ถ้าพูดถึง Silk Road ตามความเข้าใจของคนส่วนมากก็จะมีภาพเส้นทางการค้าสำคัญในอดีตที่มีความยาวมากถึง 6,437 กิโลเมตร (4,000 ไมล์) ที่เป็นเส้นทางสำหรับเชื่อมต่อด้านการค้าและวัฒนธรรม ที่ลากยาวตั้งแต่ประเทศจีนพาดผ่านยาวไปจนตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเส้นทางนี้ยังรวมไปถึงตลอดคาบมหาสมุทรที่พาดผ่านจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกด้วย
ซึ่งการเดินทางมาราธอนสำหรับค้าขายข้ามทวีปนี้เริ่มตั้งแต่ในช่วงราชวงศ์ฮั่น หรือตั้งแต่ 206 ปีก่อนคริสตกาล ไปจนถึงคริสตศักราชที่ 220 โดยสินค้าที่ได้มีการนำไปขายนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย อาทิ พวกเครื่องมือคิดคำนวณเช่น ลูกคิด หรือพวกลูกเต๋า ที่ผลิตกระดาษ ดินปืน เครื่องประดับ และผ้าไหม แต่สิ่งที่นำไปค้าขายและได้รับผลตอบรับดีที่สุดนั่นก็คือ “ผ้าไหม” นั่นเอง สิ่งนี้จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ “เส้นทางสายไหม หรือ Silk Road” นั่นเอง โดยนอกจากการค้าขายแล้วเส้นทางนี้ก็ยังเป็นที่นิยมของเหล่าผู้เผยแพร่ศาสนาหรือ Missionary ด้วยเช่นกัน
แผนที่แสดงเส้นทางสายไหมในอดีต (อ้างอิงจาก https://www.chinadiscovery.com/)
เส้นทางสายไหมได้รับความนิยมในการค้าขายจากหลายชนชาติ ชาวจีน เปอร์เซีย กรีก ซีเรีย โรมัน อาร์มีเนีย อินเดียและแบกเตรีย อยู่หลายศตวรรษ และต่อมาเส้นทางสายไหมทางบกก็ได้เสื่อมความนิยมลงและผู้คนต่างพยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีสงครามเกิดขึ้น แต่ต่อมาก็เส้นทางตรงนี้ก็ได้ถูกยกเลิกใช้ไปในที่สุด
พบกับ Silk Road ในศตวรรษที่ 20
ทีนี้เรามาพูดถึงประวัติของ “เส้นทางสายไหม” ของยุคศตวรรษที่ 20 กันบ้างดีกว่า หลายคนน่าจะมีคำถามในใจว่า.. แต่เอ๊ะ! มันมีด้วยเหรอ? ต้องบอกเลยล่ะว่านี่ถือว่าเป็นตลาดที่ถือเป็นยุคบุกเบิกของการใช้ Bitcoin เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างแพร่หลายระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเลยละ
เว็บไซต์นั้นมีชื่อว่า Silk Road ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับค้าขายยาเสพติดชื่อดังระดับโลก ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปท์ Anonymous (ไร้ตัวตน) เพื่อสร้างตลาดออนไลน์สำหรับที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องมีการระบุตัวตน
ด้วยแนวคิดที่ต้องการปกปิดตัวตนของผู้ใช้แบบไร้ร่องรอยที่จะสาวถึงได้และหลบหลีกจากสายตาของตำรวจ ทางผู้พัฒนา “นายรอส อัลบริท (Ross Ulbricht)” จากเท็กซัสจึงได้พัฒนาเว็บไซต์ Dark E-Commerce นี้ขึ้นมาในรูปแบบของ Dark Web ซึ่งจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านทาง TOR ซึ่งเป็นเว็บเบราเซอร์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติในการปกปิด IP Address รวมไปถึงซ่อนข้อมูลของผู้ใช้งาน รวมไปถึงทำลายข้อมูลที่ผู้ใช้เคยค้นหาทั้งหมด
หน้าหลักของเว็บไซต์ Tor (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.torproject.org/)
ที่น่าสนใจคือเบราเซอร์ตัวนี้ยังคงเปิดใช้งานได้อย่างปกติ ใครที่ค่อนข้างมีความกังวลกับความเป็นส่วนตัวของตนเองมาก ๆ ก็ลองศึกษาดูได้
