คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

วันนี้เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับกูรูคนที่ 5 แห่งแคมเปญ GURUPORT

คุณภัทรธร ช่อวิชิต หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่าอาจารย์ภัทร เป็นเจ้าของเพจและเว็บไซต์ https://www.investidea.in.th/ ซึ่งมุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเข้าใจง่าย นอกจากนี้อาจารย์ภัทรยังได้พัฒนาเครื่องมือและระบบการลงทุนผ่านเพจและเว็บไซต์ Labhoon รวมถึงเป็นเจ้าของหนังสือหุ้นหลายปกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “คุ้ยแคะแกะหุ้นเด้ง” “เจาะหุ้นร้อนสแกนหุ้นเด้ง” และ “ผ่าความลับงบการเงิน” รวมถึงเขียนบทความและสอนที่ efinschool อีกด้วย การันตีได้ว่าอาจารย์ภัทร คืออีกหนึ่งกูรูหุ้นของประเทศไทย

ก่อนที่เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพอร์ต ASEAN Growth ของอาจารย์ภัทร ที่จะเปิดให้ลงทุนกันในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 นี้ เราอยากจะชวนอาจารย์ภัทรมาทบทวนเรื่องราวการลงทุนของเขาสักหน่อย

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

เริ่มจากคำถามคลาสสิกอย่าง… “ทำไมถึงเริ่มสนใจการลงทุน”

“ผมชอบการลงทุนมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี ตัวที่จุดประเด็นเลยคือเรื่องของดอกเบี้ยทบต้น เราก็นั่งจิ้มตัวเลขไปแล้วมันก็ Growth ได้แบบ เฮ้ย เราจะต้องรวยทางนี้แล้วละ พอเรียนจบปุ๊บเราก็เข้ามาลงทุนตั้งแต่ตอนนั้นเลย ก็เปิดพอร์ต มันเป็นอะไรที่จังหวะเวลาพร้อมพอดี ก่อนหน้านี้เปิดพอร์ตทีต้องมีเป็นแสน แต่ว่าตอนที่เรียนจบ เปิดพอร์ตไม่มีขั้นต่ำ สามารถส่งคำสั่งเองได้ทางอินเตอร์เน็ต ประหยัดลงเยอะ เริ่มจากเงินน้อยๆ หลักพันเอง ค่อยๆ เก็บมาเรื่อยๆ”

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

อาจารย์ภัทรมุ่งเน้นมาทางการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นพิเศษ ตรงนี้มีจุดกำเนิดมาจากหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ที่เป็นไอดอลด้านการลงทุนระยะยาวของอาจารย์ภัทร แนวคิดของ ดร.นิเวศน์ นั้นตรงกับความตั้งใจของอาจารย์ภัทรที่อยากจะเป็น “เจ้าของกิจการ” พอดี

“จริงๆ เราก็อยากเป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้ว พอลงทุนหุ้นปุ๊บ ฝันเป็นจริงเลย เป็นเจ้าของกิจการเลย ซึ่งพอแนวคิดเป็นอย่างนี้ก็จะเหมาะกับทาง Fundamental มากกว่า เราก็จะไปวิเคราะห์เจาะลึกในเชิงบริษัทว่าบริษัทไหนที่กำลังจะเติบโต ซึ่งตอนนั้นก็นับว่าเป็นโชค ปี 47 เนี่ยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมา 5-6 ปีแล้ว ก็มีบริษัทที่รอดจากวิกฤตแล้วสามารถเติบโตได้ โดนกรองมาแล้ว บริษัทที่อยู่ตอนนั้นอย่างน้อยต้องมีดีถึงจะรอดมาได้”

