สัปดาห์ที่ผ่านมาวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายที่สามารถเพิกถอนบริษัทต่างชาติออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้มีชื่อว่า “Holding Foreign Companies Accountable Act” โดยในร่างกฎหมายระบุว่า บริษัทต่างชาติที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะต้องเปิดเผยผู้ถือหุ้นที่แท้จริง โดยกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ต้องรับรองว่าไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลต่างชาติ หรือมีรัฐบาลต่างชาติเป็นเจ้าของ หากคณะกรรมการ Public Company Accounting Oversight Board (PCAOB) ซึ่งทําหน้าที่กํากับดูแลผู้สอบบัญชีและสํานักงานสอบบัญชีที่ตรวจสอบบัญชีบริษัทมหาชนในสหรัฐฯ ไม่สามารถตรวจสอบรายงานจากบริษัทนั้น ๆ และคณะกรรมการไม่สามารถตรวจสอบบริษัทบัญชีนั้นเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จะส่งผลให้หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทนั้น ๆ ไม่สามารถซื้อขายในตลาดได้ หลังจากนี้กฎหมายดังกล่าวจะต้องผ่านการโหวตโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะลงนามเป็นข้อกฎหมายบังคับใช้
ถึงแม้กฎหมายนี้จะใช้กับบริษัทต่างชาติทั้งหมด แต่หลายฝ่ายประเมินว่าสหรัฐฯ กำลังมุ่งเป้าไปยังบริษัทจีนที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงและจีนไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของ PCAOB และส่วนใหญ่บริษัทจีนที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ก็จะเลี่ยงในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งปัจจุบันบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (NASDAQ) มีรวมกันกว่า 200 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราคุ้นชื่อกัน เช่น Alibaba, Tencent, JD.com, Weibo, TAL Education, Ping An, Xiaomi เป็นต้น
Stock Exchange Market Capitalization
Source : Statista as of 2019 (Trillion USD)
หากมองผิวเผินเหมือนว่าบริษัทจีนที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ อาจจะได้รับผลกระทบ แต่ต้องไม่ลืมว่าบริษัทเหล่านี้ สามารถย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง หรือตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ซึ่งปัจจุบันสหราชอาณาจักรและจีนมีความร่วมมือ London-Shanghai Stock Connect เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน นั่นเป็นเพียงอีกหนึ่งทางเลือก แต่อีกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบก็คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะมี Market Cap ลดลง รวมถึงเสน่ห์และความนิยมที่จะดึงดูดบริษัทต่างประเทศให้มาจดทะเบียนซื้อขายในสหรัฐฯ อาจลดลงด้วยความกังวลจากข้อกำหนดบางอย่างที่สหรัฐฯ อาจมีเพิ่มขึ้นในอนาคต
การประชุม National People’s Congress (NPC) ของจีนไม่ประกาศ GDP และตอบโต้สหรัฐฯ เชิงสัญลักษณ์
ถัดมาไม่กี่วันหลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Holding Foreign Companies Accountable Act มีการประชุมสภาประชาชนจีน วันที่ 22 พ.ค 2563 ซึ่งประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ คือ นโยบายต่อเศรษฐกิจของจีนรวมถึงท่าทีทางด้านการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จีนสร้างเซอร์ไพรส์โดยเลือกที่จะไม่ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ปี 2020 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 โดยให้เหตุผลว่า จีนกำลังเผชิญกับปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้หลังการระบาดโควิค-19 รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้า ซึ่งในประเด็นนี้หลายฝ่ายคาดว่าจีนกำลังพลาดเป้า GDP เป็น 2 เท่า ของปี 2553 ซึ่งถือว่าผิดคำพูด
เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ / การเติบโตทางเศรษฐกิจจริงของจีน
GDP Growth Target: 2000, 2002-2004-around 7%; 2001-7%; 2005-2011-around 8%; 2012-7.5%; 2013-2014-around 7.5%; 2015-around 7%; 2016-6.5%-7%; 2017-2018-around 6.5%; 2019-6%-6.5%
Source : Government Work Report; National Economic and Social Development Reports; National Bureau of Statistics; Bloomberg
ซึ่งหากเราย้อนไปดูข้อมูลในอดีตที่มีการประมาณการณ์เศรษฐกิจของจีนกับตัวเลขจริงที่ออกมา ถือว่าแทบจะไม่ต่ำกว่ากรอบล่างที่ประเมินไว้ และใกล้เคียงกับตัวเลขที่ประมาณการณ์เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่จีนสามารถมีความยืดหยุ่นในการบริหารงานได้มากขึ้น อีกทั้งยังดีกว่าการที่ตั้งเป้าแล้วเกิดพลาดเป้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความหวั่นวิตกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของจีน
