ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีกำลังคืบคลานไปในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเงินที่มีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ มากมายมาช่วยอำนวยความสะดวก เราขอรวบรวม 4 ปรากฏการณ์ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้และในอนาคตอันใกล้มาให้ทำความรู้จักกัน
การจ่ายเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment)
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับการจ่ายเงินผ่านมือถือกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในประเทศไทยนั้นก็มีบริการ Mobile Payment หลายเจ้า เช่น Rabbit LINE Pay, Airpay, True Money เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศ (โดยเฉพาะในสหรัฐฯ) ที่นิยมก็มี Apple Pay, Google Pay, Samsung Pay ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือในเมืองจีน ทีมี Alipay, WeChat Pay ใช้กันในชีวิตประจำวันแบบออฟไลน์ โดย Mobile Payment นั้นสะดวกตรงที่เราไม่ต้องพกกระเป๋าตังค์ ใช้แค่มือถือก็จ่ายเงินได้เลย
เทรนด์การใช้ Mobile Payment ทั่วโลก
ที่มา: eMarketer
รายงานจาก Fortune Business Insights[i] ระบุว่า มูลค่าเงินที่ใช้จ่ายผ่านระบบ Mobile Payment น่าจะแตะระดับ $6.9 ล้านล้าน ภายในปี 2026 ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึง CAGR ระดับ 28.7% ถือว่าโตขึ้นมากหากนับจากระดับมูลค่าในปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ $9.3 แสนล้าน โดยภูมิภาคที่นำหน้าก็คือเอเชีย-แปซิฟิก เดาได้ไม่ยากว่าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนนั่นละ โดยในรายงานจาก eMarketer[ii] มีการประเมินว่า ปี 2020 จะเป็นครั้งแรกที่มีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ใช้ Mobile Payment ซื้อของในร้านค้า อย่างน้อยสุดก็ครั้งหนึ่งทุก ๆ 6 เดือน
แม้ว่า Mobile Payment จะมีความสะดวกสบาย แต่สำหรับหลาย ๆ ประเทศกำลังพัฒนานั้นอาจจะยังไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่กว้าง อาจจะเพราะระบบเครือข่ายยังไม่พร้อมบ้าง ผู้คนยังปรับตัวให้คุ้นชินไม่ได้บ้าง (ชินกับการใช้เงินสดมากกว่า) และคนบางกลุ่มอาจจะยังไม่ไว้วางใจในประเด็นของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ซึ่งถ้าประเทศเหล่านี้สามารถข้ามผ่านจุดนี้ได้ ก็จะยิ่งช่วยดันให้ Mobile Banking ได้รับความนิยมขึ้น
สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer Lending)
เรียกสั้น ๆ ว่า P2P Lending โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยเชื่อมผู้กู้ยืมเงินกับผู้ให้กู้ยืมเงินเข้าด้วยกัน สิ่งที่ง่ายคือผู้กู้ยืมไม่ต้องพึ่งพาธนาคาร ซึ่งเวลากู้ก็จะต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือ รายได้ที่มั่นคงระดับหนึ่ง เจออุปสรรคแบบนี้ผู้กู้อาจจะไปกู้นอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยก็จะสูงมาก อยู่ที่ 60-240%[iii] ต่อปี แพลตฟอร์ม P2P Lending ก็จะมอบโอกาสเข้าถึงเงินกู้ที่สะดวกขึ้น ในประเทศไทยนั้นผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยปีละไม่เกิน 15% ซึ่งถือว่าถูกกว่ากู้จากสถาบันการเงินซึ่งอยู่ที่ 28% ในฝั่งผู้ให้กู้ยืมเงิน แพลตฟอร์ม P2P Lending ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากเงินที่ตัวเองมีอยู่ เพราะเมื่อให้กู้ก็จะได้รับดอกเบี้ยตอบแทน
