บทความนี้เป็นบทความที่ FINNOMENA ทำร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร สามารถติดตามคอนเทนต์การเงินอัปเดตทุกวันจากการเงินธนาคารได้ที่ https://www.moneyandbanking.co.th/
“ทอง” คือ สินทรัพย์ปลอดภัย หลาย ๆ คนอาจจะได้ยินประโยคนี้กันมาจนหนาหู และก็สรุปกันขึ้นมาว่า งั้นช่วงเวลาที่ไม่ปลอดภัยอย่างช่วงวิกฤติ ก็คือช่วงเวลาที่ทองจะได้เฉิดฉายงั้นสิ ซึ่งแต่ก่อนผมเองก็เคยเชื่อเช่นนั้น
ตอนสมัยที่ผมเรียนอยู่ ผมเองก็เคยสังสัยว่าทำไมช่วงตอนปี 2008 ทองถึงลงมาได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงวิกฤติ และก็ได้คำตอบมาเพียงว่า “ยามวิกฤติคนจะถือเงินสด” ซึ่งก็ไม่ได้คลี่คลายความสงสัยในหัวผมเลย (งงกว่าเดิม) นอกจากนั้นหากไปศึกษาเพิ่มเติม ปัจจัยที่ส่งผลต่อทองคำมันก็เยอะเหลือเกิน เช่น ความไม่แน่นอน (ไม่ปลอดภัย) ภาวะเศรษฐกิจ ความเสี่ยงค่าเงิน เงินเฟ้อและอื่น ๆ
แต่สิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนโฟกัส ณ จุดนี้ก็คือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่มีความสำคัญและส่งผลต่อราคาทองคำ ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งบทความนี้ผมก็จะพาทุกคนไปพิสูจน์กันว่า ทำไมทองกับเงินเฟ้อถึงไปด้วยกันได้ดี ซึ่งสิ่งนี้ก็จะไปตอบคำถามในส่วนที่ว่าทำไม “หุ้นขึ้นทองขึ้น และหุ้นลงทองลง” เช่นกัน
ตัวแปรหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อทองล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด “เงินเฟ้อ”
ก่อนจะลุยไปถึงพระเอกของบทความนี้ผมขอเกริ่นในส่วนของปัจจัยพื้นฐานหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองคำก่อนละกันครับ ประกอบไปด้วย ค่าเงินดอลลาร์ เสถียรภาพของธนาคารกลาง อัตราดอกเบี้ย มาตรการต่าง ๆ จากธนาคารกลาง รวมถึงอื่น ๆ
หากเราสังเกตตัวอย่างข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าตัวแปรต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวไว้ล้วนมีความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อ เช่น ค่าเงินดอลลาร์ที่หากเกิดเงินเฟ้อค่าเงินจะอ่อนลง เสถียรภาพของธนาคารกลางที่หากมีเงินสำรองน้อยจนน่าเป็นห่วงอาจทำให้เกิดเงินทุนไหลออก (Capital outflow) ที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่หากลดลงเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการต่าง ๆ จากธนาคารกลางอย่าง QE หรือ QT ที่ส่งผลต่อปริมาณเงินในระบบและส่งผลต่อเงินเฟ้อ
ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า “เงินเฟ้อ” เป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่ใช้ขับเคลื่อนราคาทอง เราจึงอาจใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ไปเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ราคาทองคำเพิ่มเติมได้
หุ้นขึ้นทองขึ้น หุ้นลงทองลง เพราะอะไร? เช็กผ่านความคาดหวังเงินเฟ้อ
ราคาทองคำที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอย่างแพร่หลายจะถูกนำไปจับคู่กับสกุลเงินประเทศมหาอำนาจอย่าง “ดอลลาร์” ดังนั้นเส้นความคาดหวังเงินเฟ้อที่ว่าผมจึงใช้ของอเมริกาเป็นหลักครับ ซึ่งหากดูจากภาพก็จะเห็นได้ว่า ทองคำและเงินเฟ้อ นั้นไปด้วยกันได้ค่อนข้างชัดเจน แต่จะมีบางช่วงที่มีการเหลื่อมลํ้ากันบ้าง โดยทองคำในบางทีอาจจะให้สัญญาณก่อนเงินเฟ้อ หรือบางทีเงินเฟ้ออาจให้สัญญาณก่อนทองคำ
