สังคมคนแก่กับการลงทุน

ในฐานะของ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวนั้น  สิ่งที่ผมจะต้องวิเคราะห์ก็คือภาพของประเทศ  ผู้คน  ภาวะทางการเมือง  เศรษฐกิจ และสังคมในตลาดหุ้นที่ผมจะลงทุนว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต  สิ่งที่ผมจะต้องดูเป็นพิเศษก็คือ  เศรษฐกิจจะโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน  บริษัทจะมีรายได้และกำไรมากขึ้นเท่าไรและบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนจะดีและกลุ่มไหนจะแย่ในอีกซัก 10 ปีข้างหน้าและต่อจากนั้น

สำหรับประเทศไทยและตลาดหุ้นไทยนั้น  ช่วงที่ผมเริ่มลงทุนในตลาดเต็มตัวเมื่อกว่า 20 ปีโดยเฉพาะหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น  ผมไม่ได้กังวลกับ “ภาพใหญ่” ของประเทศไทยเลยทั้ง ๆ  ที่ดูเหมือนว่าประเทศไทย  “กำลังล่มสลาย” และไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไรในยามที่เกือบทุกบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวและกำลังจะล้มละลาย  เหตุผลคงเป็นเพราะว่าเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลงมาอย่างหนักและการส่งออกสินค้าที่ถดถอยลงอย่างแรงผ่านไป  มันก็เริ่มฟื้นตัวอย่างแรง  การผลิตถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนสร้างโรงงานก่อนหน้านั้น  บวกกับกำลังแรงงานที่มีเหลือเฟือและค่าแรงต่ำซึ่งทำให้การส่งออกของไทยมีความได้เปรียบในตลาดโลกและอานิสงค์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงไปมาก  บวกกับความต้องการบริโภคของคนในประเทศที่กำลังพุ่งขึ้นอานิสงค์จากรายได้ที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงมากซึ่งทำให้คนชั้นกลางที่ไม่เคยเป็นหนี้หรือมีหนี้น้อยสามารถกู้เงินใช้จ่ายได้สูงกว่าปกติมาก  ผลก็คือ  เศรษฐกิจกลับมาเติบโตค่อนข้างแรงและบริษัทโดยเฉพาะที่เน้นการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคภายในประเทศเติบโตขึ้นมหาศาล  บริษัทเหล่านี้กลายเป็นหุ้นจดทะเบียนที่นำให้ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น  ดูเหมือนว่าทุก ๆ  อย่างที่พูดถึงนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป  คนกลุ่มใหญ่มากในสังคมกลุ่มหนึ่งที่เกิดในยุคเบบี้บูมซึ่งรวมถึงผมเองนั้นเริ่มถึงเวลาเกษียณอายุคือ 60 ปี   ถ้าผมจำไม่ผิด  เด็กที่เกิดในช่วงเวลานั้นน่าจะมีเกือบล้านคนต่อปีโดยเฉลี่ย  เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกับผมนั้นมักจะมีพี่น้องประมาณ 5-6 คน  ผมซึ่งมีพี่น้องเพียง 3 คนนั้นถือว่าน้อยมาก  ดังนั้น  การที่พวกเขาบางคนเกษียณอายุจึงทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงแม้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาแทนที่  อย่างไรก็ตาม  คนรุ่นใหม่ที่เกิดและจะเกิดมาแทนที่นั้น  กำลังลดลงอย่างแรง  จากปีหนึ่งเกิดล้านคนก็ลดลงเหลือปีละ 700,000 คนและคงจะลดลงไปเรื่อย ๆ  อีกนาน  ครอบครัวของคนไทยรุ่นใหม่นั้นมักจะต้องการมีลูกน้อยมาก  เฉลี่ยประมาณ 1.5 คน จำนวนมากบอกว่าไม่ต้องการมีลูกเลย  ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวเลขคนไทยที่เป็นแรงงานหรือทำงานนั้นเพิ่มขึ้นน้อยลงเรื่อย ๆ  และภายใน 10 ปีก็จะลดลง  ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมคนแก่แบบสมบูรณ์เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นเป็นมากว่า 10-20 ปีแล้ว