จากรายงานของ Allied Market Research[iv] ได้ระบุว่าในปี 2019 มูลค่าของ P2P Lending ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ $6.8 หมื่นล้าน โดยมีการประเมินว่าจะแตะระดับ $5.6 แสนล้านภายในปี 2027 คิดเป็น CAGR ที่ 29.7% โดยได้แรงหนุนจากผู้ขอกู้ยืมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศที่ใช้ P2P Lending สูงสุดคือจีน รองลงมาก็สหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ก็คลุมไปแล้วกว่า 95% ของตลาด P2P Lending ทั่วโลก ถึงอย่างนั้นรายงานจาก Paypers[v] ก็ระบุว่ายังมีประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่ P2P Lending กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสเปน
แม้จะเริ่มได้รับความนิยม แต่ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อเป็นคนไม่รู้จักกัน มาให้กู้ยืมเงินกัน ก็มีความเสี่ยงว่าผู้ให้กู้อาจจะไม่ได้รับเงินคืน หรือได้รับคืนไม่ตรงเวลา เพราะการให้สินเชื่อนั้นไม่เหมือนการฝากเงิน ไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะได้เงินนั้นคืนมา หรือแม้กระทั่งตัวแพลตฟอร์มเองก็อาจจะโกงผู้ใช้บริการได้เช่นกัน ซึ่งก็เคยมีเคสของต่างประเทศว่าเกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนในประเทศไทยนั้นก็วางใจได้ระดับหนึ่งเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามากำกับดูแลให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
การระดมทุนจากฝูงชน (Crowdfunding)
ใครที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะเหล่าสตาร์ตอัป อาจจะเคยได้ยินวิธีการระดมทุนรูปแบบนี้ โดย Crowdfunding คือการระดมทุนจากบุคคลหลาย ๆ คนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนที่สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับเหล่าสตาร์ตอัพหรือโครงการต่าง ๆ ที่มีไอเดียบรรเจิดแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่น ธนาคาร หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะเดียวกัน ฝั่งผู้คนที่ระดมเงินก็ไม่ต้องออกเงินเยอะ ช่วยกันคนละนิดละหน่อย เพื่อสนับสนุนไอเดียธุรกิจที่ตนชื่นชอบ อย่างเว็บไซต์ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันก็เช่น Kickstarter, Indiegogo เป็นต้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำว่า Crowdfunding ถือเป็นคำที่ใหญ่มาก เพราะใน Crowdfunding ยังมีประเภทแยกย่อยไปอีก (หนึ่งในนั้นก็คือ P2P Lending นั่นละ) โดยรายงานจาก P2P Market Data[vi] ระบุว่า ในปี 2018 นั้นมูลค่าตลาด Crowdfunding อยู่ที่ $3 แสนล้านจาก 171 ประเทศทั่วโลกที่มีความ Active ในส่วนของ Crowdfunding เห็นตัวเลขใหญ่แบบนี้แต่จริง ๆ แล้ว 2018 เป็นปีแรกที่มูลค่าลดลง หลังจากเติบโตมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2015 เหตุผลก็เพราะจีนซึ่งมีมูลค่า Crowdfunding อันดับหนึ่ง (ส่วนแบ่ง 71%) นั้นเจอมาตรการที่เข้มงวดขึ้นและมีการฉ้อโกง หากตัดจีนออกไป เทรนด์ภาพรวมก็จะเป็นขาขึ้น
มูลค่า Crowdfunding ทั่วโลก ไม่รวมจีน
ที่มา: P2P Market Data
อย่างไรก็ตาม ก็มีความท้าทายในเรื่องความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ว่ามีความโปร่งใส และมีมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน หากมีองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบดูแลก็จะช่วยให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ น่าเชื่อถือขึ้น อย่างในเมืองไทย แพลตฟอร์มก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กลต.[vii] เป็นต้น
Blockchain
