เมื่อต้องช่วยภรรยาที่เป็นแอร์โฮสเตสวางแผนการเงินช่วงไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด
This did not base on true story, but this is true story.
ผมขอเขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นการแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กับการจัดการปัญหาการเงินภายในครอบครัว เมื่อหนึ่งในครอบครัวกำลังประสบปัญหาสูญเสียรายได้จากงานประจำที่ทำเพราะการระบาดของไวรัส COVID-19
ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผมและภรรยาได้ติดตามข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อยู่ตลอด และคอยประเมินสถานการณ์ว่าจะแพร่ระบาดขยายวงกว้างมาในประเทศไทยหรือเปล่า จะกระทบกับงานที่ภรรยาทำอยู่หรือไม่ และที่สำคัญการวางแผนการเงินในครอบครัวเราพร้อมเผชิญหน้ากับการเจ็บป่วย และการระบาดของไวรัสวายร้ายตัวนี้มากน้อยเพียงใด
ประการแรก ภรรยาผมตั้งคำถามเสมอว่า ถ้าเธอไม่มีบิน ไม่มีรายได้ เหลือแต่เงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท จะเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่? ณ วันนั้นยังไม่มีนโยบาย Leave without pay เหมือนที่เราเห็นในเดือนมีนาคมนี้กับแทบทุกสายการบิน สิ่งนี้จึงทำให้คำถามที่นักวางแผนการเงินหลายคนชอบตั้งคำถามกับลูกค้าเสมอว่า
“หากวันนี้คุณตื่นเช้ามาแล้วไม่มีรายได้ คุณและครอบครัวของคุณจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ”
ผมแทบจะคอยพูดย้ำกับภรรยาบ่อย ๆ ด้วยคำถามนี้ อย่างน้อย แทบทุก ๆ 6 เดือน เราจะมีคำถามนี้ถามกันเสมอ และคอยทบทวนเงินเก็บ แผนการเงินของเรา ว่าเพียงพอหรือไม่ หากตื่นมาเราพบว่าเราไม่ต้องไปทำงาน และไม่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หนี้สินในแต่ละเดือนจะเพียงพอหรือเปล่า? ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ มีภาระอะไรหรือไม่ที่เราจะแบกรับไม่ไหว
โชคดีที่ภรรยาผมเป็นคนเก็บเงินเก่ง เธอบอกว่าน่าจะพออยู่ได้!
แต่ความท้าทายไม่หมดแค่นั้น เมื่อชีวิตคนที่เป็นแอร์โฮสเตสหรือคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ไม่ได้ทำงานแบบมนุษย์ออฟฟิศทั่วๆ ไปมักจะประสบปัญหาหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ ไม่รู้ว่าค่าครองชีพที่แท้จริงของตัวเองในแต่ละเดือน คือ เท่าไหร่? นั่นหมายถึงว่า หากคุณไม่ต้องไปบิน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในแต่ละเดือน 12,000 บาท พอหรือเปล่า หรือว่า 20,000 บาทถึงจะพอ เราต้องหาตัวเลขของเราแต่ละคนตรงนี้ให้เจอ เพราะเราจะใช้ตัวเลขนี้ คูณ 6 หรือ 12 เพื่อให้รู้ว่าเรามีเงินเก็บพอที่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหน
เช่น ถ้าเราใช้เดือนละ 20,000 บาท ถึงจะอยู่ได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แปลว่าถ้าไวรัสแพร่ระบาดนาน 6 เดือน สายการบินปิดให้บริการนาน 6 เดือน เราจำเป็นต้องมีเงินเก็บเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ 20,000 x 6 = 120,000 บาท
แต่ก็มีอีกคำถามที่ผมถามภรรยาเสมอเช่นกัน แล้วถ้าต้องการใช้เงินก้อนนี้คุณพร้อมจะถอนออกมาใช้ได้เลยนะ มันมีสภาพคล่องเพียงพอใช่หรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่ย้ำในจุดนี้ แต่ภรรยานำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้เงินแล้วเกิดพอร์ตการลงทุนมีปัญหา มูลค่าเงินต้นลดลง ก็จะกระทบต่อแผนการดำรงชีพด้วยเช่นกัน
ผมว่าถึงจุดนี้ หลาย ๆ คนเริ่มน่าจะกดเครื่องคิดเลขตามผมแล้วใช่หรือเปล่าครับ ว่าภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเป็นเท่าไหร่ และตัวเองมีเงินเก็บอยู่ที่ไหนบ้าง เตรียมพร้อมที่จะใช้จ่ายให้เพียงพอในแต่ละเดือนแล้วหรือยัง !?!