อีกประเด็นที่สร้างความผันผวนและถือเป็นนัยการตอบโต้สหรัฐฯ ของจีน ถึงแม้ว่าจีนยืนยันว่าจะทำตามข้อตกลงการค้าในเฟสที่ 1 แต่การที่จีนพยายามผลักดันในการออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อป้องกันการปลุกระดมในฮ่องกงรวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ และต่อต้านการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนว่าจีนเลือกที่จะไม่ตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบปีที่ผ่านมาทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันจีนอาจต้องการที่จะดำเนินนโยบายจีนเดียว (One China Policy) มากกว่านโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ (One Country Two Systems Policy) เพื่อเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์กับสหรัฐฯ ที่ทางจีนมองว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงฮ่องกง และเป็นพันธมิตรกับไต้หวันที่อยากแยกตัวเป็นอิสระจากจีน
ทรัมป์กำลังได้รับความนิยมลดลง
หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มดูแย่ลงโดยเฉพาะภาคแรงงาน และภาคการบริโภคประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คะแนนความนิยมของทรัมป์เป็นรองโจ ไบเดน ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงในการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ปีนี้ ทำให้ทรัมป์ต้องเร่งกลับมาเปิดเมือง ทั้งที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในรอบที่ 2
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราอาจเห็นทรัมป์เริ่มกลับมาสร้างความผันผวนให้กับตลาด ทั้งเรื่องของการกล่าวอ้างว่าจีนเป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 การยกเลิกการค้าเฟส 1 การขู่จะไม่ให้ความช่วยเหลือ ด้านงบประมาณแก่ WHO การขู่ไม่ชำระหนี้จีน และล่าสุดการออกกฎหมายเพื่อกดดันบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ค่าเฉลี่ยโพลล์การเลือกตั้งทั่วไปสหรัฐฯ 2020
Source : RCP Poll as of 21/05/2020
จากผลโพลล์แต่ละแห่ง แล้วนำมาเป็นค่าเฉลี่ยจะเห็นได้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคะแนนความนิยมเป็นรองนายโจ ไบเดน ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ อาจต้องมีการเรียกความนิยมกลับคืนมาโดยใช้กลยุทธ์กระแสชาตินิยมเป็นตัวดึงคะแนนอีกครั้ง เหมือนที่เคยทำได้เหมือนครั้งที่ผ่านมา
วิเคราะห์ทฤษฎีเกมส์
หากสหรัฐฯ และจีนมีการตอบโต้ไปมาระหว่างกัน เชื่อได้ว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอาจจะทรุดหนักไปกว่านี้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่เห็นปลายทางที่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และเป็นไปได้มากกว่าที่ทั้ง 2 ประเทศจะเลือกการประนีประนอม หรือจีนอาจจะยอมถอยก้าวเล็ก ๆ เพื่อเดินหน้า ดังเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
มุมมองถัดจากนี้ไป
เชื่อได้ว่าความผันผวนในประเด็นสหรัฐฯ – จีนจะยังคงมีมาเป็นระยะจนถึงช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้และอาจทำให้ภาวะการลงทุนเป็นไปอย่างผันผวนในระยะสั้น
แต่หากมองในระยะยาวนโยบายของทั้ง 2 ประเทศถือได้ว่าน่าสนใจ สหรัฐฯ ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงิน เช่นการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ FED แบบไม่จำกัด การลดอัตราดอกเบี้ยแตะระดับใกล้ 0% ด้านการคลังที่ใช้งบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์เพื่อประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่นโยบายของจีนก็ไม่แพ้กันโดยนโยบายการเงินมีการลดดอกอัตราดอกเบี้ย LPR, MLF และลด RRR ของภาคธนาคาร ด้านการคลังมีการกำหนดโควต้าตราสารหนี้พิเศษสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นไว้ที่ 3.75 ล้านล้านหยวน รวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษ มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน และภาระด้านภาษี ค่าธรรมเนียมของบริษัทต่าง ๆ จะถูกปรับลดลง 2.5 ล้านล้านหยวนปีนี้
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทั้งสหรัฐฯ และจีนถือได้ว่าเป็นสองผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมด้านสุขภาพซึ่งถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมากและมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ก็ไม่แปลกถ้าตลาดหุ้นทั้งสองประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกจะดูน่าสนใจและเติบโตไปพร้อมกัน
บดินทร์ พุทธอินทร์ CISA I,CFP
Senior Assistant Vice President : Investment Strategy
TMBAM-Eastspring
สำหรับลูกค้าที่สนใจลงทุนใน TMBAM Quality Mega Theme Portfolio คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดพอร์ตการลงทุน