นอกจากจะมี ดร.นิเวศน์ เป็นไอดอลแล้ว อาจารย์ภัทรยังชื่นชอบปีเตอร์ ลินช์ สำหรับแนวคิดปัจจัยพื้นฐานเช่นกัน โดยหลักการของลินช์นั้นจะแบ่งหุ้นเป็น 6 ประเภท แค่หุ้นเติบโตอย่างเดียวก็แบ่งได้เป็นโตหลายแบบแล้วเช่นโตช้า โตเร็ว โตแกร่งนอกจากนั้นก็จะมีกลยุทธ์อื่นอีกอย่างหุ้น turnaround หุ้นวงจร และ หุ้นที่มีสินทรัพย์แฝงทำให้สามารถกลยุทธ์การลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานที่หลากหลายมากขึ้น

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

พอถามว่าแล้วมีการใช้สไตล์การลงทุนอื่นๆ มาประกอบการตัดสินใจด้วยหรือไม่ อาจารย์ภัทรก็บอกเราว่ามีการใช้เทคนิคอลหรือกราฟเข้ามาช่วยเช่นกัน ตัวอาจารย์เองก็ไปลงเรียนมาหลายคอร์สแล้ว หลังๆ ก็มีการใช้สูตรของ CANSLIM ที่เอาโมเมนตัมราคาเข้ามาใช้ด้วย

“อย่างน้อยมันช่วยจังหวะเข้า-ออกให้ดีขึ้น เพราะบางทีเราวิเคราะห์พื้นฐานแล้วดูไม่สุดก็มี มีอะไรที่เรายังไม่รู้ ซึ่งมันก็สะท้อนผ่านกราฟได้เหมือนกัน ช่วยให้เราได้ระวังเพิ่มขึ้น ใช้ทั้งคู่ผสมกัน แต่พื้นฐานจะเป็นตัวกรองที่เยอะกว่า”

เพื่อที่จะบันทึกในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับแชร์ความรู้ด้านการอ่านงบการเงินและการวิเคราะห์ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างง่ายๆ อาจารย์ภัทรได้เริ่มเปิดเพจและเว็บไซต์ Investidea เมื่อ 4-5 ปีแล้ว นอกจากนี้อาจารย์ภัทรยังจัดคอร์สเรียนสำหรับผู้ที่สนใจอยากแกะงบหุ้นด้วยตัวเอง แน่นอนว่าเรื่องที่สอนก็หนีไม่พ้น 3 ประเด็นหลักอย่างการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การดูงบการเงิน และการอ่านข่าว

“ตัวอย่างเช่น ข่าวนี้กระทบกับตัวงบอย่างไร พื้นฐานแบบนี้ ข่าวแบบนี้ เป้าราคาควรจะเป็นประมาณเท่าไร”

และเมื่อเราได้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของอาจารย์ภัทร เราก็เจอว่าอาจารย์มีการใช้เครื่องมือยุคใหม่ๆ อย่างเช่น Python ด้วย ตรงนี้อาจารย์บอกว่าอยากจะจับไอเดียการลงทุนมาทดสอบ ว่าเวลา Backtest ออกมาจะเป็นอย่างไร

“บางทีเครื่องมือหลายๆ ตัวก็ยังไม่ support เราก็เลยต้องเอาเข้ามาแล้วเขียนเอง ก็เขียนได้แบบเบื้องต้นเบสิก machine learning ง่ายๆ อีกอันที่ทำคือเว็บ Labhoon อันนี้ก็คือพออะไรที่มันทำยากๆ ต้องมีการเก็บ data ละเอียดมากขึ้น ก็จะทำผ่านเว็บนี้ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าไปสแกนหุ้นได้ฟรีเลย”

เห็นอาจารย์ภัทรทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่แนวคิดการลงทุนของอาจารย์นั้นชัดเจนเลยทีเดียว นั่นคือการเน้นภาพระยะยาว ถ้าเราซื้อแล้วถือไปกับมันยาวๆ จนมันเริ่มโตช้าลง เราก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีได้ โดยอาจารย์ภัทรบอกว่าขอผลตอบแทนสัก 7-8% ต่อปีก็พอใจแล้ว

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

แต่อาจารย์บอกตอนต้นว่ามีการดูกราฟมาประกอบด้วย ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าอาจารย์ก็แบ่งพอร์ตไปลงทุนระยะสั้นด้วยหรือเปล่า?