แต่ถึงอย่างนั้นนะครับ ผม 2 คนก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้มีสภาพคล่องที่มากพอ ที่จะทำให้เราดำรงชีพได้อย่างสบายใจ ยิ่งช่วงนี้ผมและภรรยามีลูกเล็ก 1 ขวบครึ่งที่ต้องคอยดูแล นั่นทำให้พวกเรามักจะไม่ค่อยได้อยู่บ้านที่ซื้อไว้เท่าไหร่ (เพราะต้องมาอยู่กับคุณปู่คุณย่า หรือไม่ก็คุณตาคุณยายเพื่อช่วยกันดูแลหลานตัวน้อย) และนั่นก็เป็นบ้านที่อยู่ใกล้สนามบินเพราะจะได้สะดวกภรรยาผมเวลาไปบิน
กำลังคิดใช่ไหมครับ ว่าแผนการเงินข้อต่อไปของผมคืออะไร
ใช่แล้วครับ! ผมกำลังวางแผนที่จะขายบ้านครับ !?!
บ้านหลังแรกในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ ><
อาจจะทำใจยากสักหน่อยตอนแรกที่บอกว่าจะขายบ้านหลังนี้ แต่เมื่อนึกย้อนกลับไปตอนที่เราซื้อ การขายบ้านหลังนี้ก็เป็นแผนสำรอง (Plan B) ที่เรามองไว้เหมือนกัน เพราะตอนเราซื้อบ้าน เราได้เล็งทำเล และรูปแบบบ้านไว้แล้ว ว่าต้องสามารถขายต่อได้ไม่ยากจนเกินไปนัก แล้วนี่ทำไมผมวางแผนการเงินไม่ดี จนถึงขั้นต้องขายบ้านเลยหรือ?
ผมคิดว่าหลาย ๆ คนคงมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันออกไปครับ อย่างที่บอกในตอนแรก ว่าบันทึกนี้เป็นหนึ่งเรื่องที่ผมอยากจะแบ่งปัน ดังนั้น การวางแผนการเงินของผมจึงไม่มีถูกและผิดสำหรับใคร ๆ นะครับ
ว่ากันต่อเลยดีกว่า ว่าการขายทรัพย์สินมันมีผลอย่างไรต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้…
พอภรรยาเริ่มไม่มีบิน สิ่งที่เรามองกันถัดมาก็คือ หรือถึงเวลาที่ภรรยาผมต้องเปลี่ยนอาชีพ ต้องหาอาชีพที่ลดความเสี่ยง อาจจะเพิ่มเวลาได้อยู่กับลูกมากขึ้น ดังนั้น บ้านหลังนี้ที่เราซื้อในตอนแรก อาจจะไม่ตอบโจทย์กับแผนชีวิตที่เปลี่ยนไป ถ้าเรารีบขายตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะพอมีเวลาให้เราได้ตั้งหลัก และวางพิมพ์เขียวให้ชีวิตใหม่ได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญ มันจะช่วยลดภาระที่เรียกว่า “Fixed Cost” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนละเกือบ 20,000 บาท ของผมและภรรยาได้เลย คุณผู้อ่านเห็นตัวเลข 20,000 บาทที่ผมจะประหยัดตรงนี้ได้ไหมครับ? เพราะผมบอกภรรยาทันทีที่คุยกันเรื่องขายบ้านว่า “ถ้าขายบ้านได้ ผมจะมีเงินให้คุณใช้เดือนละ 20,000 บาทฟรี ๆ เลย” เพราะนั่นจะทำให้ผมมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และภรรยาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมานั่นเอง
สรุปแผนที่สองก็คือการหันมาจัดการกับสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็น หรือทบทวนเป้าหมาย แผนการในชีวิตร่วมกันใหม่ เราต้องการใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน เราต้องการให้ลูกเข้าเรียนที่ไหน เราต้องการสร้างครอบครัวของเราอย่างไร?