ใน “สังคมคนแก่” อย่างที่ญี่ปุ่นหรืออีกหลายประเทศเป็นนั้น  สิ่งที่เห็นก็คือ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะถดถอยลงอย่างช้า ๆ  แต่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นน่าจะแทบไม่โตเลยเป็นเวลาน่าจะเกิน 20 ปีแล้ว  เหตุผลนั้นชัดเจน  เพราะว่าคนน้อยลงก็น่าจะผลิตน้อยลง  เช่นเดียวกับที่คนแก่ตัวลงก็มักจะไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตได้มากนัก  บางทีแค่ประคองให้มีประสิทธิภาพเท่าเดิมก็ทำได้ยากแล้ว  ดังนั้น  สำหรับไทยเอง  ผมคิดว่าเราอาจจะไม่สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้เร็วอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว   ห้าถึงหกปีที่ผ่านมาที่เราโตแค่ 3-4% ต่อปีโดยเฉลี่ยน่าจะเป็นสัญญาณว่าสังคมเราเริ่มแก่ตัวลง  มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกหรือปัญหาการเมืองหรืออะไรในประเทศไทยเลยก็ได้  และเมื่อเศรษฐกิจโตช้าลง—ในระยะยาว   ตลาดหุ้นซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจเองนั้นก็มักจะเติบโตช้าตามกันไป  ตัวอย่างจากญี่ปุ่นก็เห็นได้ชัดว่าดัชนีตลาดหุ้นนิเกอินั้น  Sideway มาเป็นสิบ ๆ ปีและอยู่ที่ประมาณ 20,000 จุดในช่วงเร็ว ๆ  นี้  และไม่เคยขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุดตลอดกาลที่ 38,000 จุดที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว  ดังนั้น  สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง  ผมคิดว่าเราคงจะหวังให้ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตสูงแบบเดิมคงเป็นไปได้ยาก

เรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการสร้างโรงงานผลิตสินค้านั้น  ผมก็คิดว่าจะมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ  ในระยะยาว  เหตุผลก็คือ  โรงงานโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีสูงนั้น  จำเป็นต้องใช้คนมากและจะต้องมีค่าแรงต่ำเพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้  แต่นี่คือสิ่งที่เราขาด  ดังนั้น  คนที่คิดว่าเราจะมีการขยายตัวของการลงทุนเพื่อการผลิตมากขึ้นและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น  การผลิตสินค้าและนิคมอุตสาหกรรม จะเติบโตมากนั้น ผมคิดว่าจะต้องคิดใหม่  จริงอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  การลงทุนก็อาจจะมากขึ้นได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  มันคงไปไม่ไหว  ไทยไม่น่าจะสามารถเติบโตทางด้านการผลิตได้เร็วและมากอีกต่อไป

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการน่าจะเป็นทางออกสำหรับสังคมที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  แต่ก็ไม่ใช่ทุกภาคส่วน  จำนวนคนที่เกิดน้อยลงมากในช่วงก่อนหน้านี้จนถึงขณะนี้ก็ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดแล้วเช่น เรื่องของการศึกษา  ซึ่งเราได้เห็นการปิดตัวของโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง   ที่ยังไม่ปิดก็อยู่อย่างยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ  และน่าจะถึงจุดใกล้วิกฤติโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน   โชคดีที่การท่องเที่ยวของไทยนั้นเติบโตดีอานิสงค์จากการท่องเที่ยวของคนจีนและอินเดียที่อยู่ใกล้  ทำให้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นภาคที่เติบโตเพื่อที่จะรองรับสังคมของคนที่แก่ตัวมากขึ้น  นี่ก็คงคล้าย ๆ กับญี่ปุ่นที่ขณะนี้ต้องอาศัยการท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนจากที่ในอดีตนั้นค่อนข้าง “ปิด”  ไม่ยอมให้ใครเข้าไป  “วุ่นวาย” ในประเทศ

