ปัญหาที่หลายคนพบเจอ ส่วนใหญ่พบว่ารายได้ไม่เคยพอใช้ในชีวิตประจำวันเลย ยังใช้จ่ายเดือนชนเดือนอยู่ทุกเดือน ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีความสามารถใช้จ่ายให้เท่ากับรายได้อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้เงินเดือนเราขึ้นทุกปี บางคนพบว่าของมันต้องมี แบรนด์เนมต้องครบ บัตรเครดิตก็รูดง๊ายง่าย รูดเต็มตลอดเวลา รู้ตัวอีกทีก็หนี้ก็บาน หมุนบัตรตลอด (สะสมหนี้เป็นดินพอกหางหมู) แถมต้องจ่ายดอกเบี้ยแสนแพง

บางคนเริ่มมีเงินเก็บแล้ว พอปลายปีไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไร ซื้อแล้วได้อะไร รู้ว่าไม่อยากเสียภาษีเยอะ รีบวิ่งไปแห่ซื้อประกันชีวิต กับกองทุนรวมลดหย่อนภาษีอย่าง SSF และ RMF ซึ่งจริงแล้ว ๆ ผมคิดว่าเงินทอง เป็นสิ่งที่ต้องวางแผน เพราะฉะนั้นเราควรมาเริ่มวางแผนการเงินกันนะครับ

วันนี้ผมจะมาบอกวิธีคิดการแบ่งเงินเก็บง่าย ๆ ด้วยตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและใช้ได้จริงสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างไร ให้คิดสักว่าการวางแผนการเงินเปรียบเสมือนกำลังจะไปกินร้านอาหารบุฟเฟต์ เวลาไปร้านบุฟเฟต์ คงไม่สั่งแต่เนื้ออย่างเดียวใช่ไหมครับ ต้องสั่งผัก หรือสั่งซูชิมาด้วยรวมไปถึงของกินเล่นต่าง ๆ เช่นเดียวกับการวางแผนการเงิน เราต้องควรมี ส่วนที่เป็นสภาพคล่องอย่างบัญชีออมทรัพย์ ส่วนที่เป็นหน้าที่ปกป้องเงินที่หามาได้อย่างประกันชีวิตหรือสุขภาพ และส่วนที่ลงทุนเพื่อทำให้เงินงอกเงย อย่างกองทุนรวม หุ้น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ถ้าพร้อมวางแผนการเงินด้วยตัวเองแล้ว งั้นลองมาทำขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

การวางแผนการเงินที่ดีด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่หัดออม

ขั้นแรกของการงานวางแผนการเงิน

เริ่มต้น! ขั้นแรกของการงานวางแผนการเงินคือ “รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย” เมื่อเราได้เงินเดือนในแต่ละเดือนมาแล้ว ให้ลบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ออกไปก่อน เช่น ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าชอปปิ้ง ไลฟ์สไตล์ และอื่น ๆ

หลังจากนั้น เงินที่เหลือให้เราแบ่งออกมาเป็น 3 ก้อน แบ่งตามระยะเวลาของแผนการทางการเงิน รวมไปถึงเป้าหมายทางการเงินและความสำคัญของเป้าหมาย ซึ่งเราจะนำเอาไปจัดเก็บตามนี้นะครับ (สำหรับถ้าใครพบว่าในส่วนนี้พบว่ายังไม่เหลือเก็บเลยก็ต้องไปจัดการบริหารลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ถ้าใครมีหนี้สินมากต้องไปบริหารหนี้สินก่อน)

การวางแผนการเงินที่ดีด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่หัดออม

การวางแผนการเงินที่ดีด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่หัดออม

1. Short Term ระยะสั้น (0-1 ปี)

เก็บไว้สำรองค่าใช้จ่ายเวลาจำเป็นเผื่อตกงานหรือเวลาฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน ควรเก็บไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund)

วัตถุประสงค์ คือ เสี่ยงต่ำ และสามารถถอนเงินใช้ได้ทันทีถ้าเกิดฉุกเฉิน ถ้าเริ่มเก็บให้ได้สัก 3 เดือนของรายจ่ายจำเป็น เราจะเริ่มมีความอุ่นใจทางการเงินระดับแรกแล้วนะครับ ใครถึงแล้วผมขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ

2. Medium Term ระยะกลาง (3-7 ปี)

เก็บไว้สำหรับของที่อยากได้ จำเป็น และสำหรับความฝันของตัวเองในอนาคต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เที่ยวต่างประเทศ ค่าเล่าเรียนตัวเอง แต่งงาน และค่าเทอมสำหรับบุตร ควรเก็บไว้ที่พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้/ผสม กองทุนรวมตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ

วัตถุประสงค์ คือ ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลางถึงสูง เพื่อให้เงินของเรางอกเงยและชนะเงินเฟ้อในระยะกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ และควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม

3. Long Term ระยะยาว (มากกว่า 7 ปีขึ้นไป)

เก็บไว้เพื่อวัยเกษียณอายุหรือเป้าหมายทางการเงินระยะยาวขึ้นไป ควรเก็บไว้ที่ หุ้น กองทุนรวม กองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี SSF และ RMF รวมไปถึงประกันชีวิต และสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ

วัตถุประสงค์ คือ ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลางถึงสูง เพื่อให้เป็นการเพิ่มมูลค่าของเงินของเราในระยะยาวและชนะเงินเฟ้อ ยิ่งการลงทุนนาน ความเสี่ยงยิ่งลดลง แต่ผมแนะนำ ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนการลงทุนทุกครั้ง ให้เข้าใจถึงผลตอบแทน ความเสี่ยง จัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม จะได้มีความมั่นใจในการลงทุนนะครับ

Update: ปัจจุบันกองทุน LTF ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยเปลี่ยนไปใช้กองทุน SSF แทน และตอนนี้นักลงทุนสามารถซื้อกองทุน SSF-RMF กับ FINNOMENA ได้แล้ว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มต้นลงทุนได้ที่
https://finno.me/tax-saving-fund1452

สรุป

เห็นไหมครับการวางแผนการเงินที่ดีด้วยตัวเองตัวเองไม่ยากเลย และที่สำคัญเราอย่างลืมปกป้องเงินที่เรามาได้ด้วยนะครับควรมีประกันสุขภาพเผื่อเจ็บป่วยด้วยนะครับ รวมไปถึงมีประกันชีวิตที่เหมาะสมด้วยนะครับ จะได้ไม่มากระทบกับเงินที่เราตั้งเป้าเก็บเอาไว้ เก็บเล็กผสมน้อยไปทุกๆ เดือนแบบนี้ รับรองว่าในอนาคตจะไม่ลำบากแน่นอน สู้ ๆ นะครับ

TSF2024