กลับมาที่ปัจจุบันกลางเดือนมีนาคม 2563 เหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ การระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย อยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเราจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้หรือไม่? เหนือสิ่งอื่นใด สายการบินต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาด พากันประกาศหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว ทั้งด้วยปัจจัยการปิดประเทศของหลาย ๆ ประเทศ จำนวนผู้โดยสายที่ต้องกักตัว ไม่มีการเดินทางในช่วงนี้ และในที่สุดภรรยาผมก็ได้รับประกาศเช่นเดียวกันกับสายการบินอื่น ๆ
“สายการบินเตรียมยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป “
ในที่สุดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น เมื่อย้อนกลับไปอ่านประโยคข้างบน ที่นักวางแผนการเงินมักจะคอยถามลูกค้าอยู่เป็นประจำว่า “หากวันนี้คุณตื่นมาแล้วไม่มีงานทำประมาณ 6 เดือน คุณมีเงินเก็บเพียงพอหรือไม่” ประโยคนี้ไม่ได้ทำให้ภรรยาผมรู้สึกร้อนรนมากเท่าใดนัก เพราะเธอรู้ว่าเรามีการเตรียมการกันตลอดเวลา ไม่ว่าผมจะช่วยดูแลด้านการเงินให้ภรรยาหรือไม่ก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่าเธอสามารถบริหารเงินเก็บที่เตรียมมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และก่อนที่ผมจะเขียนบทความนี้ไม่กี่ชั่วโมง สิ่งที่ผมไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น!!
ภรรยาถามผมในช่วงมื้อค่ำว่า… “ช่วงนี้มีหุ้นอะไรน่าลงทุนบ้าง?”
ประการสุดท้ายที่ผมอยากแบ่งปันนั่นก็คือ ไม่ใช่แค่การเตรียมพร้อมในภาวะฉุกเฉิน แต่เราต้องเริ่มวางแผนที่จะต่อยอด และขยายสินทรัพย์ที่เรามีให้งอกเงยต่อไปในอนาคต เพราะแผนของชีวิตเราคงไม่ได้หยุดอยู่แค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่เราต้องมองถึงเป้าหมายในการเก็บเงินส่งลูกเรียน เป้าหมายในการเกษียณต่าง ๆ
ก่อนหน้านี้ผมเองก็ได้เริ่มให้ภรรยาวางแผนเก็บเงินเกษียณ 10 ล้านบาท ให้ภรรยาเก็บเงินยาว ๆ เลย 29 ปี ผ่านแอปพลิเคชั่นฟินโนมีนา ถ้าใครอยากลองสร้างแผนการเงินเหมือนภรรยาผมก็ลองกดไปดูรายละเอียดที่ลิงค์นี้กันได้นะครับ https://www.finnomena.com/goal/
กลับมาที่ภรรยาสนใจเรื่องการลงทุนกันต่อครับ ^^
เป็นอะไรที่ผมดีใจมาก ๆ เหมือนกัน ในที่สุดภรรยาก็เอ่ยปากที่อยากจะศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเอง มากกว่าที่จะบอกให้ผมไปจัดการให้ ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากจะช่วยดูแลนะครับ ที่ผ่านมาก็ช่วยดูแลตลอด แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่าคนเราทุกคนควรจะมีความสามารถหรืออย่างน้อยก็สนใจที่จะดูแลทรัพย์สินของตัวเองได้ ในรูปแบบที่ตัวเองถนัดและเหมาะสม ผมเองจึงรีบบอกภรรยาเลยว่า ถ้าเป็นเรื่องหุ้นหรืออนุพันธ์ผมจะไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ถามเรื่องกองทุนก็พอได้
“ถ้าอย่างนั้นเขามีเปิดอบรมหรือเปล่า ช่วงที่ไม่มีบินจะได้ไปอบรม” ภรรยากล่าว…
เอาแล้วสิครับคุณผู้อ่าน หลังจากช่วง COVID-19 ผ่านพ้นไป ลองมาติดตามกันว่าภรรยาผมจะเริ่มลงทุนในอะไรบ้าง และมีอะไรที่เอามาแบ่งปันกันได้ ก็จะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ
สามารถกดติดตามและให้กำลังใจกันได้ผ่าน Facebook page #พ่อบ้านหาตังค์ นะครับ
#husbandmakesmoney #คิดจะพักคิดถึงภาระ