ดูท่าจะไม่ง่ายซะแล้วสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุดคุณ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เปิดแถลงข่าวยืนยันจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า อุดมการณ์การเมืองแตกต่างกัน และต้องการร่วมทำงานกับฝ่ายประชาธิปไตย ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำพูด “ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ต้นจนจบ”
คำถามคือ การออกมายืนยันของ คุณ มิ่งขวัญ น่าตกใจหรือไม่
หลายคนอาจบอกว่าไม่น่าตกใจเพราะรู้อยู่แล้วว่า คุณมิ่งขวัญจะเลือกอยู่ฝั่งไหน ตั้งแต่ที่ พรรคเพื่อไทย นัดแถลงข่าวจับมือลงสัตยาบัน กับพรรคอนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติ พลังปวงชนไทย ถึงแม้ว่าวันนั้นคุณ มิ่งขวัญ จะไม่ได้มาร่วมด้วย แต่จากการยืนยันผ่านเฟสบุ๊คมันก็ชัดในตัวมันเองอยู่แล้ว
คำถามต่อมา แล้วมันจะมีผลอะไรต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่
คำตอบมันขึ้นอยู่กับว่าจะยึดสูตรในการคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ หากยึดตามที่ กกต. เปรยไว้จำนวนเสียงรวม 7 พรรค ก็อาจได้ไม่ถึง 250 เสียง (ประมาณ 245 เสียง) แต่หากยึดตามวิธีการของ อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ซึ่งอิงจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 (5) ซึ่งมีใจความสำคัญที่เหมือนกันคือ
1. ถ้าพรรคการเมืองได้ ส.ส. เขต มากกว่า ส.ส. ที่พึงได้ ให้พรรคนั้นได้จำนวน ส.ส. ตาม ส.ส. เขต และไม่มีสิทธิ์ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
2. ให้นำ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส. เขตน้อยกว่า ส.ส. ที่พึงได้ ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินกว่า ส.ส. ที่พึงได้
ความสำคัญอยู่ที่ท่อนสุดท้ายคือ “ต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินกว่า ส.ส. ที่พึงได้”
แล้ว ส.ส. ที่ถึงได้คิดจากอะไร ก็คิดจาก คะแนนเสียงของแต่ล่ะพรรครวมทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 71,057 (71,057 เกิดจาก จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมดหักออกด้วยบัตรเสียและ Vote no หารด้วย ที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมด 500 ที่)
ดังนั้นหากพรรคไหนที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ น้อยกว่า 71,057 เสียง ก็จะได้ ส.ส.ที่พึงได้ต่ำกว่า 1 คน แล้วทีนี้ถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งบอกไม่ให้พรรคการเมืองได้ ส.ส. เกิน ส.ส.ที่พึงได้ ก็ในเมื่อ ส.ส. ที่พึงได้มันต่ำกว่า 1 คน พรรคการเมืองที่ได้คะแนนน้อยกว่า 71,057 เสียงก็ไม่ควรได้ ส.ส. เลย แค่นี้ก็ชัดแล้วว่าจากเดิมที่เคยคาดว่าจะมีพรรคเล็กพรรคน้อยได้ ส.ส. แบ่งกันไปพรรคล่ะ 1 ที่นั้น เตรียมเป็นฝันสลายได้เลย
อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ว่าจะยึดแบบไหน และที่สำคัญคือยังมีเรื่องการนับคะแนนใหม่ การเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดยังต้องรอติดตามการประกาศผลอย่างเป็นทางการ 9 พ.ค.62
ทีนี้เราลองมาดูว่า หากใช้วิธีที่อิงรัฐธรรมนูญของ อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร พรรคการเมือง 7 พรรคจะได้ ส.ส. รวมทั้งหมด 252 ที่ นั่นหมายความว่าจะเหลือให้ พรรคพลังประชารัฐไปรวบรวมได้อีกเพียง 248 ที่
จริงอยู่ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี อาศัย ส.ว. 250 กับ ส.ส.อีก 126 เสียง ก็เพียงพอต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่แม้จะได้ตัวนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยจำนวนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่เกินกึ่งหนึ่ง มันจะทำให้การทำงานระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแน่ๆ เริ่มตั้งแต่ การเลือกประสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็คือประธานรัฐสภา การพิจารณากฎหมายงบประมาณและกฎหมายอื่นๆ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เรื่องที่แย่กว่านั้นก็คือ วันนี้ ส.ส. ที่เหลือให้พรรคพลังประชารัฐไปรวบรวม 248 คนนั้น ดูเหมือนว่าจะยากแสนยากที่จะรวมได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ
คำตอบอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ร่วมรัฐบาล
แม้ตอนแรกก่อนเลือกตั้งทุกอย่างจะดูราบรื่น แต่หลังจากที่การเลือกตั้งจบลง และพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง (อย่างยับเยิน) นำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารในพรรค การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาลต้องรอการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 41 คนให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งกว่าจะรู้เรื่องก็นู่น 15 พ.ค.62
ที่น่าสนใจคือหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งและกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส. ระดับพรรคขนาดกลางไปแล้วนั้น มีความต้องการที่จะฟื้นฟูความนิยมพรรคด้วยการ Rebranding ครั้งใหญ่ เอิ่ม แล้วจะไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเหรอ ?
