สถิติบอกว่า ... อัตราการว่างงานต่ำ ใช่ว่าจะดีเสมอไป

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขการว่างงาน หรือ Unemployment Rate ออกมาอยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดในรอบ 50 ปี สิ่งนี้ นักวิเคราะห์ นักลงทุนทั่วโลก ต่างมองว่า มันแสดงถึงตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง และเป็นเหตุผลที่เหล่าสายเหยี่ยว (Hawkish) ต่างมองกันว่า จริง ๆ แล้วเฟด ไม่ควรลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่านี้ เพราะภาคการบริการ และตลาดแรงงานยังคงดูดี ทั้งนี้ ก็เพราะการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐฯ เอง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 60% ของ GDP

Unemployment Rate คำนวนจากการหาสัดส่วน ประชากรในวัยทำงานที่ไม่มีงานทำ หารด้วย ประชากรในวัยทำงานทั้งหมดของประเทศนั้น ๆ  ถ้าดูจากวิธีการคำนวน ก็ชัดเจนว่า ยิ่งอัตราการว่างงานสูง แสดงว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตไม่ได้เต็มที่ หรือ ดูแล้วอนาคตยังไม่น่าจะดี เพราะไม่เช่นนั้น นายจ้างก็น่าจะต้องการแรงงานเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น

ผมขอยกตัวอย่าง 2 ประเทศ ที่มีอัตราการการว่างงานต่ำกว่าสหรัฐฯ ประเทศแรกก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ สิ้นปี 2018 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.2% และหากดูย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2014 จะพบว่า อัตราการว่างงานนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 3.7% เมื่อ 5 ปีก่อน แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจผ่าน GDP Growth พบว่า จากปี 2014 ที่ขยายตัวอยู่ที่ 3% มาถึงตอนนี้ ไตรมาส 2/2019 ตัวเลขอยู่ที่ 1%

อีกประเทศที่ขอยกตัวอย่าง ก็คือ ประเทศไทย จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2018 อัตราการว่างงานอยู่ที่ อยู่ที่ 0.67% ลองกลับไปดูตัวเลขเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอยู่ที่ 0.58% ในปี 2014 แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของไทยเราต่ำกว่า 1% มาตลอดนับตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2009 แล้ว ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว จะพบว่า ไม่มีไตรมาสไหนเลยที่เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ตามเป้าที่ฝั่งผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ไตรมาส 2/2019 ที่ผ่านมา GDP Growth ของไทยเรา ประกาศออกมาอยู่ที่ 2.3% ชะลอตัวลงมาเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน จนทำให้แบงก์ชาติปรับเป้าประมาณการ GDP ของไทย จากเดิม 3.3% ลงมาเหลือ 2.8% ในปีนี้

เห็นอะไรไหมครับ อัตราการว่างงานที่ต่ำ มันไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวที่จะบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ กำลังขยายตัวได้ในทิศทางที่น่าพอใจเสมอไป คำถามแรกที่ผู้อ่านน่าจะสนใจคือ อะไรคือ เหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้?

ต้องขออธิบายถึงตัวเลขทางสถิติตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Fertility Rate ซึ่งคือ จำนวนบุตรเฉลี่ยที่ผู้หญิงแต่ละคนให้กำเนิดของประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเรา Fertility Rate ณ สิ้นปี 2018 อยู่ที่ 1.48 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ตัวเลขนี้อยู่ที่ 1.44 ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.80

ตัวเลข Fertility Rate นี้ ถ้าต่ำกว่า 2 แสดงว่า แนวโน้มประชากรของประเทศนั้นจะไม่เพิ่มขึ้น ขยายความก็คือ สมมตินะครับ ผมแต่งงานกับภรรยา มีลูกชายหนึ่งคน สมมติว่า ในอนาคต ผมกับภรรยาจากโลกนี้ไป เวลาไป ไป 2 คน แต่ทดแทนให้โลกนี้แค่ 1 คน ซึ่งเท่ากับ Fertility Rate เท่ากับ 1 เห็นไหมครับ หากเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ มีแต่จำนวนประชากรจะลดลงเรื่อย ๆ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเรื่องโครงสร้างประชากรของประเทศนั้น ๆ ประกอบกันไป จะพบว่า ประเทศที่มี Fertility Rate ต่ำกว่า 2 เป็นประเทศที่ผลิตจำนวนแรงงานใหม่ได้ไม่ทันพอที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานเก่าที่จะเกษียณและกำลังจะจากโลกนี้ไปในอนาคตยาว ๆ ดังนั้น บางที ตัวเลข Unemployment Rate ที่ต่ำเตี้ย มันตีความอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่า เพราะหาแรงงานยากมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังวิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ประเทศไทย เรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือ มีสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี เกินกว่า 13 ล้านคน และภายในปี 2050 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนแถว ๆ 35% ของจำนวนประชากร ในขณะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศอยู่ที่ 69 ล้านคน และอัตราการเพิ่มขึ้นช้าลงเรื่อย ๆ จากการที่ Fertility Rate ต่ำกว่า 2 เป็นระยะเวลามายาวนานแล้ว จริง ๆ เหตุการณ์นี้ มักจะเกิดกับประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่น หรือ สหรัฐฯ ซึ่งรายได้ต่อหัวของประชากรสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่การที่ประเทศไทยเรา เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ GDP Per Capita ของไทย ณ สิ้นปี 2018 ตกอยู่ที่เดือนละ 19,000 บาทเท่านั้น สะท้อนว่า คนไทยจะเกษียณแล้วจน ในขณะที่มีอายุยืนยาวขึ้น และไม่มีลูกหลานมาเลี้ยงดูในตอนบั้นปลายชีวิต

ตัวอย่างของประเทศไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ณ ตอนนี้ เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศในโลก ที่อัตราการว่างงานดูจะอยู่ในระดับต่ำ ไม่ใช่เพราะการจ้างงานยังแข็งแกร่ง แต่เป็นเพราะแรงงานเข้าระบบมีจำนวนน้อยลง ขณะเดียวกันนั้นเอง ผู้สูงอายุที่เกษียณออกจากระบบก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น คำถามคือ ในระยะยาว เศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ จะโตได้ต่อเนื่องไหม น่าคิดนะครับ

Mr.Messenger

ที่มาบทความ: กรุงเทพธุรกิจ

TSF2024