ลงทุนหุ้นปันผล

เวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนานอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีลักษณะของการเก็งกำไรร้อนแรงเพื่อหวังจะทำกำไรจากการซื้อขายเร็ว ๆ ดูเหมือนจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นรายย่อยและไม่มีข้อมูลพิเศษหรือไม่ได้เป็นรายใหญ่ที่ซื้อขายมากและมีพลังในการขับเคลื่อนราคาหุ้นมักจะขาดทุน แน่นอนว่าในช่วงสั้น ๆ ก็อาจจะกำไรบ้าง แต่หุ้นอาจจะขึ้นเพียงไม่กี่วันก็ตกกลับลงมาและมักจะต่ำกว่าที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ ดังนั้น การเล่นหุ้นเก็งกำไรจึงเป็นกลยุทธ์ที่มักจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาแบบนี้

การเล่นหุ้น “เติบโต” ซึ่งเป็นกระแสการเล่นหุ้นของนักลงทุนไทยต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้เองก็ดูเหมือนว่าจะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาก็คือ หาหุ้นเติบโตจริง ๆ ค่อนข้างยากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่อำนวย นอกจากนั้น การเติบโตระยะยาวต่อจากนี้ก็น่าจะยากขึ้นอานิสงส์จากการที่ประชากรไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะคนเกิดน้อยลง ทำให้ความต้องการสินค้าผู้บริโภคที่ไม่ใช่สินค้าไฮเท็คยุคใหม่น่าจะไม่ค่อยโต ดังนั้น หุ้นเติบโตที่คนเล่นกันในช่วงเวลานี้ก็มักจะเป็นการเติบโตชั่วคราวหรือไม่โตจริง พอราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปซักพักตามผลประกอบการที่ดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ ปีสองปีก็ตกลงมาอย่างหนักเมื่อผลประกอบการเริ่มแย่ลงตามภาวะของอุตสาหกรรมหรือปัญหาของบริษัทเอง ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นเติบโตเองก็มีความเสี่ยงและเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงเนื่องจากราคาหรือค่า PE ของหุ้นที่สูงลิ่ว

การเล่นหุ้น Defensive หรือหุ้นที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยนั้น ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ Defensive จริง เหตุผลสำคัญก็คือ ราคาของหุ้นบางกลุ่มบางตัวเช่นหุ้นในกลุ่มไฟฟ้า พลังงาน หรือสาธารณูปโภคกลับแพงลิ่ว ค่า PE สูงถึงกว่า 50-60 เท่าขึ้นไปก็มี ดังนั้น ในแง่ของหุ้นแล้ว มันไม่ Defensive เลย

ในภาวะที่ทุกอย่างไม่สดใส การคาดหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นแบบสูง ๆ เกินกว่าปีละ 10% ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะการฝากเงินหรือการซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผมก็คิดว่านี่คือเวลาที่เราควรหันมามองการลงทุนใน “หุ้นปันผล” ที่พอจะหาได้ในตลาดหุ้นแม้ว่าอัตราการปันผลเทียบกับราคาหุ้นอาจจะไม่ได้สูงมากนัก หุ้นปันผลที่ให้อัตราผลตอบแทนปีละประมาณ 4-5% ก็พอจะมีให้ลงทุนและมีจำนวนพอที่จะซื้อหลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงได้

ก่อนที่จะพูดถึงคุณสมบัติของหุ้นปันผลที่จะลงทุนผมเองอยากจะย้อนประสบการณ์ช่วงตลาดหุ้นเหงาหงอยและไม่มีใครสนใจการลงทุนในหุ้นในช่วงหลังปีวิกฤติ 2540 ที่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้นเต็มตัวและได้เขียนบทความลงในคอลัมน์โลกในมุมมองของ Value Investor ชื่อ “ปันผลเป็นคำตอบสุดท้าย” ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2544 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว ในบทความนั้นผมได้ยกตัวอย่างหุ้น 12 ตัวซึ่งทั้งหมดยังซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นทุกวันนี้ โดยผลตอบแทนจากปันผลหรือ Dividend Yield เฉลี่ยของ “หุ้นปันผล” 12 ตัว ในขณะนั้นก็คือ 8.23% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2-3 % ต่อปีซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้ลงทุนในหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก ผมคงไม่ต้องบอกว่าถ้าใครลงทุนในหุ้นกลุ่มนั้นและถือยาวมาเรื่อย ๆ จะได้ผลตอบแทนรวมเท่าไร เพราะดัชนีตลาดหุ้นในขณะนั้นคือประมาณ 300 จุด และราคาหุ้นกลุ่มนั้นก็ปรับตัวขึ้นตามดัชนีที่ปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,500 จุด หรือ 5 เท่าของเดิม หุ้นยังจ่ายปันผลเกือบทุกตัว แต่ก็ไม่มีหุ้นตัวไหนกลายเป็นซุปเปอร์สต็อก

