อย่าฉีกเบาะตัวเอง
ในยุคที่มีการลงทุนอันหลากหลาย มีทางเลือกมากมายที่เราจะนำเงินของเราที่เก็บออมไว้ไปลงทุนเพื่อให้มีกำไรงอกเงยเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่เงื่อนไขของสินทรัพย์และรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ ที่เรานำไปลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่หลายคนมักจะมองข้ามไปนั่นก็คือ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่จะประกันความปลอดภัยในชีวิตว่าเรายังจะมีเงินใช้จ่ายในยามคับขัน หรือประสบปัญหาใด ๆ เพื่อให้ชีวิตยังเดินต่อไป
เชื่อว่าหลายคนที่ติดตาม Finnomena คงได้เรียนรู้บทเรียนขั้นที่ 1 ของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและเตรียมพร้อมเงินสำรองฉุกเฉิน อาจมีสัก 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจจะเพิ่มขึ้นถึง 12 เดือนไปเรียบร้อย หลังจากที่คนทั้งโลกประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจมีหลายคนที่ได้นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้จ่ายตามหน้าที่ของมันยามที่ชีวิตเดือดร้อนเช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน เงินก้อนแรกของเราที่อาจเก็บสะสมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ช่วงวัยเรียนหรือเริ่มต้นทำงานที่ถูกแปรรูปเป็นเงินขั้นที่ 1 ของเรา ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น บัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งแบบปกติหรือพิเศษในธนาคารที่จะต้องแลกมาด้วยผลตอบแทนรายปีที่ค่อนข้างต่ำ และเกิดอาการ “ไม่ทันใจ” ต่อเงินที่จะงอกเงย จนเริ่มมองหาหนทางอื่น ๆ ที่จะทำให้เงินที่เรามีเติบโตขึ้นมากกว่านี้
เจ้าของบทความนี้ก็เช่นกัน………
ประสบการณ์การลงทุนครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2547 ของตัวเอง ไม่ได้เริ่มที่หุ้นหรือกองทุนรวม ไม่ใช่การพนัน แต่เป็นการลงทุนในธุรกิจกับคนรู้จักที่ถูกชักชวนมาร่วมหุ้นกันในช่วงวัยรุ่น แม้การลงทุนของตนเองในคราวนั้นเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่เงิน 5 หลักแก่ ๆ ซึ่งอาจจะไม่มากมายนักหากเทียบกับหลายธุรกิจ หรือพอร์ทหุ้นเริ่มต้นของอีกหลายคน แต่เงินจำนวนนี้ก็เป็นเงินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินที่ตัวเองสะสมมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ภายใต้ความคาดหวังที่จะเห็นธุรกิจที่ตนเองลงทุนประสบความสำเร็จและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งเม็ดเงินและเวลาที่สูญเสียไป
และมันก็สูญเสียไปจริง ๆ ด้วยการขาดทุน 80% ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน
เงินที่ได้กลับมาเพียงหมื่นเศษ ๆ คือการลงทุนครั้งแรกที่ขาดทุนมากที่สุดในชีวิต และเป็นสื่งที่ตัวเองต้องจดจำที่เกิดจากหลายเหตุผล ทั้งจากความเข้าใจธุรกิจและประสบการณ์ในการลงทุนที่ไม่มากพอ ความสัมพันธ์ต่อผู้ร่วมหุ้น ธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการคืนทุนมากกว่าที่คาดหวังไว้ตอนแรก อีกทั้งวัยก็มีผลต่อการตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ใช่แบบฝึกหัดที่อยู่ในห้องเรียน แต่เป็นชีวิตจริงที่เกิดขึ้นชนิด “เล่นจริง เจ็บจริง” ที่มีคุณค่าเพื่อสอนชีวิต เมื่อมองย้อนกลับไปในการตัดสินใจที่ผิดพลาดในวันนั้น
ผลลัพธ์จากการใช้เงินสำรองด้วยความใจร้อนที่อยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ ที่ตามมา โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง คือการใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าที่เงินก้อนนี้จะถูกสะสมจนเติมเต็ม และเป็นเงินสำรองในชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง รวมถึงระหว่างนั้นก็เริ่มทำความเข้าใจในการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเอาเงินไปลงทุนและสร้างธุรกิจด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว เช่น กองทุนรวม หรือการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
แม้สื่อด้านการเงินในสมัยที่ตนเองเป็นวัยรุ่นจะไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ด้วยเครื่องมือที่จำกัด มีค่าใช้จ่ายที่สูง และอาจไม่มีพี่เลี้ยงทางด้านการเงินให้แก่วัยรุ่นหรือผู้เริ่มต้นทำงานมากมายเหมือนเช่นสมัยนี้ที่เพียงเปิดยูทูป ก็มีแหล่งความรู้ด้านการลงทุนมากมายที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาศึกษาแบบแค่ลัดนิ้วและพูดคุยสอบถามแบบทันอกทันใจ เมื่อตัวเองเดินทางมาถึงวัยกลางคนแล้ว ก็อยากจะนำประสบการณ์จริงของตนเองที่เคยผ่านมาบอกเล่าให้คนที่ใฝ่ในการเรียนรู้ได้รับรู้ ลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องทำเองถึงจะทราบ และอาจเสียเวลามากมายเหมือนอย่างที่ตนเองเคยประสบมา
สุดท้ายแล้ว “การลงทุนในความรู้” ก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่จะช่วยสร้างเข็มทิศทางการการเงินให้กับเรา และทำเป้าหมายให้เป็นจริงไปทีละก้าวอย่างมั่นคงตามแผนที่ถูกวางอย่างเป็นระบบ ควบคุมความเสี่ยงในสิ่งที่เราควบคุมได้ และถอยหลังได้โดยไม่เจ็บตัวมากนัก หากการตัดสินใจลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ เป็นการเดินที่ผิดทิศทาง
และอยากจะจบบทความนี้ ด้วยคำเตือนสำหรับเงินสำรองก้อนแรกที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเงินที่เก็บสะสมด้วยตนเอง หรือจะเป็นเงินที่ผู้ปกครองเก็บหอมรอบริมเอาไว้ให้เราตั้งตนเอาไว้ว่า “อย่าฉีกเบาะตัวเอง”
ปล่อยให้ฟูกได้ทำหน้าที่ของฟูก ในยามที่เราหรือคนที่รักพลาดพลั้ง การกระแทกบนที่นุ่มที่มีพื้นที่มากเพียงพอ อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ร่างกายของเรากระแทกกับพื้นอย่างจังในวันที่เราตกลงจากที่สูง เบาะที่ชำรุดหรือเว้าแหว่ง คงทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ในวันที่เราต้องการใช้มันจริง ๆ