ถังน้ำมันทั่วโลกจะเต็มไหม ? เรายังเหลือที่เก็บอีกมากน้อยเพียงใด ? นี่เป็นคำถามที่ตลาดพยายามจะหาคำตอบกันมากที่สุดในเวลานี้ เราลองมาวิเคราะห์ตลาดน้ำมันโลกกันครับ
ราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดอาทิตย์ ราคา Brent ส่งมอบเดือน Jul’20 ซึ่งเพิ่งขยับขึ้นเป็นมาเป็นสัญญาส่งมอบเดือนที่ใกล้สุด ได้ดีดขึ้นมา 20% จากต้นอาทิตย์ที่ 22 เหรียญต่อบาร์เรลขึ้นมาเป็น 26 เหรียญต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
ข่าวด้านอุปสงค์หลัก ๆ ที่เข้ามาช่วยคือการเตรียมกลับมาผ่อนคลายเรื่องการเปิดเมืองมากขึ้นของหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และการที่ยารักษาโรคไวรัสโควิดอย่าง Remdesivir ของบริษัท Gilead ก็ดูจะได้ผลทดสอบที่ดี แม้แต่ทางนายแพทย์ Anthony Fauci ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องโรคระบาดของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูงยังกล่าวเลยว่า ยา Remdesivir นี้เป็นเสมือนความหวังของชาวอเมริกา
ทานด้านอุปทานนั้น นอกจากจะได้แรงหนุนจากทางซาอุฯ ตั้งแต่ก่อนเปิดอาทิตย์ว่า ทางพี่ใหญ่ของโอเปกได้เริ่มลดกำลังการผลิตตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนกำหนดแล้ว ตลาดยังได้รับการยืนยังจากประเทศในกลุ่มโอเปกและพันธมิตรอีกว่าเตรียมจะลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันตามสัญญาแน่ ๆ แม้แต่ทางนอร์เวย์ก็ยังเตรียมร่วมลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี
นั้นก็คือข่าวปัจจัยบวกต่าง ๆ ที่ไหลเข้ามาในตลาดที่ทำให้ราคาน้ำมันพลิกตัวกลับมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 20 กว่าปี จากจุดที่ราคาส่งมอบในบางพื้นที่ถึงกลับติดลบ
แต่เราต้องอย่าลืมว่าข่าวทั้งหมดนั้นเป็นความหวังหรือแนวโน้มล้วน ๆ ยังไม่ได้มาจากสภาพตลาดที่ดีขึ้นแล้วจริง ๆ จริงอยู่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆนั้นคงไม่มานั่งรอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยปรับตัวขึ้นเพราะนักลงทุนไม่รอแน่ ๆ ถูกแล้วที่ราคาควรปรับตัวสูงขึ้นในอาทิตย์ที่ผ่านมา ประกอบกับแรงซื้อทางเทคนิคเพราะราคา Brent กลับมาปิดตัวเหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 อาทิตย์
แต่เรายังต้องจับตามองกันอีกหลายประเด็น เพราะถ้าปัจจัยที่กล่าวไปด้านบนเหล่านี้ไม่สามารถลดอัตราการล้นของถังน้ำมันทั่วโลกลงได้จริงนั้น ราคาก็ยังเสี่ยงต่อการโดนเทขายอีกครั้ง
ถ้าใครยังไม่ได้อ่านบทความเรื่อง “Flatten The Oil Curve” ขอแนะนำให้ลองอ่านบทวิเคราะห์นั้นดูก่อนนะครับ เพราะจะได้เข้าใจจุดประสงค์ของการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกจริง ๆ ว่าทำไมถึงพยายามลดถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหยุกการล้นของน้ำมันต่อไปได้
ท่านใดที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว คงอยากจะหาคำตอบว่าถังน้ำมันทั่วโลกจะเต็มไหม ? เรายังเหลือที่เก็บอีกมากน้อยเพียงใด ? วันนี้จึงอยากนำข้อมูลมาเชร์กันครับ
จากรายงานล่าสุดของ Bank of America ที่เพิ่งออกมานั้นเผยว่า ถังน้ำมันของโลก (ไม่รวมเรือน้ำมันที่ลอยอยู่) เหลืออยู่เพียง 730 ล้านบาร์เรลเท่านั้น โดยแยกเป็น
1. ถังน้ำมันบนดินแบบฝาลอย (Floating Top) ในสหรัฐและทั่วโลกรวมกัน 500 ล้านบาร์เรล
2. คลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ที่สหรัฐฯ จีน เกาหลี และอินเดีย รวมกัน 150 ล้านบาร์เรล (สหรัฐฯ และทั่วโลกรวมกัน 500 ล้านบาร์เรล
3. ถังน้ำมันบนดินแบบธรรมดาและที่เก็บน้ำมันในถ้ำต่าง ๆ รวมอีก 80 ล้านบาร์เรล
ลองมาคำนวนกันว่าถังน้ำมันจะเต็มเมื่อไหร่ ?
