จากแม่ชม้อยถึงแม่มณี แชร์ลูกโซ่ 4.0

การต้มตุ๋นทางการเงินจากประชาชนทั่วไปแบบ “แชร์ลูกโซ่” หรือในทางสากลเรียกว่า “Ponzi Scheme” นั้นน่าจะถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและทำความเสียหายให้กับ “เหยื่อ” มากที่สุดในสังคมไทย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าแชร์ลูกโซ่นั้นมักถูกออกแบบและโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องของ “การลงทุน” ที่ให้ผลตอบแทนดีมากและมีความเสี่ยงต่ำซึ่งจะดึงดูดให้คนทั่วไปสนใจเข้ามาลงทุน โดยที่ธุรกิจหรือการลงทุนที่จะทำนั้นจะเป็นเรื่องที่กำลังโด่งดังอยู่ในกระแส เช่น ในช่วงปี 2520 และต่อมาอีกหลายปีนั้นก็เป็นเรื่องของวิกฤติน้ำมันที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูงมาก การลงทุนในธุรกิจน้ำมันน่าจะให้ผลตอบแทนที่งดงาม และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “แชร์แม่ชม้อย” ที่ถือว่าเป็นแชร์ลูกโซ่รายแรกของเมืองไทย

คำว่าผลตอบแทนที่ดีมากนั้น ในความคิดของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินมากมายนักในประเทศไทยผมคิดว่าคงจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 5-10% และเป็นอัตรานี้มายาวนานแม้ว่าดอกเบี้ยที่เป็นทางการในท้องตลาดจะเปลี่ยนไปมาก นี่เป็นตัวเลขที่ผมประเมินจากประสบการณ์ของตนเองตั้งแต่สมัยที่ทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้วที่คนงานต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณเดือนละ 10% จากหนี้นอกระบบ นอกจากนั้น แชร์แม่ชม้อยที่เกิดขึ้นในปี 2520 ก็เสนอผลตอบแทนที่ 6.5% ต่อเดือน ในขณะที่ “แชร์แม่มณี” ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็จ่ายผลตอบแทนประมาณ 9-10% ต่อเดือน หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ การลงทุนควรจะได้ทุนคืนในเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งทำให้คนอยาก “เสี่ยง” เพราะดูแล้วคนที่เสนอก็น่าเชื่อถือเป็นที่รู้จักในวงสังคม “ไฮโซ” คงไม่ล้มไปได้ง่าย ๆ

วงเงินขั้นต่ำในการลงทุนเองนั้นก็ดูเหมือนจะไม่มากเกินกำลัง ในสมัยแชร์แม่ชม้อยนั้นเริ่มต้นครั้งแรกก็ประมาณ 160,000 บาทต่อ “น้ำมันหนึ่งคันรถ” แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 4 คือ 40,000 บาทหรือ “ลงทุน 1 ล้อ” ซึ่งเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำในกรณีของแชร์แม่มณีและล่าสุดก็คือกรณีของ Forex3D ซึ่งอ้างว่าเป็นเรื่องของการลงทุนเล่น “ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ” ก็อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท เม็ดเงินขั้นต่ำที่ “พอรับได้” นี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ไม่เคยเล่นอยากจะลองดู และนั่นทำให้จำนวนคนที่เข้าไปเล่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหลังจากที่มีการพูดกัน “ปากต่อปาก” ในกรณีของแม่ชม้อยและ “ไลน์ต่อไลน์” ในกรณีของแม่มณีและ Forex3D

