวในการสร้าง DCEP หรือที่หลายคนอาจจะได้ยินในชื่อของ “หยวนดิจิทัล” เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินดิจิทัลนั้นจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานกว่าทีคิดเลยที่เดียว
CBDC คืออะไร?
CBDC นั้นย่อมาจาก Central Bank Digital Currency คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางแต่ละประเทศ โดยมีลักษณะการใช้งานที่ไม่ต่างจากเงินสดและเป็นเงินของรัฐ มันเหมือนเงินที่เราใช้ในทุกวันนี้เพียงแต่แค่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ไม่ต้องมีการพิมพ์เงินออกมาด้วยซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตามรายงานที่ออกมาส่วนใหญ่มันจะมีเทคโนโลยี Blockchain เป็นส่วนประกอบอยู่เสมอ
ทุกวันนี้เรามีเงิน CBDC อยู่แล้ว
ในมุมมองของคนทั่วไปนั้นเราอาจจะคุ้นเคยกับเงินสดที่สามารถจับต้องได้ที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญ ซึ่งในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราอาจจะคุ้นเคยกับระบบ Mobile payment ที่เราโอนด้วยมือถือ แต่มันก็ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเพราะเราก็ยังสามารถฝากและถอนในรูปเงินสดได้
จริง ๆ แล้วที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศนั้นเรามี CBDC ไม่อยู่ในรูปธนบัตรมานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ถูกแจกจ่ายหรืออนุญาตในคนทั่วไป มันถูกใช้ในระบบภายในของธนาคารโดยที่เงินเหล่านั้นไม่ต้องมีการพิมพ์ธนบัตรที่จับต้องได้ด้วยซ้ำ โดยมันถูกเรียกว่า “Wholesale CBDC” แต่การมาของแนวคิด CBDC ที่มี Blockchain นั้นอาจยกระดับให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เป็นลักษณะของ “Retail CBDC”
เราจะมี CBDC ไปทำไม?
อันที่จริงแล้วแนวคิดเรื่อง CBDC ที่เกิดขึ้นนั้นก็เริ่มมากจากความต้องการจะยกระดับการทำธุรกรรมในระบบภายในธนาคารเองหรือการโอนอย่าง Cross-border Payment แต่ด้วยการที่เทคโนโลยีนั้นมีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกลง ทำให้มีแนวคิดว่า CBDC นั้นอาจไม่ถูกจำกัดแค่ในธนาคารเท่านั้นแต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วไปที่อาจได้ใช้ CBDC นี้เช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ยังเกิดจากความต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินในระดับถัดไป ประเทศที่มีการเติบโตทาง Mobile Payment จนกลายเป็นสังคม Cashless Society อย่าง จีนหรือสวีเดนนั้นมีการใช้เงินสดที่น้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการผลักดีนี้ขึ้นมา
ความพยายามของโลกในการที่จะส่งมูลค่าของสิ่ง ๆ หนึ่งให้เร็วขึ้นนั้น เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของเราเพราะมันไม่ใช่แค่เพียงการที่คน ๆ หนึ่งได้รับสิ่ง ๆ หนึ่งเท่านั้นแต่มันหมายถึงเศรษฐกิจทั้งหมด ในปัจจุบันหนึ่งในส่วนที่บอกว่าประเทศ ๆ หนึ่งมีการเจริญเติบโตเท่าไรคือ GDP ซึ่งรวมถึงการที่เงินสามารถหมุนไปได้กี่รอบในเศรษฐกิจ
Libra เป็น CBDC ไหม?
