ผมลองพิมพ์ “เครียด คลั่ง” บนกูเกิ้ล และกดไปที่รูปภาพ สิ่งที่พบนอกจากจะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญล่าสุดที่โคราชแล้ว ยังพบภาพอีกหลายๆเหตุการณ์ ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์คล้ายกันตรงที่ เครียด และคลั่งจนถึงทำร้ายตัวเอง หรือไม่ก็ทำร้ายคนอื่น
สาเหตุของเหตุการณ์ต่างๆ อันดับหนึ่งมาจากคำว่า “พิษเศรษฐกิจ” รองลงมาคือปัญหาสุขภาพ และต่อด้วยปัญหาโดนโกง
ผมเข้าใจว่าคนเราทุกคนสามารถเครียดได้จากหลายๆ สาเหตุ แต่การคลั่งจนทำร้ายตัวเองหรือหนักเข้าจนไปทำร้ายคนอื่นอันนี้ไม่ขอเข้าใจหรือเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น
แล้วเราจะแก้ปัญหาให้เรื่องแบบนี้ลดลง หรือไม่มีอีกเลยได้ไหม
การคลั่งอาจไม่ได้มีต้นตอจากความเครียดเพียงอย่างเดียว อุปนิสัยพื้นฐาน ความคิด จิตใจ ความผิดปกติของร่างกาย สภาพแวดล้อม สังคมรอบตัว ผมคิดว่าล้วนมีผลกันทั้งหมด
เราอาจไม่สามารถไปแก้หรือเปลี่ยนอะไรได้ทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้ปัญหาลดลงนั้นคือ การจัดการกับความเครียด
ผมเองก็ไม่ได้แตกต่างไปจากทุกคนที่มีความเครียดสะสมจากหลายๆ อย่าง ทั้งจากปัญหาการทำงานและปัญหาอื่นๆ
ผมอยู่ในอาชีพที่มีความเครียดสูง งานของผมมีแต่ความผันผวน บางคนที่ต้องทำงานร่วมกับผม ต้องเสียน้ำตาร้องไห้เวลาเจอปัญหาก็บ่อยมากๆ แม้ผมจะบอกว่าทุกๆ งานมีความเครียดด้วยกันทั้งนั้น มันต่างกันแค่ระดับของความเครียด ซึ่งมันก็จะสัมพันธ์กับรายได้ด้วย
หากคุณไปทำงานง่ายๆ ความเครียดต่ำ รายได้คุณก็มีโอกาสน้อยลง และก็หนีไม่พ้นจะต้องมาเครียดเรื่องปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่ดี
แต่คนคนนั้นมักจะบอกผมว่า ไม่ชอบเลยความเครียดแบบนี้ มันเป็นความเครียดที่เป็นความทุกข์ มันมีงานอื่นที่แม้จะเครียดแต่ก็มีความสุข
ผมฟังความคิดของเขาแล้ว ผมคิดว่าเค้าเข้าใจความเครียดผิดไปมากๆ เพราะขึ้นชื่อว่าความเครียดแล้วมันมีแต่ความทุกข์ มันไม่มีหรอกความเครียดที่เป็นความสุข
เพราะแก่นของความสุข มันคือการอยู่ในสภาวะไร้กังวล
ความเครียดมันไม่สามารถแบ่งได้ว่า เครียดแบบมีความสุข หรือเครียดแบบมีความทุกข์
สำหรับผมความเครียดคือส่วนหนึ่งของความทุกข์ และมันมีแต่ความเครียดที่จัดการได้ กับความเครียดที่จัดการไม่ได้
ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนบทความ กฎ 20 : 80 กับคำว่าช่างแม่ง สิ่งที่ผมอยากสื่อสารในบทความนั้นคือ ชีวิตมีสิ่งที่ควบคุมได้เพียงแค่ 20% อีก 80% คือสิ่งที่คุมไม่ได้ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตส่วนใหญ่นั้นคือสิ่งที่เราไม่อยากเจอ
