Art of Strategy 08 ส.ค.62: เงินฝังตุ่ม

โลกอยู่ในสภาวะ Risk-off ตลาดมีความกลัวสูง ตลาดไม่มั่นคง เงินโยกออกจากสินทรัพย์ ทะลักสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาวะ Risk-on นักลงทุนมั่นใจ เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง

…พูดถึง Risk-Off ก็อดขำไม่ได้ เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ จำได้ว่าต้องมาเถียงกับเจ้าหน้าที่การตลาดของที่ทำงานเดิม เพราะเค้าบอกว่า Risk-Off คือสภาวะที่ตลาดมีความเสี่ยงต่ำ เงินจะต้องไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา โลกเกิดปรากฎการณ์ Risk-on สลับ Risk-off มาตลาด ลักปิดลักเปิด บางครั้งก็กลัวหนัก บางครั้งก็กลัวเบา แต่มาช่วงนี้ เห็นได้ชัดว่ากลัวกันขนหัวลุก กลัวในระดับว่าโลกจะแตกแหวกชิมิกันอย่างจงหนัก

สาเหตุของความกลัวคงไม่ต้องไปพูดถึง แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ กระแสเงินที่ไหลออกจากสินทรัพย์ตอนนี้ มักทะลักเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยรุนแรงผิดไปจากที่ผ่านมามาก (แสดงว่ากลัวกันสุดขีด) ราคาทองคำพุ่งขึ้นกว่า 5% ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ 1,496 เหรียญสูงสุดในรอบ 5 ปีแบบ งงๆ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก US 10Y Bond Yield ดิ่งลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ้งที่ 1.73% และที่ชัดที่สุดคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของญี่ปุ่น ลงติดลบถึง -0.22% ใกล้ทำจุดต่ำสุดในรอบ 11 ปี

Art of Strategy 08 ส.ค.62: เงินฝังตุ่ม

รูปที่ 1

ความกลัวว่าโลกจะแตกแหวกชิมิ จนถึงขนาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรติดลบ แปลว่า เอาเงินไปฝากแบงค์แล้วยังต้องถูกหักค่าฝาก แบบนี้สู้เอาเงินไปฝังตุ่มไม่ดีกว่าเหรอ แปลว่า สถานการณ์ตอนนี้มันคือสภาวะที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของเงินอย่างแรง ลองย้อนกลับไปในอดีต ดูจากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ตอนนั้นโลกกลัวเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง (จากการชะตัวทางเศรษฐกิจของจีน) อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของญี่ปุ่นปรับลงติดลบ ทำเอาราคาทองคำพุ่งกระฉูดทะลุปอด เมื่อ 11 ก.พ. 2016 วันเดียวขึ้นกว่า 50 เหรียญ หรือ 4.2% ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ต้องพูดถึง ดิ่งนรกหมกไหม้

แต่ก็อย่างที่บอกความผิดธรรมชาติดังกล่าวมันไม่สามารถอยู่ได้นาน ในจังหวะที่ทุกคนกลัวกันอุจจาระตัดหาย เงินก็ไปโถมที่พันธบัตรกันจนผลตอบแทนติดลบ คำถามคือ เงินมันจะค้างอยู่อย่างนั้นนานเหรอ … ตอบได้เลยว่า เงินมันไม่สามารถอยู่ในที่ผลตอบแทนติดลบได้นาน ยิ่งในยุคที่สภาพคล่องของโลกกำลังจะกลับมาลั้นอีกครั้ง บอกได้เลยว่า เงินอยู่เฉยๆ ให้ด้อยค่าไม่ได้ (เพราะเงินเฟ้อมันกำลังจะเร่งตัว) ถ้าเป็นเมื่อปีที่แล้วจะไม่ว่าเลย เพราะเป็นปีที่สภาพคล่องโลกถูกดูดออก แต่มันไม่ใช่สำหรับปีนี้ที่บรรดาธนาคารกลางกำลังเตรียมใช้ easing policy และรัฐบาลประเทศใหญ่กำลังเตรียมใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อดำเนินนโยบายการคลังครั้งใหญ่

เมื่อดูจากรูปที่ 1 ด้านบน เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของญี่ปุ่น และ MSCI Emerging Market เมื่อปี 2016 จะเห็นได้ชัดว่าในช่วงที่อัตราผลตอบแทนติดลบ ดัชนี MSCI Emerging market จะเริ่มพบจุดต่ำสุด หลังจากนั้นก็ฟื้นยาว ในทางตรงกันข้าม รูปที่ 1 ด้านล่าง ราคาทองคำซึ่งขึ้นแรงในช่วงผลตอบแทนติดลบ ก็จะพบจุดสูงสุดและเข้าสู่โหมดปรับฐานใหญ่

จากรูปสรุปได้ชัดเลยว่า เมื่อโลกเข้าสู่สภาวะความกลัว เงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย แต่ความกลัวนั้น มันจะมีขั้นสุด คือเมื่ออัตราผลตอบแทนติดลบรุนแรง เงินมันอยู่ตรงนั้นไม่ได้ก็จะย้อนกลับมาหาสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

Art of Strategy 08 ส.ค.62: เงินฝังตุ่ม

รูปที่ 2

รูปที่ 2 อันนี้เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน 10 ปีของไทย เทียบกับ SET Index ก็เป็นไปตามนั้น ช่วงที่เกิดความกลัว ไทยซึ่งถูกมองว่าเป็น Safe Haven เงินก็โยกมาพันธบัตรเยอะ ตลาดหุ้นลง แต่เมื่อถึงจุดต่ำสุด (ซึ่งตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรใกล้ทำ New Low แล้วนะจ้า) สภาวะแบบนี้มันจะอยู่ไม่นาน เงินจะไหลกลับสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างรวดเร็ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของไทยลงสู่ 1.6% เอาจริงทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงมา 0.25% สู่ 1.75% เพราะคนที่ติดตามทิศทางดอกเบี้ยจะรู้ว่า Bond Yield มันลงต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่นาน และด้วยไทยถูกมองเป็น Safe Haven เงินไหลเข้ามาพักจนบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค แบบนี้ กนง. ไม่สามารถคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้แน่นอน

Art of Strategy 08 ส.ค.62: เงินฝังตุ่ม

รูปที่ 3

รูปที่ 3 ตอนนี้ Earning Yield Gap ระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในตลาดหุ้นไทยหักออกด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ถ่างออกเป็น 4.28% ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตาว่า SET Index จะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะดูจากรูปก็จะเห็นว่าเอาแค่ถ่าง 3.8% ก็จะทำให้ตลาดฟื้นได้ทุกครั้งแล้ว

มาถึงบรรทัดนี้ ผมคิดว่า ตอนนี้โลกยังกลัวกันอยู่ แต่สัญญาณหลายๆ อย่างได้บอกมาว่า ความกลัวมันใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้น ความหวังที่เงินจะไหลกลับสู่สินทรัพย์เสี่ยงยังมีอยู่ …

เรายังมีความหวังอยู่ครับ

ติดตามบทความอื่นๆ หรือสอบถามพูดคุยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/prakitsiriwattanaket

ประกิต สิริวัฒนเกตุ

TSF2024