“หนี้” 1 ในคำสั้นๆ ที่กลายเป็นสภาวะทิ้งตัวของใครหลายๆ คน และ 1 ในภาวะที่เชื่อว่าทุกๆ คนคงไม่อยากเป็นกัน วันนี้ #อ่านข่าวนอก ขอมาแชร์มุมมองการบริหารหนี้ สำหรับคนที่เป็นหนี้กันไปแล้ว ว่าทำอย่างไร จะได้ใช้หนี้อย่างคุ้มค่าและหมดให้ไวที่สุด

ในกรณีที่หนี้สิน “รุงรัง” ไปหมด ก่อนอื่นเลยมี 4 สิ่งที่ต้องรู้้

  1. ยอดหนี้มีเท่าไหร่ – เพื่อที่จะได้เห็นเป้าหมายว่าการปลดหนี้ของเรานั้นใกล้ หรือไกลเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้เรานั้นบริหารกระแสเงินสดได้ดียิ่งขึ้น
  2. รายได้คงเหลือของเรา – เราควรเช็ครายได้รายเดือนของเรา ทั้งก่อน และหลังชำระสินเชื่อในแต่ละเดือน เพื่อนำมาวางแผนในการชำระให้ถูกต้อง
  3. ดอกเบี้ยคิดอย่างไร และเท่าไหร่ – สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ เราต้องรู้ให้ได้ว่า “หนี้” ที่เราติดอยู่นั้นมีวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบใด เช่น ชำระแบบลดต้นลดดอก หรือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งมีความสำคัญมาก จึงขอลงรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

โดยทั่วไปแล้วการคิดดอกเบี้ยนั้นมี 2 แบบข้างต้น ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ เมื่อเราชำระเงินเข้าไปจำนวนหนึ่ง เช่น 2,000 บาท เงินจำนวนนั้นจะถูกกันส่วนหนึ่งเพื่อไปชำระดอกเบี้ย และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปชำระเงินต้น แต่สิ่งที่ต่างคือภาระดอกเบี้ยที่ เท่าเดิม หรือ ลดลง ในการชำระงวดถัดๆ ไป โดยในกรณีของแบบลดต้นลดดอกนั้น เมื่อชำระแล้วงวดถัดไปเราจะเสียดอกเบี้ยน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากคิดบนเงินต้นที่น้อยลง เช่น ติดหนี้ 10,000 บาท ดอกเบี้ย 2% (สมมติว่าต่องวด) จะทำให้ดอกเบี้ยเท่ากับ 200 บาท (10,000 x 2% = 200) ทำให้เหลือชำระเข้าเงินต้นที่ 1,800 บาท

ส่งผลให้ในงวดถัดมาดอกเบี้ย 2% ต่องวดดังกล่าวจะคิดจากเงินต้นเพียง 8,200 บาทเท่านั้น ทำให้เราเสียดอกเบี้ยในงวดถัดมาเพียง 164 บาท และ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะชำระเงินต้นทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า หากเรายิ่งชำระต่องวดมากเท่าไหร่ งวดถัดๆ ไปจะเสียดอกเบี้ยน้อยลงเท่านั้น และทำให้เราเสียดอกเบี้ยโดยรวมทั้งหมดน้อยลง

ในขณะที่หากเป็นการคิดดอกแบบอัตราคงที่ หากเราชำระเท่ากันที่ 2,000 บาท งวดต่อๆมาก็จะเสียดอกเบี้ย 200 เท่าเดิมอยู่ดี เนื่องจากคิดจากเงินต้นที่ 10,000 เสมอ ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นอันใดที่เราจะต้องชำระเกินเข้าไป เพราะไม่ช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้แม้แต่บาทเดียว ซ้ำยังทำให้เราเสียโอกาสที่จะนำไปลงทุน หรือชำระสินเชื่อตัวอื่นที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ส่วนถัดมา คือ คิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกถูกว่าควรชำระหนี้ก้อนไหนก่อน หากเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอกเหมือนกัน กล่าวง่ายๆ คือ หากคิดดอกแบบลดต้นลดดอกเหมือนกันแล้ว ก็แนะนำให้ชำระตัวแพงก่อน เพื่อประหยัดดอกเบี้ยที่จะต้องเสียทั้งสัญญาให้ได้มากที่สุด

และข้อสุดท้าย 4. ผ่อนเท่าไหร่ และคิดอัตราผ่อนอย่างไร – การที่เรารู้ว่าผ่อนเท่าไหร่ จะช่วยให้เราคำนวณได้ถูก ว่ารายได้ที่เหลือนั้นพอชำระหรือไม่ แต่สำคัญกว่าก็คือ ผ่อนอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปแล้วสินเชื่อเงินก้อนทั้งหลายจะมีอัตราผ่อนแบบคงที่ กล่าวคือ กรณีกำหนดมาแล้วว่า 2,000 ต่อเดือน ก็จะต้องชำระ อย่างน้อย 2,000 ต่อเดือนเสมอ ไม่ว่าเดือนก่อนหน้าจะผ่อนไปกี่แสนก็ตาม กับอีกกรณีคือ อัตราผ่อนที่ลดตามเงินต้น ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นรูปแบบของบัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต (ต้องมิใช่กรณีทำผ่อนของตามโปรโมชั่น) โดยทั่วไปบัตรกดเงินสดมักมีกำหนดอัตราผ่อนไว้ 3-5% ของเงินต้นคงเหลือ หรือขั้นต่ำ 500-1,000 บาท แล้วแต่อัตราไหนสูงกว่า กับบัตรเครดิตทีมักกำหนดให้ชำระขั้นต่ำ 10% ของเงินต้นหรือ 500-1,000 บาทแล้วแต่ตัวไหนสูงกว่าเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การชำระสินเชื่อประเภทนี้เป็นจำนวนมากในเดือนนั้นๆ จะทำให้อัตราผ่อนในเดือนหน้าของเราลดลง

สุดท้ายแล้ว เมื่อเงินเริ่มเหลือ ก็อย่าลืมเก็บออม และวางแผนให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาติดวังวนนี้อีกต่อไป…

TSF2024