ถึงเวลาวิ่งแล้ว ตลาดหุ้นที่รัก

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ของดัชนี S&P500 ทยอยประกาศกันออกมาแล้ว

พบว่า โดยส่วนใหญ่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มีรายได้และกำไรยังขยายตัว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์สวนทางตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างกรณีตัวเลข ISM Manufacturing ประกาศออกมาต่ำกว่า 50 จุด 2 เดือนติดต่อกัน

ภาพที่เห็นหลังจากนั้นก็คือ การกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งตัดสินใจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้ Fed Fund Futures ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.50 – 1.75% นับเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน

เราไปดูในแถลงการณ์ของเฟด มีการระบุว่า ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายครัวเรือนซึ่งขยายตัวในอัตราที่สูง ด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้นในอัตราค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการส่งออกยังคงอ่อนแอ ส่วนอัตราเงินเฟ้อตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% สะท้อนว่า เฟดยังคงมีความกังวลอยู่บ้างในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแถลงการณ์ในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนประโยคที่ว่า “act as appropriate to sustain the expansion” เป็น “assesses the appropriate path of the target range for the federal funds rate” ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีเหลือของปี ซึ่งเมื่อหันไปดู Fed Fund Futures ก็พบว่า ตลาดมีมุมมอง หรือ ให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธ.ค. เหลือเพียงต่ำกว่า 10% เท่านั้นในตอนนี้

ลดดอกเบี้ยแค่ 3 ครั้ง ก็เพียงพอพยุงเศรษฐกิจแล้วหรือ?

คำตอบคือ ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงเช่นนั้น แต่ผมเชื่อว่า เฟดเห็นความเสี่ยงที่สูงเพิ่มขึ้นมากกว่า หากยังส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้เงินลงทุนวิ่งเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไปจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ และอีกทั้งยังเป็นการสาดกระสุนให้เหลือน้อย ซึ่งอาจจะต้องใช้กระสุนนี้ในคราวที่จำเป็นในอนาคต

ข้อดีอีกข้อคือ การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ถึงแม้จะส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยอีกแล้ว แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯก็ไม่ได้ดีดขึ้นแรงแต่อย่างใด สะท้อนว่า ณ ระดับดอกเบี้ยตรงนี้ อย่างน้อยก็อยู่กับเราไปอีก 6-12 เดือน กว่าจะกลับขึ้นมาได้ หรือแปลได้อีกความหมายหนึ่งก็คือ นักลงทุนในตลาดไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีจนเฟดกลับมาดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยได้ในระยะสั้นๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่กลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมาก็คือ ขนาดงบดุลของเฟดกลับมาขยายเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเกิดจากการขาดสภาพคล่องในตลาดธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement) หรือ Repo market ทำให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรประเภทข้ามคืน (Overnight repo rate) พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 8% จากเคยอยู่ที่ 2% ในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า งบดุลขยายมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ประกอบไปด้วยพันธบัตรจำนวนมากไหลเข้าตลาดในเวลาเดียวกับที่เงินสดถูกดึงออกไปเพื่อชำระภาษีประจำไตรมาสของบริษัท นอกจากนี้ด้วยมาตรการควบคุมที่ระบุให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอต่อสถานการณ์เลวร้าย ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องตามเกณฑ์ Basel III ทำให้เฟดต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าภาคการธนาคารด้วยการเข้าทำธุรกรรมซื้อคืนในตลาด repo หรือกล่าวในอีกด้าน คือการเข้าซื้อพันธบัตรในตลาด repo ที่มีอยู่มาก ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดและกดให้ repo rate ลดลงมาในระดับต่ำอีกครั้งเพื่อลดความตึงตัวในระบบการเงินที่มากเกินไป

สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า Fed อาจยังจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงกลไกตลาด ในช่วงที่สภาพคล่องในระบบและภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างว่า การที่งบดุลของเฟดขยายตัวครั้งนี้ จะเรียกว่า เฟด กำลังทำ QE รอบใหม่ใช่หรือไม่? ในความเห็นของผม ไม่ว่าสิ่งนี้จะเรียกว่าอะไร แต่ก็แสดงให้เห็นว่า เฟดจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต และตลาดก็เหมือนจะตอบรับเชิงบวกกับการกระทำของเฟด ซึ่งออกมาในช่วงประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2019 พอดิบพอดี ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูสถิติ (นับตั้งแต่ปี 2008) บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) และดัชนีหุ้นโลก (MSCI World) สามารถทำผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้งไตรมาสที่ 4 และเดือนธันวาคม (67% และ 82% ตามลำดับ) ก็เข้าทางมากๆ

เศรษฐกิจโลกเมื่อจะผ่านจุดต่ำสุด, ผลประกอบการออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด, นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพร้อมกันทั้งโลก, ธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมจะเพิ่มสภาพคล่อง, สถิติย้อนหลัง ไตรมาส 4 ก็บวกได้ดีสุด

มันถึงเวลาวิ่งต่อได้แล้วนะครับ ตลาดหุ้นที่รักของนักลงทุนทั้งหลาย

TSF2024