คุณเห็นคุณ มิ่งขวัญ โชว์แมนไหม เค้าแสดงจุดยืนไม่สนใจผลประโยชน์ที่จะได้รับด้วยการยืนยันไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
เอ่อ… แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ที่คิดฟื้นศรัทธาจากประชาชน จะแสดงจุดยืน ยังไงไม่ทราบ งานนี้เตรียมโดนเปรียบเทียบได้เลย
มาถึงตรงนี้ จึงไม่น่ายากที่จะเดา ผมฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแหกเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมรัฐบาล และ งูเห่าเกิดแน่ และคงเกิดขึ้นเยอะมากๆ
และหาก พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ร่วมรัฐบาล แล้วพรรคภูมิใจไทยจะฝืนร่วมรัฐบาลไหม ?
จะยอมฝืน จะยอมเสียชื่อไหม ?
มาถึงบรรทัดนี้ผมก็เซ็งสิครับ การจัดตั้งรัฐบาลจากเดิมที่คิดว่าจะง่าย มั่นใจแน่ๆว่าไม่มีปัญหาตั้งแต่มีเรื่อง Hongkong Effect และตลาดน่าจะเริ่มรับรู้เป็นข่าวดีหลังสงกรานต์ไปจนถึง 9 พ.ค.62 ความฝันที่ผมจะเห็น SET Index ทะยานไปเกิน 1,685 จุดมีสิทธิ์เป็นหมัน เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงในสภาผู้แทนฯเกินกึ่งหนึ่ง ณ เวลานี้ มันเป็นเรื่องที่เป็นได้ยากมากๆๆๆ
การจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อ หรือการรวบรวมเสียงมันได้น้อยจริงๆ ผมเคยเขียนถึงความเสี่ยงในเรื่องนี้ไปแล้วครั้งนึงว่าฝั่งพลังประชารัฐอาจแก้เกม ไม่ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบรรดา ส.ว. ไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ขณะที่ในสภาผู้แทนไม่มีพรรคไหนรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล
มาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรีปัจจุบันบริหารราชการไปจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้หัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจตาม รธน. ชั่วคราวปี 2557 (ยังคงใช้ ม.44 ได้)
โดยสรุป ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รัฐบาลปัจจุบันจะมีอำนาจบริหารประเทศต่อ แต่ปัญหาใหญ่คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ต่อไปด้วย การพิจารณาอนุมัติกฎหมายต่างๆ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าตัวประธานรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญให้เป็นคนเดียวกับประธานสภาผู้แทนราษฎร) จะไม่เป็นที่ถูกใจของ คสช. การดำเนินการระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีปัญหาไม่ได้แตกต่างไปจากการดื้อดึงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะมีดีหน่อยก็ตรงที่ คสช.ยังใช้มาตรา 44 ได้อยู่
ในช่วงที่รอการตั้งรัฐบาลเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มันจะเงียบอยู่แล้ว การลงทุนการใช้จ่ายของภาครัฐหาย การลงทุนภาคเอกชนใครจะกล้า และการบริโภคของเอกชนก็คงไม่ต้องพูดถึง และถ้ายิ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 และปีหน้า โอย ไม่อยากคิด
นอกจากการเมืองย่ำแย่ ยังต้องมาถูกซ้ำเรื่องผลประกอบการอีก เดี๋ยวพอเข้าสู่เดือน พ.ค. บรรดาบริษัทขนาดกลาง-เล็กประกาศงบ ซึ่งส่วนใหญ่จะแย่กว่าปีก่อน … SET Index มันจะไปได้ไหมล่ะ
ขอร้องไห้แป๊บ T T
ประกิต สิริวัฒนเกตุ