อ่านจั่วหัวแล้วรู้สึกอย่างไรครับ คิดถึงหนังเข้าใหม่? กลัวมากขึ้น? หรือตกใจไหม?
ที่จริงแล้ว ผมเองก็ไม่เชื่อว่าตลาดทุนจะต้องมาถึงจุดสิ้นสุดเพราะปัญหาไวรัสระบาดครั้งนี้ แต่ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ทั่วโลกในปัจจุบัน กำลังสื่อความหมายที่น่ากลัวระดับอวสานของตลาดการเงินอยู่
ไล่ตั้งแต่ดัชนีหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ปรับตัวลงเป็น 10% ในไม่กี่วัน หลายที่ทำจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว ไปจนถึงบอนด์ยีลด์ที่ก็ทยอยทำสถิติต่ำสุดตลอดการครั้งใหม่บนความกังวลของนักลงทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ขณะที่ความผันผวนทั้งจากฝั่งเศรษฐกิจและนโยบายทั่วโลกก็กำลังต่อคิวตามมาไม่หยุด
ไม่ช้าก็เร็ว ตลาดการเงินจะต้องรับมือกับความเสี่ยงทั้งหมดนี้พร้อมกัน แม้ตลาดทุนจะรอดจากจุดจบ แต่ก็คงมีหลายเรื่องที่อาจพบกับ “อวสาน” ในปีนี้
เรื่องแรกที่ผมคิดว่าเราจะต้องเจอคือ อวสานของนโยบายการเงิน
ไม่ใช่แค่เพราะธนาคารกลางไม่ใช่โรงพยาบาล
แต่เป็นอีกครั้งที่ความผันผวน ทำให้กฎเกณฑ์ หรือแนวทางที่ควรเป็นของนโยบายการเงินทั่วโลกไร้ความหมาย
ล่าสุดการที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปที่ทำสถิติต่ำสุดใหม่รายวัน ยิ่งตอกย้ำว่า บทบาทของธนาคารกลางที่เคยเป็น “ผู้ชี้นำตลาด” ได้จบไปอย่างสมบูรณ์แล้ว บนภาวะ inverted yield curve ในปัจจุบัน เหล่าผู้กำหนดนโยบายไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องตามใจตลาดด้วยการผ่อนคลายเชิงนโยบายเพิ่มเติม
และอวสานของยุคสมัยธนาคารกลางนี้ จะทำให้นโยบายทั้งหลายที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถสยบความผัวผวนครั้งนี้ลงได้
ต่อมา เรื่องที่ต้องระวังไม่แพ้กันคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจตกต่ำยาวนานจนกดดันให้ตลาดกระทิงที่อยู่กันมากว่าสิบปี อาจต้องถึงตอนอวสานไปด้วย
เพราะถ้าสังเกตตลาดการเงินให้ดี จะพบว่าประเด็นหลักที่ทำให้การระบาดของไวรัสกลายมาเป็นความผันผวนที่รุนแรงนี้ ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงของโรค แต่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นที่สูงเกินไปของนักลงทุน ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่จะจบลงอย่างรวดเร็ว
สวนทางกับทั้งธรรมชาติของโรคระบาด ที่สามารถกระจายตัว สร้าง exponential growth ได้เรื่อย ๆ ขณะเดียวกันแนวทางการควบคุมโรคและความกลัว ก็ส่งดูจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจยาวนานเกินกว่าที่หลายสำนักคาดไว้จนต้องปรับแล้วปรับอีก
ขณะที่แนวทางลดความผันผวน ถ้าไม่ใช่นโยบายการเงิน ก็มีเพียงการเพิ่มสภาพคล่อง หรือการอัดฉีดทางการคลัง ซึ่งทำได้แค่เยียวยาความเสียหาย แต่ไม่สามารถหยุดความผันผวนได้ทันที จึงมีความเป็นไปได้มากที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะไม่กลับมาทันที
จนท้ายที่สุด ตลาดอาจต้องจบภาวะกระทิงลงในปี 2020 นี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ผมยังคงมีความหวัง และอยากให้ทุกคนในตลาดการเงินอย่าหมดหวัง
เพราะเชื่อเถอะว่าในท้ายที่สุด สิ่งที่จะต้องพบจุดจบจริง ๆ จะไม่ใช่ตลาดการเงิน แต่เป็น วิกฤติไวรัสระบาด
ที่ผมบอกเช่นนี้ไม่ได้เป็นการให้กำลังใจ แต่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด
เพราะความผันผวนคือสิ่งที่เกิดมาคู่กับตลาดการเงิน บางครั้งอาจต่ำ บางครั้งอาจสูง แต่ในอดีตก็ผ่านมาเหตุการณ์วิกฤติมาได้ทุกครั้ง
เพียงแต่เราต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าที่ตลาดรอดมาได้เสมอ ไม่ได้เป็นเพราะแค่ความแข็งแกร่ง แต่เป็นเพราะตลาดสามารถเปลี่ยนวิธีคิดให้เข้ากับสถานการณ์ได้
เช่นในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าตลาดเปลี่ยนตัวเองจาก discounting mechanism ที่มองรายได้และอนาคต เช่นหุ้น ไปเป็น voting mechanism ที่มองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หรืออะไรที่สามารถดึงความผันผวนมาเป็นจุดเด่นได้ในที่สุด เช่นทองคำ
และสุดท้ายต้องจำไว้เสมอด้วยว่าความผันผวน เหมือนคนใจร้อนที่ติดไวรัสและอยากหายเร็ว ๆ แต่ทางที่ดีที่สุดอาจแค่ต้องตั้งสติ พบแพทย์ และพักผ่อน
เพราะความผันผวนที่สูงไม่ใช่ธรรมชาติของตลาด ในขณะเดียวกัน แม้จะเป็นวิกฤติระยะสั้น แต่ก็มักเป็นโอกาสของคนที่รู้จักปรับตัวและมีความอดทนในระยะยาวไปพร้อมกัน
อย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนเก่งที่สุดในโลกชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “ตลาดทุนคือเครื่องมือส่งผ่านความมั่งคั่งจากคนใจร้อนไปสู่ผู้มีขันติ”
ตั้งสติ และจับตาดูตอนอวสานของหลายเรื่องในตลาดการเงินช่วงนี้ไว้ให้ดีครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์