ข่าวเด่นข่าวดังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่พ้นเรื่องของ Fed ที่หลาย ๆ คนตีความกันไปว่าจะคงดอกเบี้ยไปสองปี…
หากทุกคนได้ยินเช่นนี้แล้วก็คงจะคิดกันไปตาม ๆ กันว่า ความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันช่างริบหรี่สะเหลือเกิน
แต่ความเป็นจริงแล้ว เรากำลังอาจจะถูกอารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งบิดเบือนอยู่ต่างหาก
ซึ่งในวันนี้ผม Mr. Serotonin จะพาทุกคนมาพิสูจน์ใจความที่แท้จริงที่ Fed อยากจะบอกกัน
ช่วงที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รับมานั้น “การคัดกรองและคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล” เป็นสิ่งที่สำคัญเอามาก ๆ สำหรับการที่เราจะไม่หลงไปกับอารมณ์ตลาดของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการลงทุนได้
ก็คงต้องสารภาพตามจริงว่าตอนแรกที่ได้เห็นข่าว ผมเองก็เชื่อเหมือนกันว่า Fed จะคงดอกเบี้ยไปอีกสองปีจริง ๆ จนกระทั่งผมเจอคน ๆ หนึ่งที่มากระตุกต่อมความคิดขึ้นมาอีกที (ทีแรกลืมไปแล้วว่าควรไปพิสูจน์ก่อน)
ดังนั้นผมจึงอยากมาแชร์และแกะข้อความที่แท้จริงของ Fed กันว่าการประมาณการมันอาจไม่ได้เลวร้ายนักอย่างที่เราได้ยินกันมา…
Fed บอกว่าจะคงดอกเบี้ยไปอีกสองปีจริงหรือ?
ภาพแสดงข้อความ Press release จาก Fed
หากทุกคนลองอ่านประโยคที่ได้ขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้ ก็จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วทาง Fed เองไม่ได้บอกว่าจะคงดอกเบี้ยไปอีก 2 ปี ถึง 2022 แต่แท้จริงแล้ว จะสื่อว่าจะคงอยู่ในอัตรา 0.00%-0.25% ไปจนกว่าเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่างหาก
แล้วข้อมูลที่บอกว่าจะคงดอกเบี้ยอีก 2 ปีมาจากไหน
ภาพแสดงการผลการประเมิน (ประมาณการ) อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ผมอยากจะให้ทุกคนอ่านคำว่า ประเมิน (ประมาณการ) กันอีกสักรอบ ซึ่งหากเรามาคิดกันดูดี ๆ แล้ว การประเมินมันไม่ได้หมายความว่าจะทำแน่นอน แต่เป็นการคาดการณ์คร่าว ๆ
มันก็คงคล้าย ๆ กับการใช้คำว่า “Will” กับ “Perhaps” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ซึ่งก็หมายความว่าในอนาคตมันปรับเปลี่ยนกันได้
ในทุกวันนี้เราอาจจะได้รับการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือบิดเบือนซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเราได้ และหากเราไม่พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ดีมากพอ เราก็อาจจะตกลงไปใน “หลุมพรางอารมณ์ของตลาด” ที่นำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนให้กับเราก็เป็นได้
จริง ๆ แล้วทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตยํ่าแย่จริง ๆ หรือ
ผมได้เน้นยํ้าตลอดบทความที่ผ่าน ๆ มาว่าจริง ๆ แล้วมันมีสัญญาณสะท้อนพื้นฐานที่ดีอยู่บ้างในการฟื้นตัวครั้งนี้ อย่างตัวเลขการจ้างงานที่ทุกคนอาจจะเห็นกันจนเบื่อกันแล้ว ดังนั้นลองย้อน ๆ กลับไปดูกันนะครับ อธิบายอีกรอบกลัวจะเบื่อกัน
ในส่วนถัดไปผมจะพาทุกคนไปพิสูจน์การประมาณการตัวเลขเป้าหมายของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่เขาบอกกันว่ายังแย่และสูงอยู่ ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือเปล่า
GDP แย่จริง ๆ หรือ
ภาพแสดง GDP Projection (การคาดการณ์ GDP) จาก Fed Press Conference