เราจึงทำได้เพียงจัดการในส่วน 20% ให้ดีที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่แน่นอนอีก 80%
เวลาเจอปัญหาและมันสร้างความเครียดให้กับผม สิ่งที่ผมจะทำอย่างแรกคือจำแนกว่าปัญหานั้น ผมสามารถจัดการมันได้ไหม ถ้าจัดการได้ก็ไม่ต้องไปเครียดมาก ผมต้องมาจัดการความคิดต่อ มาวางแผนการแก้ปัญหา และควบคุมความคิดว่า ไม่ต้องไปเครียดให้ดูกันไปทีละขั้นว่าจะต่องแก้อะไร ก็เครียดเป็นเรื่องๆ ไป
แต่เมื่อไหร่ที่เจอปัญหาที่มันแก้ไม่ค่อยได้ ต้องรอเวลากว่าจะแก้ได้ หรืออาจแก้ไม่ได้เลย มันจะสร้างความเครียดให้กับผมเป็นอย่างสูง ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมค้นพบว่าการฝังอยู่กับความเครียดนานๆ มันไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย
ผมจึงมักมีเวลาให้กับความเครียดที่ผมจัดการไม่ได้จนถึงขนาดทำให้ผมนอนไม่หลับ อยู่กับผมเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
เมื่อผ่านไป 1 วัน ใช่ว่าผมจะจัดการมันได้ อย่างที่บอกไปมันคือสิ่งที่จัดการไม่ได้และมันสร้างความเครียดอย่างรุนแรง แต่ในเมื่อมันจัดการไม่ได้ และมันอยู่กับผมมา 1 วันแล้ว
มันควรพอได้แล้ว
ผมจึงเลือกที่จะ “ช่างแม่ง” มันครับ
เวลามีปัญหามันก็มีแค่ 3 แนวทางเท่านั้น
1. แก้ 2. นิ่ง 3. ปล่อย
แก้ไม่ได้ก็นิ่ง นิ่งไม่ไหวก็ปล่อย มันมีแค่นั้นครับ
ความเครียดมันสามารถมีได้ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่จะต้องอยู่กับเราเสมอ หากมันจะมากจนถึงขนาดจะมาทำร้ายเรา มาทำให้เรานอนไม่หลับ มาทำให้คนรอบข้างต้องเครียดตามไปด้วย แบบนั้นมันไม่ใช่แล้ว
เราควรเลือกที่จะปล่อย เลือกที่จะช่างแม่ง
บางคนอาจแย้งขึ้นมาว่า เราไม่สามารถปล่อยปัญหาหรือช่างแม่งกับมันได้ทุกครั้ง บางปัญหามันก็ใหญ่และหนัก จนไม่สามารถจัดการความคิดและความเครียดได้
ผมยอมรับว่าใช่ครับ แต่อย่างที่บอกไปครับว่า 80% ในชีวิตที่เราเจอคือเรื่องที่คุมไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่าชีวิตมันหนักแบบนั้น เราจึงไม่ควรประมาทกับการใช้ชีวิตแต่แรก
เราควรระมัดระวัง เราควรเตรียมชีวิต และเราไม่ควรพาตัวเองเข้าไปสู่ปัญหา แค่นี้มันก็จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้เราเจอปัญหาใหญ่ๆ แล้ว
เช่น ถ้าเราไม่อยากเจอปัญหาด้านการเงิน เราก็ควรวางแผนในการสร้างรายได้ จำกัดค่าใช้จ่าย และไม่สร้างภาระผูกพันอย่างการเป็นหนี้ หรือ ถ้าเราไม่อยากโดนโกง เราก็ควรระมัดระวังการทำธุรกรรมต่างๆ และต้องละเอียดรอบคอบในการมอบเงินให้กับคนอื่น
เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่เราลดความเสี่ยงที่จะเจอมันได้ และแน่นอนความเครียดในชีวิตมันก็จะน้อยลงด้วย
มาช่างแม่งกันครับ
ขอพระเจ้าอวยพรครับ
ประกิต สิริวัฒนเกตุ