ปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้น

ผมอยู่กับตลาดหุ้นและการลงทุนมานาน  ศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนโดยการอ่านหนังสือสารพัดและสังเกตเหตุการณ์และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมรวมถึงตลาดหุ้นเพื่อที่จะหาวิธีการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ  นอกจากนั้นก็ยังคอยติดตามราคาหุ้นจำนวนมากที่ซื้อขายกันในแต่ละวันถ้าว่างและสะดวกที่จะทำ  ซึ่งทำให้คิดว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กถึงกลางนั้นมักจะมีการเคลื่อนไหวในแต่ละวันตามปัจจัยหรือเหตุการณ์หรือข่าวบางอย่างที่เกิดขึ้น  ดังนั้น  ถ้าใครรู้ข้อมูลเหล่านั้นก่อนหรือประเมินได้ว่ามันจะกระทบกับราคาหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน  เขาก็อาจจะสามารถเทรดหรือซื้อขายหุ้นทำกำไรได้  อย่างน้อยก็ในระยะเวลาสั้น ๆ  แต่นี่ก็ขอบอกเสียก่อนว่าไม่ใช่วิธีการหรือหลักการลงทุนของผมเองซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวแบบ VI ซึ่งเน้นปัจจัยบางอย่างที่เป็นเรื่องระยะยาวซึ่งส่วนมากก็ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด

ปัจจัยที่น่าจะมีผลขับเคลื่อนราคาหุ้นโดยเฉพาะในระยะสั้นนั้นคร่าว ๆ  ผมแบ่งเป็น 3-4 กลุ่มคือ  หนึ่ง เรื่องของปัจจัยทางด้านภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ การเงิน  การเมือง  สังคมและอื่น ๆ  ของประเทศและของโลก  สองคือผู้เล่นหรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  สามเป็นเรื่องของตัวบริษัทและกิจการ  และสุดท้ายเป็นเรื่องของตัวหุ้นเอง

ภาพใหญ่ที่มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้แทบจะทุกครั้งที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางโดยเฉพาะสหรัฐและของไทยเอง  ยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผิดจากที่ผู้คนคาด  ผลกระทบก็มักจะแรงพอสมควร  นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  สงครามการค้า  สถานการณ์รุนแรงทางด้านการเมืองโดยเฉพาะของไทย  และที่สำคัญวิกฤติทางการเงินของประเทศ  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้  บางครั้งอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น  อย่างไรก็ตาม  การคาดการณ์หรือการที่จะ  “รู้ก่อน” ก็ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป  แต่ถ้ารู้และเป็นเรื่องสำคัญ  เช่น  รู้ว่ากำลังจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรือมีมาตรการบางอย่างเช่น  ควบคุมเงินลงทุนจากต่างประเทศ  แบบนี้  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  ขายหุ้นทิ้ง  เพราะราคาหุ้นทั้งตลาดอาจจะตกลงมาแบบ “แพนิก” ได้

กลุ่มที่สองก็คือผู้เล่นในตลาด  นี่ก็มักจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อยโดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กหรือ Free Float ต่ำ  เช่น  ถ้ามีผู้เล่นรายใหญ่เช่นกองทุนกำลังเข้าซื้อหุ้นขนาดเล็กหรือกลาง-เล็กบางตัว  นี่ก็มักทำให้หุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นไป  บางครั้งรุนแรงได้  เช่นเดียวกับที่  “นักลงทุนรายใหญ่”  เข้าไปเก็บหุ้นขนาดเล็กจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  และมีรายงานออกมาว่าถือหุ้นเกิน 5 หรือ 10%  หรือปรากฏชื่อว่าถือหุ้นเกิน 0.5% เวลาปิดสมุดทะเบียน  แบบนี้บ่อยครั้งก็อาจจะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้  ในอีกด้านหนึ่ง  เวลานักวิเคราะห์ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อหุ้นจากที่ไม่เคยวิเคราะห์หรือเคยแนะนำให้ถือหรือขาย  แบบนี้ก็อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้นได้เหมือนกัน  เช่นเดียวกัน  เวลานักวิเคราะห์บอกให้ขายหุ้นจากที่เคยให้ซื้อ  แบบนี้ก็มักจะทำให้หุ้นลง

เจ้าของหุ้นก็มักจะมีบทบาทที่สามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อย  บางทีแค่ออกมาให้ข่าวดี ๆ  ว่าผลประกอบการจะโดดเด่นหรือมีแผนขยายตัวอย่างแรงออกไปสู่ต่างประเทศ  หรือออกมาบอกว่าบริษัทกำลัง  “ฟื้นตัว” จากภาวะตกต่ำรุนแรง  แบบนี้ก็สามารถขับเคลื่อนหุ้นไปได้แรงทั้งที่ทุกอย่างที่พูดนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นและจะเกิดได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้