*December projection คือการประมาณการของปีที่แล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10-11 ธันวาคม 2019 นะครับ เผื่อทุกคนสงสัยกัน (อ่านในส่วนของ Note ด้านล่างได้เลย ลิ้งก์เข้าสู่รายงานต้นฉบับอยู่ตรง References นะครับ)
จากภาพในส่วนของ Median (ค่ากลาง) จะเห็นได้ว่าเฉลี่ยแล้ว GDP ปีนี้ตัวเลข GDP อาจติดลบที่ -6.5 ในปี 2020 นี้ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2021 และปี 2022 ถัดไป โดยมี Range (ขอบเขต) ตัวเลขตํ่าที่สุดถึงสูงที่สุดอยู่ที่ -10.0 ถึง -4.2 ในปี 2020, -1.0 ถึง 7.0 ในปี 2021 และ 2.0 ถึง 6.0 ในปี 2022
ซึ่งหากเรามาเทียบกับตัวเลข GDP เก่าแล้วในสิ้นปีนี้ GDP ก็อาจจะออกมายํ่าแย่จริง ๆ หากเทียบกับค่ากลางที่ -6.5
ภาพแสดงข้อมูลตัวเลข GDP ล่าสุด
อัตราการว่างงาน “สูง” แต่อาจไม่ได้ “แย่”
ภาพแสดง Unemployment Rate Projection (การคาดการณ์อัตราการว่างงาน) จาก Fed Press Conference
ต่อมาหากเรามาเช็กการประมาณการ Unemployment rate (อัตราการว่างงาน) แล้วก็จะเห็นได้ว่า ค่า Median ในปีนี้ (2020) Unemployment rate จะออกมาที่ 9.3%, 6.5% ในปี 2021 และ 5.5% ในปี 2022 ตามลำดับ
ถ้าถามว่ามันสูงไหมในปีนี้หากเทียบกับช่วงก่อน ๆ มันก็สูงครับ แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนคิดตามก็คือเทียบกับครั้งที่แล้ว มันดีเรื่อย ๆ ถูกไหม?
ดังนั้นหากเราจะสรุปว่าการจ้างงานในอนาคตจากข้อมูลข้างต้นมีทิศทางที่ดีขึ้นและอาจไม่ยํ่าแย่ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะ ช่วงล่าสุดอัตราการว่างงานนั้นอยู่ที่ 13.3% ดังนั้นหากผลออกมาที่ 9.3% ก็แปลว่าดีขึ้น
ภาพแสดงอัตราการว่างงานล่าสุด
อัตราเงินเฟ้อ (Core PCE Inflation) แท้จริงแล้วยํ่าแย่หรือเปล่า?
ภาพแสดง Core PCE Inflation Projection (การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ) จาก Fed Press Conference
*PCE Inflation คือ อัตราเงินเฟ้อที่รวมราคาอาหารและหลังงานซึ่งมีความผันผวน หลัก ๆ ทาง Central bank จะใช้ Core PCE Inflation เป็นหลัก
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ Core PCE Inflation (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง) ซึ่งเป็นตัวกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคาร (หลัก ๆ แล้วระดับที่เหมาะสมคือ 2%) ก็จะเห็นได้ว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกันจาก 1.0% ในปี 2020, มาที่ 1.5% ในปี 2021 และ 1.7% ในปี 2022
ดังนั้นหากจะบอกได้ว่าข้อมูลทั้ง GDP, อัตราการว่างงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อนั้น จริง ๆ แล้วทาง Fed เองประมาณการว่ามันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่างหาก
ภาพแสดง Core PCE Inflation (YoY) หรืออัตราเงินเฟ้อที่ใช้กำหนดนโยบายล่าสุด
สรุปส่งท้าย…
จริง ๆ แล้วที่ตลาดขึ้นมาครั้งนี้มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของการแยก Main Street หรือ Wall Street เลยก็ได้ แต่แท้จริงแล้ว มันฟื้นตัวได้รวดเร็ว จากมาตรการกระตุ้นช่วยเหลือที่เข้ามาหนักหน่วงและรวดเร็ว จนเราอาจคาดไม่ถึงกันเองต่างหาก เราจึงหาเหตุผลที่จะสนับสนุนสิ่งต่าง ๆ หลังจากมันเกิดขึ้นแล้วไปกันเองก็เป็นได้…
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr.Serotonin