หลายคนน่าจะรู้จัก Blockchain ในฐานะระบบเบื้องหลังการทำงานของ Bitcoin ซึ่งก็ต้องขอย้ำอีกทีว่า Blockchain กับ Bitcoin นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ถ้าให้เล่าก็เดี๋ยวจะยาว ขอสรุปสั้น ๆ ว่า Blockchain นั้นเป็นระบบการกระจายข้อมูลโดยไม่ผ่านคนกลาง มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นบล็อก ๆ โดยแต่ละบล็อกก็จะมีสิ่งที่เปรียบเสมือนสายโซ่เชื่อมโยงกันหมด โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับการตรวจสอบว่าถูกต้องแล้วจะถูกกระจายไปบันทึกในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย ทุกคนจะเห็นข้อมูลนั้นกันหมด ทำให้มีความโปร่งใส ใครมีการเคลื่อนไหวอย่างไรก็รู้กัน มีความน่าเชื่อถือเพราะหากใครคิดอยากแก้ไขให้มีความคลาดเคลื่อนก็ทำได้ยากเพราะต้องไปแก้ในทุก ๆ Block ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก Block มีการเชื่อมโยงถึงกัน
ขนาดข้อมูลของระบบ Blockchain ของ Bitcoin ตั้งแต่ปี 2010-2019
ที่มา: Statista
ถ้าหากอยากรู้ว่า Blockchain ได้รับความนิยมแค่ไหน ก็ลองดูได้จากขนาดข้อมูลระบบ Blockchain ของ Bitcoin ซึ่งข้อมูลจาก Statista ระบุให้เห็นเติบโตทุกปี โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2019 นั้นความใหญ่โตของข้อมูลในระบบอยู่ที่ 242,386 เมกะไบต์ (MB) หรือ 242 กิกะไบต์ (GB)[viii] ซึ่งเทียบเท่ากับการสตรีม Netflix คุณภาพ Ultra HD เป็นเวลาติดต่อกัน 34 ชั่วโมง[ix]
อุตสาหกรรมที่ใช้ Blockchain ที่ทุกคนรู้จักกันดีก็คือด้านการเงิน โดยมี Cryptocurrency อย่าง Bitcoin เป็นตัวชูโรง แต่จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เพราะจริง ๆ มันก็คือระบบการจัดการข้อมูลโดยไม่พึ่งตัวกลางนั่นเอง ความท้าทายของ Blockchain หลัก ๆ น่าจะเป็นการทำให้เกิดการยอมรับและใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องยินยอมพร้อมใจเปิดเผยข้อมูลกัน อีกทั้งนี่ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงอาจจะยังไม่สมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความรวดเร็วในการทำธุรกรรม ซึ่งอาจจะยังไม่ได้รวดเร็วว่องไวเท่าการใช้บัตรเครดิต[x] เป็นต้น
จำนวนธุรกรรมต่อวินาทีของแต่ละระบบ
ที่มา: howmuch
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเทรนด์เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนในเรื่องของการเงิน หากธุรกิจไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทรนด์เหล่านี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีโอกาสเติบโตและทำกำไร ในฐานะนักลงทุน หากเราได้มีส่วนร่วมในบริษัทเหล่านี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ
โดยหากในอนาคต FINNOMENA เปิดบริการ Private Fund ซึ่งจะมีการจัดพอร์ตตามธีม Mega Trend ที่กำลังมาแรง ทางทีมงานจะแจ้งให้ท่านทราบ สามารถลงชื่อรับข่าวสารเมื่อมีการอัปเดตได้ที่ https://www.finnomena.com/private-fund/
เพื่อนผู้ใจดี
[i] https://www.fortunebusinessinsights.com/industry-reports/mobile-payment-technology-market-100336
[ii] https://www.emarketer.com/content/global-mobile-payment-users-2019
[iii] https://kasikornbank.com/th/k-expert/knowledge/articles/loan/Pages/Debt_A053.aspx
[iv] https://www.alliedmarketresearch.com/peer-to-peer-lending-market
[v] https://thepaypers.com/payments-general/fintech-lending-industry-to-hit-usd-3905-billion-by-2023–1240552
[vi] https://p2pmarketdata.com/crowdfunding-statistics-worldwide/
[vii] https://www.sec.or.th/TH/pages/lawandregulations/crowdfundingregulatorysummary.aspx
[viii] https://www.statista.com/statistics/647523/worldwide-bitcoin-blockchain-size/
[ix] https://www.howtogeek.com/353116/how-big-are-gigabytes-terabytes-and-petabytes/
[x] https://howmuch.net/articles/crypto-transaction-speeds-compared