นายรอสได้มีปณิธานอันตั้งมั่นใจการสร้างตลาดค้าขายออนไลน์ที่ผู้ใช้มีสถานะแทบจะล่องหน และตลาดในอุดมคติแห่งนี้ใคร ๆ ก็สามารถมาตั้งซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องกฏหมาย ด้วยเหตุนี้เองเว็บไซต์ที่เป็นตำนานของ Bitcoin นี้ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 นั่นเอง
ธุรกิจในอากาศที่หาจับตัวยาก
แรกเริ่ม นายรอส – ผู้พัฒนา ได้มีการพูดถึงแนวคิดการก่อตั้งเว็บขายยาเสพติดออนไลน์ไว้ในเว็บไซต์ Bitcointalk ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนปี 2010 โดยเค้าตั้งใจจะตั้งชื่อเว็บไซต์ว่า “A Heroin Store” แต่ต่อมาเนื่องด้วยมีคนท้วงว่าควรใช้ชื่อที่ไม่ล่อคุกล่อตารางขนาดนี้ เขาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Silk Road ในที่สุด เนื่องจากผู้พัฒนาต้องการอิงถึงเส้นทางแห่งการค้าขายที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดแห่งหนึ่งในอดีต
รวมไปถึงระบบการชำระเงินของเว็บไซต์แห่งนี้คือการรับชำระเงินด้วย Bitcoin เท่านั้นเพื่อป้องกันการตามสาวตัวได้จากบัญชีธนาคารทั่วไป
ภาพอธิบายขั้นตอนการซื้อขายสินค้าใน Silk Road (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/)
ตัดภาพมาที่ความเป็นจริง ได้มีผู้ใช้รายหนึ่งได้เขียนข้อมูลเกี่ยวกับเว็บ Silk Road และโพสต์ไว้ที่เว็บบอร์ดแห่งหนึ่งนามว่า “gawker.com” โดยเนื้อหาเป็นการพูดถึงสิ่งที่ผู้คนจะสามารถหาได้ในเว็บนี้ รวมไปถึงตั้งคำถามว่า “มันจะใช้เวลานานเท่าไหร่กันก่อนที่ตำรวจจะเริ่มให้ความสนใจ Bitcoin”
ซึ่งต่อมาบทความนั้นได้กลายเป็นเสมือนประตูบานใหญ่ที่แนะนำผู้คนมากมายถึงการมีอยู่ของ Silk Road โดยได้มีคนเปิดอ่านบทความสูงถึง 3 ล้านครั้ง ภายในระยะเวลา 5 เดือนเท่านั้น
โดยเว็บ Silk Road นั้นจะเต็มไปด้วยของผิดกฏหมายมากมายตามแต่ที่ผู้ซื้อจะจินตนาการถึง มีตั้งแต่สารเสพติดหลากหลายชนิด ยาผิดกฏหมาย อาวุธ ไปจนถึงพาสปอร์ตปลอม หรือแม้แต่ขายอวัยวะก็ยังมี
ในช่วงก่อนที่ทางเว็บไซต์จะถูก FBI (Federal Bureau of Investigation) สั่งปิดช่วงเดือนตุลาคมปี 2013 จากการตรวจสอบพบว่าเว็บไซต์แห่งนี้มีสินค้าวางขายไว้มากกว่า 10,000 ชนิด รวมไปถึงมีผู้ค้ามากกว่า 3,877 ราย และมีลูกค้ามากถึง 146,946 ราย ด้วยตัวเลขที่สูงลิ่วแบบนี้จึงมีการคาดคะเนไว้ว่าหากเทียบเคียงกับมูลค่าของ Bitcoin ในปัจจุบัน มูลค่าในการแลกเปลี่ยนในเว็บไซต์ Silk Road นั้นอาจสูงถึง *9,519,664 BTC หรือคิดเป็นมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท
โดยทางเว็บไซต์ Silk Road ได้รับค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเหล่านี้ไปมากถึง *614,305 BTC หรือคิดเป็นเงิน 1.8 แสนล้านบาท
**อ้างอิงราคา Bitcoin จากราคาเฉลี่ยบนหน้าเว็บไซต์ Bitkub.com เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2020
การจับกุมเจ้าของเว็บไซต์และนำไปสู่การปิดฉาก Silk Road
ในช่วงแรก ๆ ที่เว็บไซต์แห่งนี้ถูกเปิดตัวขึ้นมามันได้สร้างความยากลำบากในการตามสืบของตำรวจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เบราเซอร์ที่ปกปิด IP ของผู้ใช้อย่าง TOR ไปจนถึงธุรกรรมที่ตามตัวแทบไม่ได้ของ Bitcoin (ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน)