ความ “น่าเชื่อถือ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและอาจจะมากที่สุดในการที่จะชักชวนให้คนมาลงทุนหรือมาเล่น กรณีแม่ชม้อยนั้น เธอเป็นคนที่อยู่ใน “แวดวงเกี่ยวกับน้ำมัน” คือเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การเชื้อเพลิงสมัยนั้นและมีสามีเป็นทหารอากาศ ดังนั้น คนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามา “ร่วมลงทุน” ก็คือคนที่อยู่ในแวดวงที่เชื่อมั่นในตัวแม่ชม้อย แต่หลังจากที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมไม่ขาดตกบกพร่องก็เริ่มมีคนภายนอกที่มีเงิน เป็น “คุณหญิงคุณนาย” ต่างก็ขอเข้ามาลงทุนกันมากมาย วงแชร์จึงขยายไปใหญ่โตโดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่ค่อยตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นจนถึงวันที่วงแชร์ “ล้ม” ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท คนที่เสียหายกว่า 13,000 คน ถ้าคิดเทียบเป็นมูลค่าเงินปัจจุบันตามอัตราของเงินเฟ้อก็น่าเกิน 10,000 ล้านบาท

ในกรณีของแชร์แม่มณีนั้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่ที่การเกี่ยวข้องกับการเป็นคนที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐและการเป็นข้าราชการอีกต่อไป แต่อยู่ที่การเป็น “เซเล็บ” ในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกี่ยวข้องหรืออยู่ในแวดวงของดาราและการเป็น “เน็ตไอดอล” ดังนั้น แม่มณีจึงเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ กับดาราชื่อดัง มีการดึงดาราชื่อดังไปปรากฏตัวและออกสื่อในทุกทางที่ทำได้ นอกจากนั้น การ “โชว์ความร่ำรวย” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นี่ก็สามารถทำได้ด้วยเทคนิคการถ่ายทำที่ง่ายและสามารถส่งออกไปทางเฟซบุคและสื่ออินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลาด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ตัวอย่างเช่น แม่มณีสามารถทำให้คนหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านทองได้เพียงแต่จัดฉากร้านและตกแต่งด้วยทองรูปพรรณ “ชุบ” ถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือและส่งลงเฟซบุคได้ทันที ในส่วนของ Forex3D ซึ่งเรื่องราวเพิ่งจะเกิดขึ้นนั้น กระบวนการในการสร้างภาพเพื่อให้คนเชื่อถือว่าเป็นวิธีการทำกำไรจากการเทรดค่าเงินก็คงเป็นไปอย่างเข้มข้น การส่งข้อมูลลวงเข้าไปในเว็บเกี่ยวกับการลงทุนหรือวงการที่เกี่ยวข้องก็คงทำได้ไม่ยากในยุค 4.0 นี้

ความเสียหายในกรณีของแชร์แม่มณีนั้นแม้จะดูว่าเป็นข่าวดังอาจจะเนื่องจากพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการดารา ความเป็น “เซเล็บ” ของเจ้าตัวและวิธีการในการประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพ แต่ความเสียหายดูเหมือนว่าจะยังห่างจากกรณีของแชร์แม่ชม้อยมาก คนที่เสียหายน่าจะอยู่ในระดับ 2-3,000 รายและวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ ในกรณีของ Forex3D นั้น เนื่องจากเพิ่งจะเริ่มมีคนมากล่าวโทษ เรายังไม่รู้ว่าคนที่เกี่ยวข้องและเม็ดเงินจะมากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้ที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่ากรณีแม่มณีด้วยซ้ำเนื่องจากเกิดขึ้นใน “ไซเบอร์” ทุกสิ่งสามารถคูณหรือขยายตัวในอัตราเร่งเกินจินตนาการได้เสมอ กำไรขาดทุนหรือการโกงเอาเงินคนเล่นเข้ากระเป๋าเงินคนทำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาที

ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของแชร์ลูกโซ่ซึ่งก็เป็นเรื่องของการโกงที่มีรูปแบบค่อนข้างแน่นอนนั่นก็คือ หลอกให้คนเอาเงินมาลงทุนโดยสัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงแน่นอนทุกเดือนโดยที่คนลงทุนนั้นแทบจะไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการลงทุน ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรอย่างไร รู้แต่ “Story” หรือเรื่องราวต่าง ๆ จากปากของคนที่รับเงินไป ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ เงินนั้นไม่ได้นำไปสร้างผลตอบแทนจริง ๆ แต่นำไปจ่ายให้กับคนที่นำเงินมาลงทุนก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อให้เกิดภาพว่าการลงทุนนั้นสร้างผลตอบแทนที่ดีสามารถจ่ายปันผลคืนได้ตามที่สัญญา ผลก็คือ คนใหม่ ๆ จำนวนมากเข้ามาลงทุนและเงินบางส่วนก็ถูกนำไปจ่ายให้กับคนก่อนหน้านั้นเป็น “ลูกโซ่” จนถึงเวลาหนึ่งที่คนทำหรือ “เจ้ามือ” เห็นว่าคนใหม่อาจจะเข้ามาน้อยลงและเม็ดเงินที่เหลืออยู่มีมากพอแล้ว เขาก็จะ “หยุดจ่าย” เลิกแชร์ และนำเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ซึ่งหลายคนก็มักจะถูกจับติดคุก หลายคนก็อาจจะหนีไปได้ แต่ความเสียหายหรือเม็ดเงินของคนที่เสียไปนั้นส่วนใหญ่แล้วก็แทบจะไม่ได้คืนเลย เรื่องเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ก็อาจจะเงียบไประยะหนึ่งก่อนที่จะ “เริ่มใหม่” ด้วยเทคนิคเดิมแต่อาจจะเปลี่ยนตัวผู้เล่นและเรื่องราวตามสถานการณ์

แต่ “แชร์ลูกโซ่” หรือ Ponzi ที่ใหญ่ที่สุดและเกิดขึ้นตลอดเวลานั้นจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะนี่คือแหล่งของเม็ดเงินที่ใหญ่ที่สุดและคนเชื่อถือมากที่สุด การสร้างผลตอบแทนที่สูงมาก “ชั่วคราว” นั้นสามารถทำได้ไม่ยาก จากนั้นก็ชวนเชิญให้คนเอาเงินเข้ามาเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยวิธีการก็คือการประชาสัมพันธ์จากคนที่น่าเชื่อถือ เงินของคนใหม่ที่เข้ามาก็จะถูกนำไป “จ่าย” หรือทำกำไรให้คนที่เข้ามาก่อน เมื่อคนเข้ามาเล่นหุ้นหรือลงทุนในหุ้นหรือกองทุนมากขึ้นจนพอแล้ว เจ้ามือก็ “หยุดจ่าย” และ “กินรวบ” ทั้งหมด มูลค่าหุ้นหรือกองทุนที่ที่สูงขึ้นตกลงมาจนแทบไม่เหลือค่า คนเสียหายมหาศาล

กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของ Bernard Madoff อดีตประธานของตลาดหุ้นแนสดาคซึ่งถือเป็น Ponzi เพราะมีการสร้างภาพและทำข้อมูลลวงและอื่น ๆ ตรงตามเงื่อนไขที่เป็นแชร์ลูกโซ่นั้น ในปี 2008 ซึ่งตลาดหุ้นเกิดวิกฤติและทำให้กองทุนล้มละลายนั้น ได้ทำให้คนเสียหาย 4,800 คน จำนวนเงินที่เสียหายประมาณ 50-60 พันล้านเหรียญสหรัฐและเขาต้องโทษจำคุก 150 ปี ส่วนในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ผมคิดว่ามี Ponzi “แอบแฝง” และเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเสียหายแม้ในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็น่าจะเป็นหลักแสนล้านบาทจากมูลค่าหุ้นที่หายไปในช่วงที่ “วงแตก” โดยที่ไม่มีใครถูกลงโทษอะไร อาจจะเนื่องจากแชร์ลูกโซ่ในตลาดหุ้นนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่คนจะเข้าใจเพราะมันเป็น “แชร์ลูกโซ่ 4.0” ดังนั้น นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองกำลังอยู่ใน “ห่วงโซ่” ของ Ponzi หรือไม่ เพราะถึงแม้จะดูว่ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนดีเยี่ยม แต่ความเสี่ยงนั้นก็สูงเกินกว่าที่จะรับได้

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/11/04/2233

TSF2024