สินทรัพย์ทุกชนิดมักมีช่วงเวลาที่ให้ผลตอบแทน “ดีผิดปรกติ” หรือกลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ในโลกการเงิน
แต่ก็เช่นกันกับจักรวาล Sci-fi ฮีโร่ทุกคนมีจุดอ่อน และตอนนี้ ตลาดก็กำลังตั้งคำถาม ว่าถึงเวลาที่พลังวิเศษของ “เงินบาท” จะหมดลง และสกุลเงินนี้ต้องพบกับความยากลำบากบ้างแล้วหรือไม่
ความสงสัยนี้มาจากที่บาท “แข็งค่า แข็งค่า และก็แข็งค่า”
ไม่ใช่เพราะเทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์จะเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี แต่ปี 2019 ยังเป็นปีที่เงินบาทรับบท Asian Super Currency เต็มตัวเพราะแข็งค่าเด่น 5-10% กว่าสกุลเงินเพื่อนบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นการแข็งค่าก็ดูมั่นคงผิดปรกติเมื่อเทียบกับสกุลเงิน Emerging Markets อื่นๆ
จึงไม่แปลกที่ตลาดจะสงสัยว่าเหตุการณ์เช่นนี้ควรเกิดขึ้นต่อเนื่องกับสกุลเงินเล็กๆ อย่างบาทได้นานแค่ไหน
อย่างไรก็ดี การจะฟันธงว่าเงินบาทจะทะยานขึ้นต่อ หรือจะหมดพลังร่วงจากฟ้าในปี 2020 ก็ควรใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก ซึ่งผมมองว่า Kryptonite ของเงินบาทมี “สามเรื่อง” ที่เราต้องจับตาในปีหน้า
อย่างแรกคือ “เงินเฟ้อ” พุ่งขึ้นมาเมื่อไหร่ก็หมดพลังได้ทันที
เพราะเงินเฟ้อเป็นประเด็นหลักในการวิเคราะห์พื้นฐาน Purchasing Power ของทุกสกุลเงินในระยะสั้น
ประเทศที่เงินเฟ้อสูง เงินจะมีโอกาสด้อยค่าง่าย ในทางกลับกันประเทศที่เงินเฟ้อต่ำจะมีเงินที่ทนต่อข่าวร้ายได้ดีกว่า
ซึ่งเงินเฟ้อนี้สนับสนุนเงินบาทมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพราะประเทศไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ย (ปีต่อปี) เพียง 0.3% เทียบกับเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่ 2.1% ทำให้เงินบาทแกร่งกว่าที่อื่น
ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นเร็ว เงินบาทก็มีโอกาสจะหมดความขลังลงได้
อย่างที่สอง คือความต้องการใช้สกุลเงินต่างประเทศ ทั้งจากการออกไปลงทุน หรือความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของตลาดทุนไทย
ประเด็นนี้ ตีความได้ว่าภาวะตลาดในประเทศ จะยอมรับให้เงินบาทเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ได้นานแค่ไหน
ปี 2020 เงินบาทจะเจอจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ เพราะเริ่มต้นที่ดอกเบี้ยนโยบายระดับ 1.25% และบอนด์ยีลด์ 10ปีที่ 1.7% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงมีโอกาสที่นักลงทุนจะโยกเงินออกนอกประเทศมากกว่าปีอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไทยก็ดูจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อไหร่ที่ตลาดหุ้นไปไม่ไหว และภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ก็เชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลออกมากขึ้น
ปีหน้าจึงอาจเป็นปีที่เงินบาท กลับมาอ่อนแข็งไปพร้อมกับสกุลเงินเอเชียทั่วไปได้
อย่างที่สาม ถ้าศัตรูคู่แค้นอย่าง “ดอลลาร์สหรัฐฯ” ฟื้นตัวขึ้นมา จักรวาล Currency Market ก็จะกลับไปวุ่นวายและเงินบาทคงต้องถอยมาตั้งหลัก
แม้จะมีโอกาสไม่สูงเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ดอลลาร์ก็ยังสามารถกดดันทุกสกุลเงินได้ถ้าเศรษฐกิจทั่วโลกไม่สามารถฟื้นตัวนำสหรัฐฯ ในปี 2020
ตลาดการเงินจะเหมือนการย้อนอดีตครึ่งหลังปี 2018 ที่ทั่วโลกเผชิญกับแรงกดดันของดอกเบี้ย และการกีดกันการค้า ขณะที่สหรัฐฯ กลับได้รับแรงหนุนจากนโยบายภาษี
และนั่นคือจุดอ่อนของเงินบาทที่เราต้องจับตาในปีหน้า
สรุปแล้ว ผมมองว่าเงินบาทไม่ได้ “ไร้พ่าย” และการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถสลายพลังพิเศษของเราลงได้
ปี 2020 จึงเป็นปีที่น่าสนใจ และนักลงทุนไทยคงต้องติดตามดูไปพร้อมกับว่า เงินบาทจะยังแข็งแกร่งผิดธรรมดาหรือร่วงจากฟ้าเสียที
ในมุมมองส่วนตัว ผมเชื่อว่าลึกๆ ในใจคนไทยทุกคนคงไม่อยากเห็นเงินในกระเป๋าด้อยค่าลง และแอบเชียร์ให้เงินบาทเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ได้ต่อ จนกว่าค่าเงินจะไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม
และถ้าคิดให้ดี Super power นี้ไม่ควรเป็นปัญหา ถ้าพลังพิเศษเกิดขึ้นพร้อมกันกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน
หรือถ้าเทียบกับจักรวาลฮีโร่ ก็คงต้องบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่พลังที่มากที่สุด แต่ “เราต้องสามารถควบคุมพลังนี้ให้ได้” และสามารถกำหนดจังหวะการแปลงร่างเป็น Super Currency หรือกลับเป็นร่างมนุษย์ได้เองในเวลาที่เหมาะสม แทนที่จะอยากให้เงินบาทอ่อนแออยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะสั้น หรือปล่อยให้พลังของเงินบาทผันผวนไปอย่างไร้การควบคุม
“ไตรมาสที่หนึ่ง” ปีหน้าคือจุดวัดใจแรก เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาเงินบาทกลายร่างเป็น Super Currency ทุกปี และแข็งค่าเฉลี่ย 2.8%
ถ้าผู้กำหนดนโยบายไม่ทำอะไร หรือตลาดไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ใครที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน หรือลงทุนต่างประเทศ ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกันให้ดีครับ
ค่าเงินบาท (THB) เทียบกับสกุลเงินเอเชีย (ADXY) (100=สิ้นปี2018)
ที่มา: Bloomberg และ Krungthai Global Markets
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์