สำหรับคุณสมบัติของ “หุ้นปันผล” ที่ผมคิดว่าจะปลอดภัยและจะได้ผลตอบแทนที่ดีในวันนี้ก็คือ ข้อแรก มันจะต้องไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีหรือการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอล หรือต้องสามารถอยู่ได้อย่างน้อยในช่วง 10 ปีข้างหน้า ข้อ 2 ) ต้องเป็นบริษัทที่ “สามารถแข่งขันได้” ในอุตสาหกรรมของตนเอง ถ้าเป็นผู้นำด้วยก็ยิ่งดี ข้อ 3) เป็นบริษัทที่อยู่มานานและพิสูจน์แล้วว่าสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เลวร้ายมาหลายรอบแล้ว ข้อ 4) เป็นบริษัทที่มีกำไรที่ดีมา “ตลอด” นั่นคือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างน้อยเกือบ 8% ต่อปีขึ้นไปและในภาวะปกติก็จะได้กำไรและจ่ายปันผลอย่างสมเหตุผล อาจจะมีบางปีที่ขาดทุนได้แต่ก็ต้องไม่มากและเป็นข้อยกเว้น กำไรของบริษัทต้องค่อนข้างสม่ำเสมอ ความผันผวนไม่สูงเช่น บวกลบไม่เกิน 20% เป็นส่วนใหญ่ ข้อ 5) ฐานะการเงินของบริษัทต้องมั่นคง อัตราส่วนหนี้สินต้องไม่สูงเกินไปหรือเกินกว่าอัตราที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าไม่มีหนี้ก็ยิ่งดี

ข้อสุดท้าย ราคาหุ้นต้องไม่แพงหรือถ้าจะดีก็คือถูก ถ้าวัดจากค่า PE ก็คือไม่เกินประมาณ 10-15 เท่า วัดจากค่า PB ไม่เกิน 1-3 เท่า วัดจากค่า Market Cap. ที่สมเหตุผลกับตัวธุรกิจและอุตสาหกรรม และที่สำคัญก็คือ ค่า Dividend Yield หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นควรจะต้องสูงอย่างน้อย 3-4% ต่อปีขึ้นไป ถ้าสูงถึง 5-6% ขึ้นไปได้ก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของข้อนี้ การพิจารณาอาจจะไม่ได้ดูเพียงปีเดียว แต่ควรจะดูย้อนหลังไป 4-5 ปี เพื่อที่จะเห็นว่าหุ้นมีคุณสมบัติแบบนี้จริง นอกจากนั้น ในกรณีที่ปีนี้บริษัทหรือหุ้นอาจจะมีปัญหาบางอย่างแต่ถ้าดูแล้วในที่สุดหรือปีหน้าบริษัทก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แบบนี้ก็อาจจะยังถือว่าบริษัทเป็น “หุ้นปันผล” ที่จะให้ผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีได้

เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นปันผลแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก็คือการติดตามเรื่องของความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะยังสามารถรักษากำไรในระดับที่เพียงพอที่จะจ่ายปันผลได้ตามที่คาดในระยะยาว แน่นอนว่าเราอยากเห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นแต่ไม่ควรคาดหวังเพราะอาจจะทำให้เราเสียใจได้ เช่นเดียวกัน การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีที่อาจจะ Disrupt กิจการของบริษัทก็ยังต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะนี่คือสิ่งที่จะอยู่กับโลกเราตลอดไป และว่าที่จริงทุกธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงทั้งสิ้นที่จะถูกทำลายโดยแนวคิดใหม่ ดังนั้น ทุกบริษัทและนักลงทุนก็ต้องระแวดระวังและปรับตนเองให้แข่งขันได้

การติดตามในเรื่องของราคาหุ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องปกติและเราสามารถติดตามได้ทุกวันหรือทุกนาที แต่สำหรับการลงทุนในหุ้นปันผลนั้น เรื่องราคาจะต้องไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะจดจ่อกับมันมากนัก เพราะวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกของเราก็คือ เราหวังว่าจะได้ “ปันผลตอบแทน” ปีละครั้งหรือสองครั้งหรือมากกว่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เราสนใจมากพอ ๆ กันก็คือ ปันผลเราจะได้ไหมเมื่อถึงเวลาและเราจะได้เพิ่มขึ้นไปอีกในปีต่อไปหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ได้ปันผลและได้เพิ่มไปเรื่อย ๆ ก็คือกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็มีการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนหุ้นและทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มและปันผลต่อหุ้นเพิ่มตาม ดังนั้น ราคาหุ้นในระยะสั้นวันต่อวันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น เราก็ไม่ควรจะสนใจมาก เพราะในที่สุดแล้วถ้าปันผลเพิ่มขึ้น ในระยะยาวราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น เราไม่ต้องกังวลหรือไปลุ้นกับราคาหุ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ปันผลที่มาเป็นกอบเป็นกำนั้น สามารถเพิ่มมูลค่าพอร์ตหรือความมั่งคั่งของเราเท่า ๆ กับราคาหุ้นที่ขึ้นไปเช่นเดียวกัน สำหรับหุ้นหลาย ๆ ตัวแล้ว ปันผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามากจนไม่จำเป็นที่ราคาหุ้นจะต้องขึ้นเลย เพราะปันผลที่ได้รับอาจจะเกิน 7-8% ต่อปี ซึ่งถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นหรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2020/02/24/2279

TSF2024