รู้จักผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษใหม่: “แอนดริว ไบเลย์”

น่าจะถือว่าเป็นเซอร์ไพร์สเล็กๆ ที่ดร.แอนดริว ไบเลย์ คว้าตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษท่านใหม่ต่อจากมาร์ก คาร์นีย์

โดยจะเริ่มต้นงานใหม่ในวันที่ 1 มี.ค. ปีหน้า มีวาระทำงาน 8 ปี โดยหากเป็นเมื่อกลางปีที่แล้ว คงจะถือว่าเป็นไปตามฟอร์มที่ “ไบเลย์” นายแบงก์บุคลิกนักวิชาการ วัย 60 ปี ที่ถือว่าคว่ำหวอดในธนาคารกลางอังกฤษมากว่า 30 ปีจะคว้าตำแหน่งนี้ เนื่องจากในปีนี้มีกลุ่มผู้ประท้วงชาวอังกฤษซึ่งเป็นนักลงทุนมายืนถือป้ายประท้วงในเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ได้รับตามที่ตราสารทางการเงินได้สัญญาไว้ ที่หน้าอาคาร Financial Services Authority (FSA) หน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของนักลงทุนชาวอังกฤษที่ลงทุนในตราสารทางการเงินที่นายไบเลย์ ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ FSA นี้อยู่ โดยกองทุนชื่อดังแห่งหนึ่ง มีประเด็นด้านสภาพคล่อง เป็นข่าวดังมากเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งมาหานายไบเลย์ ซึ่งเขาก็ต้อนรับผู้ประท้วงเหล่านี้แบบเป็นกันเองด้วยการเลี้ยงแฮมเบอร์เกอร์ในที่ทำงานของเขา พร้อมพูดคุยจนจบลงด้วยค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง

ประเด็นที่หลายท่านสงสัยว่าเพราะเหตุใดนายไบเลย์จึงสามารถคว้าเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษมาได้แบบแซงหน้าตัวเต็งอย่าง มิโนช ชาฟิค” ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่ง รมว.คลัง นายซาจิด จาวิด เคยเอ่ยชื่อถึงเธอเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน คำตอบง่ายๆ คือ นายไบเลย์ ไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองในประเด็น Brexit ว่าเข้าข้างฝ่ายใด ในขณะที่นางชาฟิค ออกโรงเชียร์ขั้ว Brexit แบบสุดโต่งจึงทำให้นายไบเลย์สามารถเอาชนะใจนายจาวิดได้แบบเงียบๆ ในอีกทางหนึ่งช่วงระยะหลังตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษดูจะต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น จากการที่ผู้นำใหม่อังกฤษค่อนข้างมีนโยบายสไตล์แบบล้วงลูกเหมือน “โดนัลด์ ทรัมป์” จึงทำให้นักวิชาการชื่อดังต่างชาติอย่าง “รากูราม ราจาน” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียและ “เจเน็ต เยลเลน” อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ  ไม่มีความสนใจยื่นใบสมัครในตำแหน่งดังกล่าว จึงทำให้การคว้าตำแหน่งนี้ของนายไบเลย์ ง่ายลง

ถามผมว่า นายไบเลย์ เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่นี้ไหม? ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมเคยเขียนบทความในคอลัมน์นี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2018 : “ลงทุน 100 ล้านบาทจากวันนี้ถึงกลางปี 2019 อย่างไรดี” โดยมองว่านายไบเลย์เป็นตัวเต็งในตำแหน่งนี้เนื่องจากไม่ว่าจะมองในแง่ของวิชาการที่เขาแสดงออกมาได้แบบรัดกุมและเฉียบคมในระดับหนึ่ง โดยเขาจบการศึกษาปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยควีนส์ออกซ์ฟอร์ด รวมถึงในสมัยหนุ่มๆ เคยดูแลงานในสายงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารอังกฤษอยู่ช่วงหนึ่ง แม้ว่าจะไม่โดดเด่นในช่วงนั้นทว่าก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ รวมถึงเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่ดูแลด้านเสถียรภาพการเงินอีกด้วย หรือจะมองในแง่ของการบริหาร นายไบเลย์ก็ถือว่าเป็นที่รักใคร่ของพนักงานในองค์กร ด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่ายและค่อนข้างเป็นกันเอง ผมจึงมองว่านายไบเลย์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในระดับหนึ่ง ณ เวลานี้ ที่ต้องการแบงก์ชาติอังกฤษ ต้องการผู้นำที่เข้ากันได้กับทั้งฝ่ายการเมืองและเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี

ในมิติของนโยบายการเงินผมมองว่า นายไบเลย์เป็นผู้ที่นิยมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันทั้งเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน โดยไม่รู้ตัวจากการที่ดูแลงานในสายงานนโยบายสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างแรง เนื่องจากคำนึงถึงเสถียรภาพด้านการเงินในการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Hawkish อย่างไรก็ดี การที่นายไบเลย์ได้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษด้วยความไม่เลือกข้างใน Brexit ทว่าการที่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีคลัง จาวิด มาหลายรอบก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากนายจาวิดถือว่า นายไบเลย์น่าจะพูดคุยกับรัฐมนตรีคลังได้ถูกคอพอสมควร ซึ่งตามธรรมชาติของนักการเมืองย่อมอยากให้ธนาคารกลางเห็นความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอังกฤษซึ่งนายไบเลย์น่าจะเข้าใจในสิ่งนี้จึงน่าจะประเมินได้ว่านายไบเลย์น่าจะเป็นสาย Hawkish ในระดับเพียงแค่เล็กน้อย

สำหรับงานหนักที่รอนายไบเลย์มาสะสางในตำแหน่งใหม่นี้อยู่มีดังนี้

1. การทบทวนกลยุทธ์ของเครื่องมือและกรอบนโยบายการเงินทั้งหมดของแบงก์ชาติอังกฤษ ที่ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปล้วนกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนกันแบบครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น QE และการวัดอัตราเงินเฟ้อให้มีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญทบทวนชุดเครื่องมือทางนโยบายการเงินที่ไว้รองรับเพือต่อสู้กับวิกฤตการเงินครั้งถัดไปในอนาคต

2. การสื่อสารระหว่างธนาคารกลางกับตลาดซึ่งว่ากันว่าความเห็นว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และ 1-3 ปีหน้าของกรรมการแต่ละท่านในคณะกรรมการธนาคารกลางอังกฤษหรือ Dot-plot ของธนาคารกลางอังกฤษน่าจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในอนาคตอันใกล้

3. การปรับปรุงกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผนวกเกณฑ์ของสถาบันการเงินทั้งธนาคารบริษัทประกันและกองทุนรวมเข้ามาเป็นองค์รวมเดียวกัน

ท้ายสุดระบบการชำระเงินที่จะมีการใช้สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างธนาคารกลางด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีด้านการเงินใหม่ๆ ซึ่งนายคาร์นีย์เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มาตลอดในยุคของเขา และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ค่อนข้างให้ความสำคัญเป็นอันมากครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649069