Memory Distortion เมื่อสิ่งที่คุณเห็นอาจไม่ใช่ความจริง I Alpha Pro EP.13

จุดเด่นของความเป็นมนุษย์คือการมีสมองที่พัฒนามากกว่าสัตว์อื่น ๆ สมองคือสิ่งที่เราภูมิใจว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ “Homosapien” กลายเป็นสปีชีส์ที่ครอบครองโลกมาอย่างยาวนานมากกว่า 70,000 ปี

ค่านิยมในสังคมปัจจุบันเองก็ให้คุณค่ากับความฉลาดของคนอย่างสูงส่ง แม้แต่คำด่ารุนแรงในสังคมยังเป็นการด่าว่า “โง่” “ควาย” “ไม่มีสมอง” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาก็เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง

มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่า แท้จริงแล้วสมองของเราไม่ได้เป็นอวัยวะที่เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์อย่างที่ใคร ๆ คิด จนหลาย ๆ ครั้งกลายเป็นต้นเหตุของปัญหามากมาย โดยที่ตัวเราเองไม่ได้รู้ตัว

เคยไหมที่เรารู้สึกว่าเราจำเหตุการณ์บางอย่างได้อย่างแม่นยำ เราคิดว่าเราถูก … แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เราจำได้กลับผิดหมด

เคยไหมที่เรารู้สึกไม่ชอบใครบางคน เพราะเขาดูเป็นคนไม่ดี แต่พอคบกันไปสักพักกลับรู้สึกว่า … เรานั่นแหละที่ไม่ดี ไปมองเขาแย่ ๆ

เคยไหมที่ได้ยินคนเล่าเรื่องการใช้สัญชาตญาณมาตัดสินรักแรกพบ … พบว่ามันคือหายนะ

สมองมีส่วนอย่างมากในการนำเอาข้อมูลและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของเรามาบงการความจำและสิ่งที่เราเห็น

หน้าที่หลักของสมองคือการเป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ข้อมูลจากจุดสัมผัสทั้ง 5 ของร่างกาย ทั้งรูป รส กลิ่น  เสียง และสัมผัส พร้อมๆ กัน หลังจากนั้นสมองจะสั่งงานไปที่อวัยวะต่าง ๆ ให้ทำหน้าที่ตามที่สมองสั่งงาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาเสี้ยววินาที

เราอาจคิดว่าสิ่งที่เรามองเห็นอยู่นั้นคือภาพจริงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา แต่รู้ไหมว่าแม้แต่ภาพและตัวอักษรในบทความที่เราเห็นอยู่ ณ ตอนนี้ ไม่ใช่ภาพจริงที่ตามองเห็น แต่เป็นภาพที่สมองสร้างขึ้นใหม่จากข้อมูลที่ตาและอวัยวะอื่น ๆ ส่งข้อมูลมาให้สมองตะหาก

ภาพที่เราเห็นคือภาพใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยสมองภายในเสี้ยววินาที หลาย ๆ ครั้งถูกปรุงแต่งด้วยประสบการณ์และทัศนคติส่วนตัวของเรา จึงเป็นสาเหตุทำให้สิ่งที่เราเห็นหรือจำได้อาจจะไม่ได้ตรงกับความจริงเสมอไป

ในช่วงปี 1990 มีการทดลองเกี่ยวกับ Memory Distortion ในประเทศเยอรมัน อาจารย์วิชาจิตวิทยาท่านหนึ่ง ทำการทดลองในงานสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ด้วยการสร้างเหตุการณ์จำลองการยิงกันกลางงานสัมมนาขึ้นมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือระหว่างงานสัมมนา มีคนใส่ชุดตัวตลกวิ่งเข้ามาในห้องสัมมนา มีผู้ชายถือปืนวิ่งตามมา และมีการลั่นปืนไปหนึ่งนัด หลังจากนั้นทั้งสองวิ่งออกไปจากห้องสัมมนา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใช้ระยะเวลาไม่ถึง 20 วินาที หลังจากนั้นทุกคนในห้องถูกให้ตอบคำถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอธิบายรูปลักษณ์ของตัวตลกและชายถือปืนที่วิ่งเข้ามา

ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างให้รายละเอียดของชายถือปืนที่วิ่งเข้ามาว่าใส่หมวก ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ชายถือปืนคนนั้นไม่ได้สวมหมวกแต่อย่างใด

เหตุผลที่ทำให้คนอธิบายรูปลักษณ์ของชายผู้นั้นว่าใส่หมวกมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชายในยุคนั้นนิยมใส่หมวก จึงเป็นเหตุให้คนที่อยู่ในงานสัมมนา “คิดไปเอง” ว่าผู้ชายคนนั้นต้องใส่หมวกแน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่มีหมวกแต่อย่างใด

นี่คือตัวอย่างการทำงานของสมองที่พยายามเติมเต็มภาพและความทรงจำของเราด้วยประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งไม่ตรงกับความจริง

ในการทดลองอีกที่หนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน ผลการทดลองออกมาว่ากว่า 26-80% ของผู้ที่อธิบายเหตุการณ์บอกรายละเอียดผิดเช่นกัน

ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าสมองของเราตั้งใจจะโกหก หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่เกิดขึ้นจากกลไกการทำงานตามธรรมชาติของสมอง ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับการจำภาพรวม มากกว่าจำรายละเอียด แต่เมื่อถูกกดดันให้รื้อความจำในรายละเอียดที่จำไม่ได้ สมองมักจะแต่งเรื่องที่แม่นยำขึ้นมาให้เราแทน

ทำให้หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่เรารู้สึกว่าจำมันได้แม่นยำ แต่ในความเป็นจริงคือมโนขึ้นมาเองทั้งนั้น

สิ่งที่เราเห็น และจำได้อาจไม่ใช่ความจริง 100% แต่เป็นเรื่องเล่าที่ “Based on True Story” ของตัวเราเอง

ในแต่ละปีมีการจัดให้ผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ตัวผู้ต้องหากว่า 75,000 ครั้ง 20-25% ผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ตัวคนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แน่นอน

75% ของผู้บริสุทธิต้องถูกจำคุกเพราะการให้ความผิด ๆ ของผู้เห็นเหตุการณ์

สมองของเราทำงานผ่านระบบจิตไร้สำนึกถึง 95% และทำงานผ่านระบบจิตสำนึกเพียง 5% เท่านั้น

สถิติเหล่านี้บ่งบอกว่าด้วยธรรมชาติการทำงานของสมองมนุษย์ ครั้งต่อไปที่เรามั่นใจมาก ๆ ว่าเห็นอะไร หรือจำได้ว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร เราอาจจะต้อง “Think Twice”

เพราะเราไม่รู้เลยว่าสมองของเรากำลังรับรู้ข้อมูลที่เป็นความจริง หรือเป็นเรื่องเล่าที่มีส่วนผสมหลักมาจากประสบการณ์และความนึกคิดของตัวเราเอง

BuffettCode

อ่านบทความอื่น ๆ จากคอลัมน์ Alpha Pro ได้ที่ https://www.finnomena.com/alphapro/

ที่มาบทความ: https://adaybulletin.com/know-alpha-pro-memory-distortion/

TSF2024