ตะวันออกกลางระอุเดือด!! ได้เวลาของกลุ่มพลังงาน

เปิดปีใหม่ก็ได้เรื่องขึ้นมาทันที ช่วงเช้าวันที่ 3 ม.ค. พลตรี ซูลีมานี วัย 62 ปี ถูกปลิดชีวิตด้วยการถูกโดรนของสหรัฐฯ ยิงจรวดหลายลูกขณะกำลังออกจากสนามบินในกรุงแบกแดก

พลตรี ซูลีมานี คือใคร

เค้าคือผู้ทรงอิทธิพลอันดับสองในอิหร่าน รองจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฎิวัติอิหร่าน ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในกองทัพ และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น เลบานอน อิรัก ซีเรีย หรือที่อื่นๆ ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วเขาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านตัวจริง

ที่อิหร่าน นายพล ซูลีมานี ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องที่เขามีจุดยืนตอบโต้แรงกดดันจากต่างชาติและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

เรียกได้ว่า เป็นไม้เบื่อไม้เมา ของสหรัฐฯ มาโดยตลอด และเป็นบุคคลที่สหรัฐฯ หมายหัวมาตลอด ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ถึงขนาดออกมาระบุว่า นายพล ซูลีมานี และหน่วยคุดส์เป็นผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังสังหารทหารสหรัฐฯ หลายคน

คำถามคือทำไมต้องมาสังหารตอนนี้

นี่ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ สหรัฐฯ อยากจะทำก็ทำ มันมีที่มาที่ไปที่ขมวดเข้าหากัน ทั้งการบุกยึดสถานฑูตสหรัฐฯ ในอิรัก เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 62 ที่สหรัฐฯ จะมองว่า นายพล ซูลีมานี อยู่เบื้องหลัง และก่อนหน้านั้นอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งการกล่าวโทษอิหร่านอยู่เบื้องหลังยิงมิสไซล์โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก การที่อิหร่านโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายลำ การที่โดรนของสหรัฐฯ ถูกยิงตก และการโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันซาอุดิอาระเบียครั้งใหญ่

เรียกได้ว่ามีต้นสายปลายเหตุมายาวมาก

หลังการโจมตี ปธน.ทรัมป์ ได้ทวิตเตอร์โพสรูปธงชาติสหรัฐฯ ขณะที่ ก.กลาโหมสหรัฐฯ แถลงข่าว นายพล ซูลีมานี วางแผนที่จะโจมตีนักการฑูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในอิรักและในภูมิภาค การโจมตีนี้ก็เพื่อหยุดการโจมตีโดยอิหร่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

แทบไม่ต้องเดาเลยว่า การสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่าน จะต้องเห็นการตอบโต้กลับ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีสหรัฐฯ โดยตรง หรือการโจมตีเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย ทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีก็ตาม

กระนั้นผมก็ยังมองว่าความตึงเครียดนี้จะยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นสงครามแบบสังครามอ่าวเปอร์เซีย แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นการตอบโต้ไปมาในลักษณะการก่อเหตุเฉพาะจุด ซึ่งแน่นอนว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะอยู่ไม่เป็นสุขกันไปอีกนาน และแน่นอนว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูด

ล่าสุดน้ำมัน WTI ปรับพุ่งขึ้น 3.06% ปิดที่ 63.05 เหรียญต่อบาร์เรล

เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติ เหตุการณ์เข้ายึดอิรักของสหรัฐฯ ระหว่าง 19 มี.ค.-1 พ.ค. 46 แม้ในช่วงนั้นราคาน้ำมันจะลดลงมา 20% แต่หลังจากการเข้ายึดอิรักได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของขาขึ้นรอบใหญ่ ราคาน้ำมันปรับพุ่งจาก 25 เหรียญต่อบาร์เรลสู่ 78 เหรียญต่อบาร์เรล หรือขึ้นมากว่า 200% ในอีก 2 ปีถัดมา

SET Index ปรับเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มเปิดฉากเข้ายึดอิรัก จากระดับ 361 จุด จนปิดสิ้นปี 2546 772 จุด หรือ 113%

PTT จากราคา 4.25 บาท (หากเป็นราคา ณ 19 มี.ค. 46 ก่อนแตกพาร์ อยู่ที่ 42.5 บาท) ขึ้นไปปิดสิ้นปี 2546 ที่ 18.50 บาทหรือ 335%

ความตึงเครียดกับอิหร่านรอบนี้ แม้อาจไม่ได้ทำให้ PTT PTTEP ขึ้นทะยานแบบเมื่อปี 2546 แต่เชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าจะดึงให้ราคาหุ้นฟื้นสภาพจากที่ปรับร่วงเมื่อปี 2562 ได้มากพอสมควร จะเป็นอย่างนั้นไหมโปรดติดตาม

ประกิต สิริวัฒนเกตุ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

TSF2024