อสังหาริมทรัพย์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่โตอีกต่อไปในยามที่จำนวนคนเพิ่มน้อยหรือลดลง  ความต้องการที่ลดลงบวกกับ “สต็อก” ของบ้านที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากบ้านนั้นสร้างเสร็จแล้วก็สามารถอยู่ได้เป็นหลาย ๆ  สิบปี  ดังนั้น  ถ้าเราเห็นอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลงช่วงนี้ก็อย่าไปหวังว่ามันจะ “ฟื้นขึ้นแรง” ในปีต่อ ๆ  ไป  มันอาจจะถึงจุดที่ค่อย ๆ  ลดลงอย่างช้า ๆ  ตลอดไปแล้วก็ได้  และนี่ก็อาจจะรวมไปถึงห้างร้านและช็อปปิ้งมอลทั้งหลายที่ต้องอาศัยคนเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้า  ซึ่งถ้าคนที่มีเงินและพร้อมจับจ่ายสินค้ามีน้อยลงเพราะคนแก่ตัวลงและคนเกิดใหม่มีน้อยลง  การเติบโตของร้านค้าเหล่านั้นก็จะถึงจุดที่ค่อย ๆ  ลดลงตลอดไป  แน่นอนว่าคนที่เข้าห้างบางส่วนก็อาจจะเป็นนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น  แต่ที่จะสามารถทดแทนคนในประเทศเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย   อาจจะยกเว้นก็คือร้านค้าที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จริง ๆ ที่อาจจะยังอยู่ไปได้เรื่อย ๆ  ตราบที่การท่องเที่ยวของเรายังดีอยู่

เรื่องของ Innovation หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ  หรือความคิดใหม่ ๆ  ต่าง ๆ  ที่เราเชื่อกันว่าจะเป็นสิ่งที่นำเราให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปในทางเศรษฐกิจเองนั้น  ผมก็คิดว่าทำได้ไม่ง่ายเนื่องจากจำนวนคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะเป็นผู้นำทางด้านการคิดค้นและทำธุรกิจ Startup มีน้อยลง  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าอาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของสังคมที่ยังถูกครอบงำโดยความคิดของคนรุ่นก่อนที่มีจำนวนมากและยังเป็นผู้นำทางสังคมและการเมืองอยู่  ซึ่งทำให้สังคมไทยยังเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมสูง  คนไม่ค่อยกล้าที่จะคิดนอกกรอบในขณะที่ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมจะได้รับการส่งเสริม  ผลก็คือ  ความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ  เกิดขึ้นน้อย  และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังไม่มีสตาร์ทอัพที่เป็น “ยูนิคอร์น” เลย  ทั้ง ๆ ที่ระดับการพัฒนาและขนาดเศรษฐกิจของไทยนั้นอยู่เหนือกว่าอีกหลาย ๆ  ประเทศหลักในอาเซียน  และนี่ก็ทำให้ผมนึกถึงญี่ปุ่นที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ  มานานมากหลังจากยุค “วอล์คแมน” ของโซนี่ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศยิ่งใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลกมานาน

ทั้งหมดนั้นก็คือปัญหาของความแก่ซึ่งผมเองก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้อย่างไร  ในด้านของส่วนตัวเองนั้น  สิ่งที่ทำก็คือการพยายามรักษาสุขภาพและหาวิธี “ลดอายุ”  ในส่วนของการลงทุนเองนั้น  ผมก็กระจายการลงทุนบางส่วนไปประเทศที่ยังไม่แก่และอยู่ในวัยฉกรรจ์และกำลังเติบโตเหมือนเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/09/02/2197

TSF2024