จากที่เคยได้เขียนกรณีของ Dubai และ Greece ไปแล้วก่อนหน้านี้ วันนี้เราจะมาคุยกันกรณีที่กำลังอยู่ในที่สนใจของชาวอเมริกัน และนักลงทุนทั่วโลก นั่นคือกรณีที่ Investment Bank อันดับหนึ่งของอเมริกา นั่นคือ Goldman Sachs Group (“Goldman”) ถูกฟ้องโดย กลต. ของสหรัฐฯ (“SEC”) จากกรณีที่ทีม Sales ของ Goldman ขาย CDO ให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันพอร์ต Proprietary trade ของ Goldman ก็ทำการ Short ตราสารลักษณะเดียวกัน และทำกำไรอย่างมหาศาล
ก่อนอื่นไปดูที่คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อสั้น ๆ ครับ
(1) CDO = Collateralized Debt Obligation อธิบายโดยง่าย คือการนำสินเชื่อมารวมกันเป็นก้อน และใช้ค้ำประกันตราสาร ซึ่งสำหรับกรณีนี้จะเป็นสินเชื่อประเภท Mortgage ซึ่งมูลค่า CDO ก็จะผันผวนไปตามราคาอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา (2) SEC = Securities Exchange Commission ภาษาไทยก็คือ (“กลต.”) ทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน (3) Proprietary trade = คือหน่วยงานลงทุนที่มีเป้าหมายในการแสวงหากำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน (4)Sales = ในที่นี้คือทีมงานขายตราสารหนี้ประเภท CDO ซึ่งในการขายแต่ละครั้งก็จะได้รับค่าธรรมเนียมในการขาย โดยมากคิดเป็นเปอร์เซนต์ของมูลค่า CDO ที่ขายได้
Carl Levin ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยอีเมล์ฉบับหนึ่งของ Lloyd Blankfein ซึ่งเป็น CEO ของ Goldman ซึ่งเนื้อหาแสดงถึงการหาแนวทางในการเสนอขายตราสารประเภท CDO อย่างเร่งรีบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับงบดุลของ Goldman และตอนหนึ่งในอีเมล์ได้ระบุค่อนข้างชัดว่าตราสารประเภทที่เสนอขายกำลังมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีนัก (“Could/should we have cleaned up these books before and are we doing enough right now to sell off cats and dogs in other books throughout the division,” Blankfein, wrote in an email dated on Feb 11, 2007”) อย่างไรก็ตาม Blankfein ได้โต้ตอบในสภาว่า “Cats and Dogs” ใน อีเมล์ฉบับนี้ ไม่ได้หมายถึงราคาอสังหาฯของอเมริกาแต่อย่างใด แต่หมายถึงเรื่องจิปาถะทั่วไป และเรื่องอายุของตราสารที่ถูกดองอยู่ในพอร์ตของบริษัทมาค่อนข้างนาน ซึ่งในประเด็นนี้ จากความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้นไม่เห็นด้วยกับคุณ Blankfein เท่าไรนัก ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงถึงความพยายามของทีม Sales ในการที่จะชูจุดขายของเจ้า CDO ที่ว่านี่อีกหลายตัวประกอบกัน
รูป Lloyd Blankfein, CEO ของ Goldman Sachs
โดยสรุป Goldman ถูกกล่าวหาว่า ได้ทำกำไรอย่างมหาศาล ขณะที่ทำให้ลูกค้าเสียผลประโยชน์ ในไตรมาส 3 ปี 2550 งบการเงินของ Goldman ได้มีกำไรสุทธิที่สูงถึง 2.85 พันล้านเหรียญ เติบโตถึง 79% จากการ Short ตราสาร Subprime ขณะที่ลูกค้าหลายรายที่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ CDO ของ Goldman ได้รับผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก ในเวลาถัดมา
ทาง Goldman ได้แก้ข้อกล่าวหาว่า ทางทีม Sales และทีมที่ดูแลพอร์ตของบริษัทนั้น มี Chinese wall เพื่อแยกทั้งสองแผนกออกจากกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกลต. ทุกประการ ขณะที่ในการขายตราสาร CDO ทางทีม Sales ก็ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงความเสี่ยงทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับ CDO ดังกล่าวให้กับลูกค้าอย่างครบถ้วน และไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือกฎกลต. ในการที่พอร์ตลงทุนของ Goldman จะมีสถานะตรงข้างกับพอร์ตของลูกค้า
ผลสำรวจโดย CNBC Poll จากผู้โหวตออนไลน์ 12,381 คน ณ เวลา 17.17 น. ของวันที่ 28 เมษายน 2553 ระบุว่า
12% มองว่า Goldman ผิดทางอาญา
25% มองว่า Goldman ผิดทางจริยธรรม
27% มองว่าผิดทั้งทางอาญา และทางจริยธรรม
37% มองว่าไม่ผิดทั้งทางอาญา และจริยธรรม
คุณละครับ มองว่าอย่างไร
ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของคุณในเวบบอร์ดที่ http://fundmanagertalk.com/forum โดยสามารถ login ได้โดยใช้ facebook หรือ twitter ของคุณ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