“แบบสั้นๆ เก็งกำไรก็มีครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเก็งกำไรปัจจัยพื้นฐาน ว่าบริษัทนี้เดี๋ยวปีหน้าเขากำลังจะโตเยอะ เราก็เข้าไปซื้อดักไว้ก่อน อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งเพิ่มสีสันให้กับชีวิต”

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

ในส่วนของกิจวัตรประจำวัน อาจารย์ภัทรให้ความสำคัญกับการอ่านข่าวมากๆ แต่ไม่ใช่แค่การอ่านข่าวอย่างเดียว ต้องอ่านแบบมีหลักการด้วย

“หัวใจของนักลงทุนก็คือการที่เรามองว่าอะไรจะมาอะไรจะไป เพราะฉะนั้น โดยหลักๆ ก็จะอ่านข่าวทุกวัน อ่านว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งภาคเศรษฐกิจ ทั้งบริษัท ให้เราดูหลายๆ อย่างครับ แต่ว่าถ้าเราอ่านแบบไม่มีหลักมันก็จะมั่ว เราก็จะจับตรงนี้…มันคือส่วนหนึ่งของวิชานี้…ตรงนี้มันคือตรงนี้ พอเรามีวิชาเข้ามา จะได้อ่านแล้วสามารถวิเคราะห์ภาพรวมได้ง่ายขึ้น กิจวัตรประจำวันก็ประมาณนี้เลยครับ แล้วก็จะไปสร้างสีสันให้ชีวิตบ้าง เช่น ตอนนี้ก็ไปลงทุนมีฟาร์มปลูกข้าวโพดเล็กๆ”

คุยกับ อาจารย์ภัทร-ภัทรธร ช่อวิชิต (Investidea): นักลงทุนสายพื้นฐาน ผู้หลงใหลดอกเบี้ยทบต้นและการลงทุนระยะยาว

เรียกได้ว่า เป็นชีวิตที่ค่อนข้างบาลานซ์เลยทีเดียว จากที่ได้คุยกัน เรารู้สึกได้ถึง passion ของอาจารย์ที่มีต่อการลงทุน ซึ่งอาจารย์ก็ได้นำความรู้ความสามารถที่มีมาสร้างพอร์ต ASEAN Growth เพื่อให้พวกเราสามารถลงทุนตามได้ โดยครั้งนี้จะมีพระเอกเป็นหุ้นไทย หุ้นเวียดนาม และกองทุน REIT

“สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนโอเคที่สุดก็คือหุ้นในระยะยาว แต่ความยากก็คือเราจะนำเงินไปอยู่ที่ไหนก็เท่านั้นเอง อาเซียนหรือกลุ่มประเทศอาเซียนก็จะเป็นกลุ่มประเทศหนึ่งที่ผมมองว่ามีความสามารถเติบโตได้ในระยะเวลาสิบปีข้างหน้า ก็เลยเอาเงินมาไว้ที่พอร์ตนี้

ถ้าเกิดสมมติเราโฟกัสประเทศเล็กๆ ไปเลยอย่างเวียดนาม มันก็อาจจะมีความเสี่ยงเยอะหน่อย ก็เลยต้องแบ่งพอร์ตเป็นกองหน้า เวียดนามเป็นหัวหอกไป มีกองกลางเป็นประเทศไทยที่โตแบบไปเรื่อยๆ แล้วก็จะมีกองหลังเป็นกอง REIT เอาไว้ช่วงไหนเวลาตลาดไม่ดี จะเพิ่มน้ำหนักของกอง REIT เข้ามาให้พอร์ตไม่ลดลงไปเยอะ แต่ถ้าช่วงไหนตลาดมาเป็น bull market ก็จะลดน้ำหนัก REIT ลงแล้วเลือกกองหุ้นมากขึ้น เชื่อว่าน่าจะทำให้ได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่ค่อนข้างโอเคในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมครับ”


สนใจลงทุนในพอร์ต ASEAN Growth พอร์ตกองทุนรวมหุ้นอาเซียนและอสังหาฯ จาก Investidea สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/port/investidea/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างครับ