china_currency_2

สงครามค่าเงินในโลก (Currency War) กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

จีนฉลองวันแม่บ้านเราด้วยการอ่อนค่าเงินอีก 2% ในวันนี้ (12 ส.ค. 58) จัดเต็มต่อเนื่องเป็นวันที่สองรวมเป็นประมาณ 4% ในรอบ 2 วัน ณ เวลานี้ค่ากลางเงินหยวนที่ประกาศโดยทางการอยู่ที่ 6.3306 หยวน/ดอลลาร์ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 ปี

ผลที่ตามมาคือค่าเงินเอเชียล้วนแล้วแต่อ่อนค่าตามพี่ใหญ่มังกรจีน อย่างเช่นมาเลย์เซีย ณ เวลานี้อ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งกันเลยทีเดียว บ้่านเราก็ไม่พ้น ณ วันแม่วันนี้ค่าเงินอ่อนที่สุดในรอบปีแตะประมาณ 35.5 บาท/ดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อย

โดยสงครามครั้งนี้ง่าย ๆ ก็คือการแข่งกันอ่อนค่าเงินประเทศตัวเองเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเงินที่อ่อนค่าลงหมายถึงราคาสินค้าส่งออกที่ถูกลงด้วย ยังจำกันได้ใช่มั้ยครับว่าก่อนหน้านี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าไปแล้วกว่า 50% เช่นเดียวกับค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าไปแล้วกว่า 20% โดยทั้งสองประเทศได้ตามรอยอเมริกาด้วยนโยบายปั๊มเงินเข้าระบบหรือ QE อย่างต่อเนื่อง

ตลาดโลกตีความว่าสงสัยเศรษฐกิจจีนจะหนักจริง ภายหลังจากตลาดหุ้นช้ำผันผวนหนัก ปรับลงมาแรงเกิน 30% จากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี และทางการจึงต้องตัดสินใจอ่อนค่าเงินตัวเองเพื่อให้การส่งออกกลับมาเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

ผลของการอ่อนค่าเงินหยวน

– บริษัทผู้ส่งออกจีนได้รับประโยชน์

– อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งตลาดตีความว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะแย่จริง ๆ ทางการจึงต้องอ่อนค่าเงินหยวน

– คู่แข่งทางการค้าของจีนเสียประโยชน์ ซึ่งคู่แข่งของจีนมันก็แทบทั้งโลกล่ะครับ ตั้งแต่ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ผลกระทบต่อตลาดหุ้นก็คือหุ้นตกกันไปทั่วโลก

iLOznNdo

นัยยะของการอ่อนค่าเงินครั้งนี้

– เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศจีนเช่นกันที่ชี้ให้เห็นว่าเงินหยวนไม่ได้แข็งเป็นอย่างเดียว อ่อนก็เป็นด้วย ซึ่งในระยะยาวการที่จะทำให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกย่อมต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวโดยเสรีมากขึ้น ไม่ใช่ให้ทางการควบคุมแต่อย่างเดียว

– หลักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญข้อหนึ่งคือ “The Impossible Trinity”  กล่าวไว้ว่าการกำหนดนโยบายการเงินและค่าเงินของประเทศนั้นไม่สามารถทำได้ทั้ง 3 อย่างพร้อม ๆ กันคือ 1.การเปิดเสรีเงินทุน 2.ค่าเงินที่คงที่ 3.นโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกเสรีมักนิยมเปิดเสรีเงินทุน และปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวและเข้าแทรกแซงเป็นบางครั้ง

มุมมองในอนาคต

– ต้องดูว่าทางการจีนจะปรับค่าเงินให้อ่อนต่อเนื่องอีกหรือไม่ ถ้าทำต่อเนื่องยาว ๆ ย่อมเท่ากับว่าทำร้ายคู่แข่ง่ทางการค้าทั่วโลก และตลาดหุ้นก็เช่นกัน ส่วนตัวผมมองว่า “ไม่” กล่าวคือการอ่อนค้าในครั้งนี้สะท้อนไปตามกลไกตลาดที่ประเทศจีนเริ่มมีเศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้น อย่างที่ IMF เคยบอกไว้เมื่อกลางปีว่าค่าเงินหยวนไม่ได้แข็งค่าเกินความเป็นจริงอีกต่อไปแล้ว

– อเมริกาน่าจะไม่ผลีผลามในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นไปอีก ซึ่งค่าเงินของประเทศที่แข็งค่าจนเกินไปย่อมไม่ดีแน่

มุมมองตลาด

– ในระยะสั้น ถ้่าเงินหยวนยิ่งอ่อนค่าต่ออีกย่อมไม่ดีแน่นอน โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่ใช้กลไกการส่งออกในการฟื้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นไทยก็เช่นกันคงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบ

– ในระยะปานกลางถึงยาว ผมมองว่าค่าเงินหยวนจะไม่อ่อนค่าแบบไร้เหตุผล เพราะจีนต้องการทำให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลกลางของโลกในที่สุด ดังนั้นการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งในก้่าวย่างของกลยุทธ์การผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกของมังกรจีนเท่านั้น

เจษฎา สุขทิศ, CFA

INFINITI Global Investors

The Ultimate Investment Solution