ปัจจัยกลุ่มที่สามก็คือตัวบริษัทหรือกิจการซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องของ  “พื้นฐาน” แต่บางทีก็เป็นแค่ “สถานการณ์”  แต่ถ้าบริษัทประกาศผลประกอบการที่มีกำไรดีขึ้นหรือดีขึ้นมาก  ส่วนใหญ่แล้วราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น  บางทีอย่างแรง  แต่ถ้าประกาศกำไรลดลง  แบบนี้หุ้นก็มักจะตกลงมา  โดยที่คนไม่สนใจว่ากำไรที่เพิ่มหรือลดนั้นมาจากอะไร  เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยหรือเกิดจากความสามารถในการทำกำไร เพราะทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันมากในด้านของพื้นฐาน  และก็เช่นเดียวกัน  คนก็ไม่สนใจว่าหุ้นมันแพงหรือถูกเกินไปหรือไม่

ข่าวของบริษัทบางอย่างเช่น  เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังจะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลซึ่งคนมักจะเชื่อกันว่าจะทำให้บริษัทได้ประโยชน์  ได้งานหรือสามารถค้าขายได้มากขึ้น  แบบนี้ก็สามารถทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปได้เหมือนกัน  บางทีก็เป็นเรื่องว่าบริษัทในกลุ่มเช่น  รับเหมาก่อสร้างงานสาธารณูปโภคจะได้ประโยชน์จากการที่จะมีงานมากขึ้นเมื่อได้รัฐบาลใหม่  แบบนี้ก็มักจะกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้  เช่นเดียวกับหุ้นค้าปลีกสินค้าจำเป็นที่ราคาหุ้นดีขึ้นเนื่องจากจะมีการ “อัดฉีด” ให้คน “รากหญ้า” มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น  เป็นต้น

ข่าวของบริษัทยังมีอีกมาก  เช่น  การได้งานใหม่ที่เป็นโครงการ  การได้รับการต่อสัญญาสัมปทานที่จะทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์ไปอีกหลายสิบปี  การทำ M&A หรือซื้อโครงการเช่น  โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ  ทั้งหมดนั้นก็มักจะทำให้หุ้นขึ้นทั้ง ๆ  ที่ยังไม่รู้ว่าที่ซื้อมานั้นคุ้มค่าหรือได้กำไรมากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายก็คือตัวหุ้นเอง  นี่ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีอิทธิพลสูงต่อราคาหุ้น  ถ้าราคาหุ้นตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปแรงเป็นระยะ  โดยเฉพาะมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่สูง  แนวโน้มระยะสั้น ๆ  ก็คือ  ราคาก็มักจะวิ่งขึ้นไปได้อีก  นี่จริง ๆ  แล้วก็ออกแนวการเล่นหุ้นแบบ  “เทคนิค” ที่บางคนบอกว่าไม่ต้องคิดถึงเหตุผล  บางทีเหตุผลอาจจะมาทีหลัง  บางครั้งหุ้นทั้งตลาดโดยเฉลี่ยหรือดัชนีหุ้นเองนั้นก็มักจะตกลงมาแรงตามดัชนีหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา  ดังนั้น  คนเล่นหุ้นระยะสั้นก็มักจะต้อง “ดูดาว” ตอนกลางคืนเพื่อที่จะรู้ว่าวันรุ่งขึ้นหุ้นจะขึ้นหรือตก

หุ้นบางตัวนั้น  เวลาขึ้นลงมักจะมีบ่อยครั้งที่ขึ้นลงแรงมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีข่าวอะไรพิเศษ  บางทีปริมาณการซื้อขายก็ไม่มาก  แบบนี้  ถ้ามีข่าวอะไรเข้ามา  ราคาหุ้นก็อาจจะกระชากแรงกว่าปกติ  ผมเองคิดว่าอาการแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องหุ้นที่อาจจะถูก Corner หรือ “ต้อนเข้ามุม”  หุ้นอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยที่สามารถควบคุมราคาให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้  หรือพวกเขาต่างก็มีมุมมองไปในทางเดียวกัน  ผลก็คือ  เวลามีการซื้อเข้ามาเพิ่มโดยใครก็ตาม  ราคาก็วิ่งแรงกว่าปกติมาก  หรือเวลาที่พวกเขาขาย  ราคาก็ดิ่งได้ง่าย ๆ

ทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อสังเกตของผมที่เห็นและติดตามหุ้นมานาน  แน่นอนว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงอาจจะ 10 ปีที่ผ่านมา  ในอดีตก่อนหน้านั้นหรือในอนาคตข้างหน้า  มันก็อาจจะเปลี่ยนไป  ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของตลาดหุ้นและนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาด  การเล่นหุ้นหรือแม้แต่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ผมคิดว่าการเข้าใจว่าอะไรหรือปัจจัยใดเป็นตัวขับเคลื่อนหุ้นน่าจะมีประโยชน์แม้ว่าเราในฐานะของ VI อาจจะไม่ได้นำมาใช้เองก็ตาม

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/08/26/2194

TSF2024