1. หากการใช้น้ำมันในปัจจุบันที่ยังมีน้อยกว่าการผลิตอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โลกผลิต 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่มีการใช้เพียง 70 ล้านบาร์เรลต่อวันเวลานี้) แปลว่าถังน้ำมันเหล่านี้จะเต็มภายใน 730/30 = 24 วัน หากทางโอเปกไม่ทำอะไรเลย
2. หากทางกลุ่มโอเปกและพันธมิตรลดกำลังการผลิตได้เกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันตามสัญญาได้จริง ๆ ในเดือนนี้ แปลว่าจะช่วยให้อัตราการล้นของน้ำมันลดลงมาเป็น 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน แปลว่าถังน้ำมันเหล่านี้จะเต็มภายใน 730/20 = 36 วัน
3. หากทางกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ นอกกลุ่มอย่างสหรัฐฯ แคนนาดา บราซิล นอร์เวย์ ที่สัญญาว่าจะช่วยลดให้อีกรวมกว่า 5 ล้านบาร์เรลต่อวันได้จริง ๆ ก็จะช่วยให้อัตราการล้นของน้ำมันลดลงมาเป็น 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน แปลว่าถังน้ำมันเหล่านี้จะเต็มภายใน 730/15 = 48 วัน
4. หากการใช้น้ำมันจากการเริ่มเปิดประเทศต่าง ๆ ทยอยเกิดขึ้นจริงภายในเดือนนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าการใช้น้ำมันจะผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมาษยน และทยอยปรับขึ้นมาประมาณ 5%-10% ต่อเดือน จนกลับมากลายเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หากการใช้น้ำมันกลับมาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แปลว่าการใช้ในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดอัตราการล้นของน้ำมันลดลงมาอีก 5 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อเดือนโดยเฉลี่ย
หากเราลองใช้เลข 3 เดือนข้างหน้าเฉลี่ยที่น้ำมันล้นลดลงไป 10 ล้านบาร์เรลต่อวันมาคำนวน ก็จะช่วยให้อัตราการล้นของน้ำมันลดลงมาเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แปลว่าถังน้ำมันเหล่านี้จะเต็มภายใน 730/5 = 146 วัน หรือ โลกยังมีเวลาอีก 5 เดือน ก่อนถังน้ำมันจะเต็มถ้าทุกปัจจัยเป็นไปตามแผน
**การคำนวนนี้ยังไม่รวมน้ำมันที่ยังสามารถไปลอบได้บนเรืออีกด้วย ซึ่งมีรายงานว่ามีเรือลอยน้ำมันอยู่ทั่วโลกแล้วที่ 250 ล้านบาร์เรล แต่ยังไม่มีรายงานว่ายังเหลือที่อีกเพียงเท่าไหร่
หากการใช้กลับมาจริงตามนี้และกลุ่มโอเปกยังมีวินัยจนถึงสิ้นปี 5 เดือนนั้น ถือเป็นเวลาเพียงพอที่จะทำให้ถังน้ำมันไม่ล้นจนเต็มและตลาดจะกลับมาสมดุลอีกครั้ง และเราคงเห็นราคา Brent ดีดขึ้นไปยืนเหมือน 40 เหรียญได้ก่อนสิ้นปี เพราะภายใน 3-4 เดือนการผลิตน้ำมันก็จะเริ่มลดลงมาน้อยกว่าการใช้น้ำมันแล้ว
ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานนี้จะเป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันในอนาคต ไม่ว่าการใช้จะกลับมาช้าหรือเร็วกว่าที่คาด การลดกำลังการผลิตจะเป็นไปได้มากน้อยตามสัญญาเพียงใด แต่ตราบใดที่ถังน้ำมันยังไม่ล้นตลาดก็ยังมีความหวัง
เพราะทุกท่านคงทราบกันดีแล้วหากถังน้ำมันนั้นล้นเต็มจริง ๆ ราคาจะโดนเทขายลงมาได้หนักแค่ไหนอย่างที่เราเห็นกับราคาน้ำมัน WTI ในอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ
KP
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/108586193028066/posts/538767010009980/