ตำรวจได้ใช้เวลาถึง 1 ปีในการสืบเบาะแส จนไปค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญเข้า เนื่องจากตำรวจพบว่าช่วงที่ Silk Road เปิดตัวได้ไม่นาน มักจะมีชาวเน็ตคนนึงที่ใช้ชื่อว่า “ฟรอสตี้” (Frosty) โฆษณาถึงเว็บไซต์ Silk Road อยู่เป็นประจำ จึงได้มีการเริ่มสืบเสาะจากเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ไอพีอินเตอร์เน็ต ไอพีของร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ฯลฯ สืบไปสืบมาจนไปพบอีเมล์ของเจ้าตัวเข้าซึ่งใช้ชื่อว่า Frosty@Frosty ซึ่งตามเช็กไปเช็กมาก็พบว่าเป็นอีเมล์ที่แรกเริ่มนั้นสมัครไว้ด้วยชื่อ rossulbricht@gmail.com ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่ออีเมล์ในภายหลัง
ชื่อจริงมาเต็มขนาดนี้ผู้อ่านคงเดาสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปไม่ยากนัก
โฉมหน้าของนายรอส อัลบริท (ภาพจาก https://www.change.org/)
นายรอส อัลบริท (Ross Ulbricht) ถูกจับกุมในช่วงเดือนตุลาคมปี 2013 ก่อนที่รัฐบาลจะสั่งปิดเว็บไซต์ SilkRoad ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนายรอสถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิตโดยไร้การอภัยโทษ
ขณะเดียวกันหลังจากสาวถึงตัวการใหญ่ของ Silk Road ได้แล้วนั้น ตำรวจจึงได้เริ่มสืบถึงผู้ค้ารายอื่น ๆ จากประวัติธุรกรรมที่เกิดขึ้นของ Bitcoin และสามารถสาวไปถึงผู้ค้ายาเสพติดและสามารถจับกุมได้อีกหลายรายเป็นการปิดตำนานตลาดแห่งแรกที่ Bitcoin เปิดตัวเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นมารดาของนาย Ross ยังมีความหวังว่าจะช่วยให้ลูกชายได้รับการอภัยโทษและถูกปล่อยตัวออกมาเร็ววัน โดยการไปตั้งแคมเปญที่เว็บ Change.org และยังคงพยายามอยู่เรื่อย ๆ จวบจนทุกวันนี้
โฉมหน้าของนายรอส อัลบริท (ภาพจาก https://www.change.org/)
สุดท้ายเทคโนโลยีและช่องทางต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องมือ
จากตัวอย่างของ Silk Road เราจะเห็นว่าเครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นถือว่าเป็นสิ่งให้คุณหรือโทษนั้นอยู่ที่ตัวของคนที่หยิบใช้มันเป็นสำคัญ ทุกวันนี้เราจะเริ่มเห็นว่ามีข่าวที่ทั้งภาครัฐรวมไปถึงภาคเอกชนทั่วโลกนั้นให้ความสนใจกับเทคโนโลยีบล็อคเชน รวมไปถึงแนวคิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลกันเป็นของตัวเองอย่างคับคั่ง เทคโนโลยีตัวนี้เป็นได้ทั้งสร้างเงินในอากาศ – การใช้จ่ายแบบอิสระไร้ตัวตน หรือแม้แต่จะเป็นเครื่องมือในการจดบันทึกทุกธุรกรรมในชีวิตของผู้คนก็ยังได้
ท้ายที่สุดโลกจะหมุนไปทางใด เทคโนโลยีจะให้คุณหรือให้โทษอย่างไรนั้นอยู่ที่คุณจะเลือกเอง ดูอย่างนาย Ross เป็นตัวอย่าง บางทีหากวันนั้นเขาตัดสินใจทำเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าธรรมดา ๆ และไม่เลือกสนับสนุนของผิดกฏหมาย บทสรุปที่ออกมาเค้าอาจจะสร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงดี ๆ ให้กับโลกนี้ก็เป็นได้
Bitkub.com
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/
https://www.facebook.com/notes/
https://www.chinadiscovery.com/assets/images/silk-road/maps/marco-polo.jpg
https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/history-of-bitcoin-ep-7-silkroad/
https://nowasu.co/2018/10/15/ross-ulbricht-drug-site-silk-road-deep-web/
https://en.wikipedia.org/wiki/Silk_Road_(marketplace)
https://news.bitcoin.com/bitcoin-history-part-15-silk-road-is-born/
https://www.change.org/p/clemency-for-ross-ulbricht-condemned-to-die-in-prison-for-a-website