มันหมายความว่าอะไร? เราอาจจะใช้ช่วง Gap เวลาที่ว่าเป็นสัญญาณเข้าซื้อหรือขายทองคำได้ เช่น เมื่อความคาดหวังเงินเฟ้อเริ่มขึ้น เราอาจจะลองเข้าซื้อทองคำ หรือเมื่อความคาดหวังเงินเฟ้อเริ่มลง เราอาจจะทยอยขายทองคำ
ในขณะเดียวกันในบางช่วงหากทองคำเริ่มปรับตัวลง แต่ความคาดหวังเงินเฟ้อยังไม่ลง เราก็อาจจะคาดเดาได้ว่าเงินเฟ้ออาจจะลดลงในอนาคตเช่นกัน (ขาขึ้นก็กลับกันครับ)
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคาดหวังเงินเฟ้อ (10 ปี) กับทองคำตั้งแต่ก่อนวิกฤติปี 2008 ถึงปัจจุบัน
ผมอยากให้โฟกัสตรงส่วนที่เป็นวงสีแดงสักนิดจะสังเกตได้ว่าความคาดหวังเงินเฟ้อ (เส้นสีขาว) เริ่มเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทาง (sideway) ก่อนทองคำ (เส้นสีฟ้า) จะปรับตัวไร้ทิศทาง ณ จุดนี้เราอาจใช้เป็นสัญญาณที่บอกว่าทองคำกำลังจะเข้าสู่ช่วง sideway ในอนาคต
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคาดหวังเงินเฟ้อ (10 ปี) กับทองคำช่วงล่าสุด
ความคาดหวังเงินเฟ้อมีการปรับตัวลงหรืออาจจะสื่อว่าหุ้นกับทองกำลังจะปรับตัวลง?
แล้วมันใช้กับหุ้นได้อย่างไร?
โดยปกติแล้วเวลาเศรษฐกิจเติบโตจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนจับจ่ายใช้สอยต่อไป เช่น ของแพงขึ้นนิด ๆ เงินเดือนปรับขึ้นหน่อย ๆ ทำให้คนพร้อมใช้จ่ายต่อเนื่อง ดังนั้นหากจะสรุปได้ว่า เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นเติบโตก็คงไม่ผิดนัก เพราะหุ้นเองก็ราคาเติบโตจากการที่บริษัทต่างๆ ขายสินค้าหรือบริการและทำกำไรกันได้ ดังนั้นเราจึงอาจนำเส้นความคาดหวังเงินเฟ้อที่ว่ามาใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าช่วยซื้อหุ้นได้เช่นกัน (หุ้นขึ้นเงินเฟ้อขึ้น หุ้นลงเงินเฟ้อลง)
รวมถึงอาจจะใช้หลักเกณฑ์ที่ราว ๆ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทางธนาคารกลางส่วนใหญ่เล็งไว้ (หากตํ่ากว่านั้น ๆ มากหุ้นอาจไม่ไปต่อ)
“ทองคำ” กับ “หุ้น” สัมพันธ์กันในเชิงบวก
ดังนั้นเราอาจจะสรุปได้ว่า ทองคำและหุ้น จริง ๆ แล้วมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันและเข้ากัน เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ต่างก็ส่งผลให้ทองคำและหุ้นปรับตัวขึ้น ซึ่งขาลงก็เช่นเดียวกัน
สรุปส่งท้าย ก่อนจากกัน…
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับไอเดียการลงทุนในวันนี้ จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่วนตัวผมเองก็สงสัยมานานแล้ว และก็ต้องขอขอบคุณ คุณณัฏฐะ จาก KTAM ต้นไอเดียของเรื่องนี้ ซึ่งผมมองว่าตัวแปรอย่างความคาดหวังเงินเฟ้อนั้นค่อนข้างเมคเซ้นส์และน่าจะนำมาใช้ได้จริง จึงนำมาขยายความเพิ่มเติม เพราะจากที่ผมสังเกตนักลงทุนที่เก่ง ๆ ระดับโลกหลายคนก็ใช้ “เงินเฟ้อ” เป็นหนึ่งในปัจจัยวิเคราะห์การลงทุน เช่นเดียวกัน ผมเลยอยากมาแชร์ให้ทุกคนได้ฟังกันครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์
หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือและอาวุธในการลงทุนให้กับทุกคนได้นะครับ สำหรับวันนี้ผมขอลาไปก่อน
ขอให้ทุกคนโชคดีในการลงทุนครับ
เขียนโดย Mr.Serotonin
finnomena.com/mrserotonin/