One Up on Balance Sheet ทำไมงบดุล Fed เองก็ไม่เคยเหลียวหลังเช่นตลาดหุ้น

หากตลาดหุ้นไม่เคยเหลียวหลังหันกลับไปมองในระยะยาว Balance Sheet (งบดุล) ของ Fed เองก็ดูจะเป็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจกันว่า เพราะ อะไร Fed ถึงขยายงบดุลได้แบบไม่จำกัดและทำ QE ได้แบบไม่หยุดยั้ง รวมถึงจุดสิ้นสุดของการพองงบดุลนี้ด้วย

ทำไม Balance Sheet ของ Fed ถึงเพิ่มขึ้นแบบไม่สิ้นสุด

One Up on Balance Sheet ทำไมงบดุล Fed เองก็ไม่เคยเหลียวหลังเช่นตลาดหุ้น

วงสีแดงวงแรกเป็นการขยายตัวของ Balance Sheet ช่วงปี 2008 โดยวงที่สองเป็นการขยายตัวช่วงล่าสุด แสดงให้เห็นถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมาก ที่มา: federalreserve.gov

ถ้าถามว่าทำไมก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2008 ที่ Balance Sheet ของ Fed เองขยายตัวขึ้นมาค่อนข้างโดดเด่น และถ้าถามว่าเป็นเพราะอะไร? ก็คงเป็นเพราะว่าเจ้าตัว Fed เองเหลือกระสุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างจำกัด (ดอกเบี้ยยิ่งตำ่ยิ่งหนุนการกู้ยืม ให้คนนำเงินทุนที่กู้ไปขยายธุรกิจเพิ่มเติม และทำให้เศรษฐกิจเติบโต รวมถึงลดแรงกดดันในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย) จึงทำให้ทาง Fed ต้องใช้การทำ QE หรือการซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อคืนเงินให้กับผู้ถือพันธบัตรเอาไปจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องต่อไป

หรือจะพูดง่าย ๆ ว่าการใช้ดอกเบี้ยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเพราะ มันเหลือน้อยมาก ๆ ทาง Fed จึงต้องอัดเงินเพิ่มอีกแรงก็ว่าได้

ทำไม Balance Sheet ของ Fed ถึงขยาย (พองโต) ได้เรื่อย ๆ

One Up on Balance Sheet ทำไมงบดุล Fed เองก็ไม่เคยเหลียวหลังเช่นตลาดหุ้น

จากภาพจะเห็นได้ว่าสัดส่วนเงินดอลลาร์มีผู้ถือครองจำนวนมาก ที่มา:share.america.gov

หลาย ๆ คนคงรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าไม่ว่าเราจะซื้อของหรือไปโต๊ะแลกเงินที่ต่างประเทศเอง ส่วนใหญ่เค้าก็ใช้หรืออยากได้เงินดอลลาร์กันทั้งนั้น หรือจะเรียกได้ว่าเงินดอลลาร์ เป็นสกุลเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับอย่างมากก็ว่าได้

ส่วนเหตุผลว่าเพราะอะไรค่าเงินดอลลาร์ถึงได้สถานะสุดพิเศษนี้มา ก็คงมาจากช่วงสงครามโลกที่อเมริกาชนะสงคราม และเป็นผู้ถือครองทองคำในจำนวนมาก ซึ่งในตอนช่วงสงครามนั้นหลาย ๆ ประเทศต่างก็พิมพ์เงินออกมาเพื่อสนับสนุนภาวะสงครามจนค่าเงินอ่อนค่าตาม ๆ กันไป จนทำให้ทองคำถือว่าเป็นสิ่งที่ลํ้าค่ามาก ๆ ในช่วงนั้นทางสหรัฐจึงใช้โอกาสให้หลาย ๆ คน นำเงินดอลลาร์มาแลกกับทองคำ จึงทำให้ผู้คนใช้เงินดอลลาร์กันอย่างแพร่หลาย

จนมาถึงจุดหนึ่งที่อเมริกาแทบไม่เหลือทองคำให้แลกเปลี่ยนอีกต่อไป ในช่วงถัดมาทางอเมริกาจึงตัดสินใจเปลี่ยนระบบให้เงินดอลลาร์สามารถพิมพ์ออกมาได้เรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะ ตอนนั้นใคร ๆ ก็ใช้ดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว

และการที่ค่าเงินดอลลาร์เป็นที่ยอมรับและนำมาสู่การพิมพ์ได้แบบไร้ขีดจำกัดนี้เอง ก็เป็นเหตุผลที่มาที่ไป ที่ทำให้ Fed ขยาย Balance Sheet ได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีหยุดพัก

จุดสิ้นสุดของ Fed’s Balance Sheet อยู่ที่ตรงไหน? 

ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นก็ย่อมมีจุดจบ มนุษย์เราเองก็ต้องมีช่วงที่เกิดมาอยู่ในโลกแห่งความฝัน (วัยเด็ก) โตมาทำงานใช้ชีวิต มีครอบครัว (วัยกลางคน) ไปจนถึงจุดอิ่มตัว (วัยชรา)

ธุรกิจเองก็ไม่ต่างกันมีช่วงที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว มาจนถึงช่วงที่ไม่สามารถขยายได้อีกต่อไปและก็ถึงจุดอิ่มตัวที่ไปเรื่อย ๆ แบบเนือย ๆ

ส่วนความเป็นมหาอำนาจเองก็มีจุดจบเช่นกัน หากเราลองมาคิดดูง่าย ๆ เมื่อวันที่เราถึงจุดอิ่มตัว จนมีทุกอย่างเพรียบพร้อมสะดวกสบาย เราก็คงไม่อยากดิ้นรนอะไรมาก ใช้ชีวิตสบาย ๆ แต่การผ่อนแรงนี้เองก็เปิดโอกาสให้ประเทศที่มีความฝัน ความทะเยอทะยาน อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแทรกตัวขึ้นมาได้ ซึ่งหากประเทศเหล่านี้แซงหน้าอเมริกาขึ้นมาและค่อย ๆ แทรกแซงความยิ่งใหญ่ของสกุลเงินดอลลาร์ก็อาจจะจบลงเช่นกัน

อีกหนึ่งเรื่องที่บอกใบ้ถึงจุดจบได้ก็คือ การที่อัตราดอกเบี้ยของทาง Fed เองแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ลดอีกต่อไป และหากการถดถอยครั้งต่อไปกลับเข้ามา หรือมีปัจจัยที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกครั้ง การลดดอกเบี้ยก็อาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอาจทำให้ Fed ต้องซื้อสินทรัพย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป เพราะ คงไม่มีรัฐบาลชุดไหน ยอมเฉือนเนื้อตัวเองไม่ออกมาตรการกระตุ้นใด ๆ ปล่อยให้เศรษฐกิจยํ่าแย่ และเปิดพื้นที่ให้ดอกเบี้ยกลับมาขึ้นอีกครั้งเพื่อเก็บกระสุน

One Up on Balance Sheet ทำไมงบดุล Fed เองก็ไม่เคยเหลียวหลังเช่นตลาดหุ้น

จากภาพจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายของ Fed แทบไม่เหลืออีกต่อไป จึงอาจเป็นเหตุผลที่ต้องใช้การทำ QE จำนวนมาก ที่มา: fred.stlouisfed.org

หรืออาจจะพูดได้ว่าทางเลือกของ Fed ตอนนี้มีเพียงแต่ “พิมพ์และซื้อเท่านั้น”

และการทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ Fed มีฐานะการเงินอันน่าสงสัย และหากในจุด ๆ หนึ่งที่หนี้สินของ Fed มีจำนวนมากเกินตัวที่จะจ่ายไหว เรื่องที่น่าตั้งคำถามถัดไปก็คือ ประเทศอื่น ๆ จะยังไว้ใจใน ดอลลาร์สหรัฐอีกหรือไม่? และค่าเงินมหาอำนาจแห่งยุคนั้นถึงเวลาที่ต้องลงจากตำแหน่งสละบัลลังก์แล้วหรือยัง? ผมก็ขอฝากคำถามเหล่านี้ไว้ให้ทุกคนลองคิดดูกันครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

Mr. Serotonin

References

https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bst_recenttrends.htm

https://www.principles.com/the-changing-world-order/#chapter2AppendixCountryPatterns

https://share.america.gov/world-counts-on-dollar/

 

 

TSF2024