Libra นั้นไม่ถือเป็น CBDC แต่เข้าข่ายของ Stablecoin เพราะว่าการสร้างเหรียญ Libra ที่ใช้งานได้นั้นจะต้องมีการสำรองเงินสดในสกุลต่าง ๆ ที่สามารถจับต้องได้เป็นการประกันมูลค่า ต่างจาก CBDC ตรงที่รัฐสามารถผลิตได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องมีการนำเงินมา Reserve แต่อย่างใด นอกจากนี้ Libra นั้นยังเป็นเงินที่ออกโดยเอกชนมากกว่าที่จะเป็น Legal tender ที่ธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมายต้องรับชำระเหมือน CBDC
CBDC ในประเทศต่าง ๆ
เราอาจจะเห็นข่าวที่จีนพยายามทำ CBDC เป็นของตัวเองที่ชื่อว่า “DCEP” แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายประเทศที่มีการพัฒนา CBDC เป็นของตัวเองเพียงแต่อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก เช่น
- E-Krona ในสวีเดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พัฒนา CBDC เเป็นประเทศแรกๆเนื่องจากในปี 2018 อัตราการชำระเงินด้วยเงินสดในสวีเดนเหลืออยู่เพียง 13% ซึ่งมูลค่าในตลาด Remitance ของสวีดเวนมีมูลค่ามากถึง 16,400 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่า GDP ในประเทศถึง 3.5 เท่าโครงการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2017 ปัจจุบัน E-Krona มีการทดสอบกับร้านค้าและ End-User เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ในรายงานระบุว่าผู้ใช้งานสามารถทำ Anonymouse payment ได้หากมันมีมูลค่าไม่ถึง 250 EURO และรองรับระบบ Offline Payment
- ธนาคารฝรั่งเศสประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ CBDC ระบุว่าจะเป็นการทดสอบด้วยการใช้เงินยูโรดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการใช้งาน CBDC สำหรับ Tokenized Financial Assets แม้ว่าก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศฝรั่งเศสจะเรียกร้องให้มีการสร้างระบบการชำระราคาแบบบล็อกเชนในยุโรป
- แอฟริกาใต้ประกาศถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2019 โดยดำเนินการจากธนาคารกลางแอฟริกาใต้ โดยอ้างถึงคุณสมบัติของ CBDC ที่จะถูกพัฒนาขึ้นว่าจะเป็น Legal tender และจะทำงานร่วมกันกับเงินสดมากกว่าจะมาแทนที่เงินสด และสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร
- ธนาคารอังกฤษนั้นยังอยู่ในช่วงพิจารณษการสร้าง CBDC แต่ก็มีเอกสารและการอภิปรายในการศึกษาความเสี่ยงและโอกาสในการพัฒนา เพราะแม้อังกฤษเองนั้นยังมีการใช้เงินสดอยู่มากแต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลงจนกระทั่งปี 2018 นั้นอัตราการใช้เงินสดเหลืออยู่เพียง 28% เท่านั้น
- ล่าสุดทางอเมิรกาก็ได้ประกาศโครงการ Digital Dollar ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตผู้นำของคณะกรรมการการ Commodity Futures Trading Commission (CFTC) และ Accenture โดยกล่าวว่าจะสร้างให้เสร็จใน 5-10 ปี
ผลกระทบของ CBDC
แม้ว่าแนวคิด CBDC นั้นจะเป็นแนวคิดของอนาคตของสังคม Cashless Society แต่มันก็มีทั้งผลกระทบในข้อดีข้อเสียที่ต้องคำนึงถึง เช่น
- ลดต้นทุนในการผลิตเงินที่จับต้องได้
- ระบบการเงินของโลกจะถูกพัฒนาไปอีกระดับ
- สกุลเงินของแต่ละประเทศจะเปรียบเสมือนกับสินค้าที่ผู้คนมีทางเลือกได้ว่าจะใช้สกุลใด
- การเก็บข้อมูลการเงินที่ละเอียดจาก CBDC ก็ยังเป็นข้อกังวล เพราะถ้าเราพูดถึงความเป็นส่วนตัวนั้น เงินสดยังมีความเป็นส่วนตัวกว่า
- การปกป้องรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีที่เราใช้ CBDC ของประเทศอื่น
- การแจกเงินแก่ประชาชนอาจทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเกิดวิกฤติและลดต้นทุนได้ (ลองดูตัวอย่างปัญหาจากแจกเงินเยียวยาในทุกวันนี้ดูก็ได้)
- ในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ที่รัฐอาจจะทำการแบนหรืออายัด CBDC ได้ตามสมควรในวิธีต่าง ๆ เช่น ปฏิเสธไม่ให้ CBDC ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินนำไปใช้งาน
- เมื่อผู้คนสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาธนาคารพาณิชย์แล้วบทบาทของธนาคารพาณิชย์จะเป็นอย่างไรต่อไป
- มีความกังวลถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ เช่น ในบางประเทศที่ดอกเบี้ยติดลบ การใช้งาน CBDC จะทำให้รัฐเก็บดอกเบี้ยในจุดนี้ หรือ เก็บภาษีได้ง่ายขึ้น
- สถาบันการเงินอาจจะสามารถสร้างสินเชื่อหรือหนี้เมื่อไรก็ได้ เพราะสามารถออก CBDC เมื่อใดก็ได้
สรุป
หลายคนอาจจะมองว่า CBDC นั้นอาจจะเป็นแผนการที่ประเทศแต่ละประเทศใช้ในสงครามการค้า แต่ผู้เขียนกลับมองว่า โดยดั้งเดิมแล้วมันเกิดจากการอิ่มตัวและความต้องการระบบการเงินที่ดีขึ้นเหมือนที่เกิดใน จีน หรือ สวีเดน การที่ CBDC จะมีผลต่อประเทศอื่น ๆ ในแง่อิทธิพลนั้นเป็นผลพลอยได้ขึ้นที่สองมากกว่า จุดประสงค์แรกเริ่มนอกจากนี้เราจะเห็นว่ามันยังไม่มีผลการทดสอบในวงกว้างของประเทศใด ๆ ในปัจจุบัน และมันยังมีข้อที่น่ากังวลใจอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม CBDC ก็เป็นหนึ่งในสิ่งจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต
Blockchain Review
ที่มาบทความ: https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/cdbc-central-digital-curreny
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน