Financial Life – EP 4 : อย่ายึดที่ตัวบุคคล แต่จงยึดถือในหลักการ
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


ในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่แสวงหาต้นแบบ หรือแบบอย่างให้เดินตาม กันมากมายขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จาก หนังสือ บทความ และตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ ที่มักจะเอาผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตนมาออกรายการ หรือมานำเสนอ เพื่อให้เราเห็นว่า เขาเหล่านั้นเดินมา ณ จุดที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งเมื่อเราได้ฟัง ได้อ่านแล้ว ก็เกิดแรงบันดาลใจ อยากเดินตาม อยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเขาเหล่านั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราพบว่า บุคคลที่เราศรัทธา หรือยกย่องว่าเป็นต้นแบบ หลายๆคน กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราวาดภาพหรือจินตนาการไว้ในหัว ยิ่งกว่านั้น เราอาจเห็นเขาทำเรื่องที่ผิดพลาดจนอาจเรียกได้ว่า ไม่น่าให้อภัย ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะทำให้ศรัทธา แรงบันดาลใจ ที่อยู่ในตัวเรา มันสั่นคลอน

ในด้านการลงทุนก็เช่นกัน ทุกวันนี้ เราเห็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากหน้าหลายตา ออกมาให้แนวคิด เปิดตัวหนังสือ ออกสื่อ เป็นวิทยากรบรรยายตามสถานที่ต่างๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า หลักคิดใดถูกต้อง บุคคลคนใดที่น่าสนใจ น่าติดตาม? แน่นอนว่า จะบอกว่าคนคนหนึ่งประสบความสำเร็จด้านการลงทุนได้ ต้องมองในรูปของผลตอบแทนที่เขาทำได้จากการลงทุนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่ปัญหาก็คือ น้อยคนเหลือเกิน ที่จะเปิดพอร์ตโฟลิโอด้านการลงทุน หรือกางสมุดบัญชีออมทรัพย์บอกตัวเลขในบัญชีให้เราเห็น เพราะนั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล อีกอย่าง บุญเก่าของนักลงทุนแต่ละคนก็ยิ่งไม่เท่ากัน ทั้งเรื่องระยะเวลา และเรื่องต้นทุน

เรื่องระยะเวลา นักลงทุนบางคนใช้เวลาลงทุนมายาวนานมากกว่า ๑๐ ปี ถ้าหลักการลงทุนของเขาถูกต้อง ผลตอบแทนก็ย่อมสูงกว่านักลงทุนคนอื่นเป็นธรรมดา เรื่องต้นทุน หากเริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนที่มากกว่านักลงทุนคนอื่น ก็ได้เปรียบกว่าเห็นๆ ดังนั้น หากกลับไปมองที่ตัวเลขจำนวนเงินที่เขาทำได้ ณ วันนี้ ก็คงตอบเราไม่ได้หมดว่าใครเก่งกว่าใคร และที่สำคัญ กิเลส ของมนุษย์ นั้นไม่มีที่สิ้นสุด มันจึงขึ้นอยู่กับคำว่า “พอ” ว่าแต่ละคนอยู่ในระดับใดมากกว่า

แต่อย่าลืมว่า มนุษย์ คือสิ่งมีชีวิตที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองสังเกตที่ใจตัวเองว่า วันๆเราคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้กี่เรื่อง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้กี่ครั้ง ดังนั้น คนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ อาจจะมีโอกาสเปลี่ยนไปเมื่อวันข้างหน้ามาถึง นั้นเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับนะครับ ในทุกวงการ ทุกวิชาชีพ มีทั้งคนดี คนไม่ดี มีทั้งผู้ที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ดังนั้น การไปยึดติด หรือวางศรัทธาไว้ที่ตัวบุคคล ก็ย่อมมีโอกาสหวั่นไหว เมื่อคนๆนั้นเปลี่ยนไปไม่ใช่คนเดิม

แล้วเราควรวางศรัทธาไว้ที่ใด?

เมื่อเราได้ศึกษาแนวคิด และสิ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นประสบความสำเร็จ อาจมีความแตกต่างกันโดยบริบท แต่คุณจะเห็นว่า มันมีวิธี หรือแนวคิดที่คล้ายคลึงกันอยู่ และไม่น่าเชื่อว่า ไม่ว่าจะอยู่สาขาวิชาชีพใด หลักคิดในภาพใหญ่เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จกลับคล้ายคลึงกันในหลายๆส่วนทีเดียว ซึ่งว่าโดยย่อ ก็คือ อิทธิบาท ๔ อันได้แก่

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ดังนั้น ถ้าถามผมวันนี้ ว่าผมยึดอะไรในการทำงาน ยึดอะไรในดำเนินชีวิต ผมไม่ได้ยึดติดกับบุคคลที่ประความสำเร็จเหล่านั้น แต่ผมยึดหลักการที่ทำให้คนเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งหลักการใหญ่ๆนั้นก็คือ อิทธิบาท ๔ แต่ตามมาด้วยข้อคิด และหลักการในรายละเอียดอีกมากมายที่แต่คนต้องไปเรียนรู้ในสาขาวิชาที่คุณสนใจ

ในทางการเงิน การลงทุน นักลงทุนที่สนใจการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน ก็ต้องไปดูวิธีวิเคราะห์งบการเงิน หมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงาน ประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทโดยละเอียด ไม่ใช่ เดินตามเซียน โดยเห็นว่า เขาเลือกหุ้นตัวใด ก็ไปเลือกหุ้นตัวนั้น โดยเชื่อว่า หรือโดยศรัทธาว่า เขาเก่ง เขามีความเชี่ยวชาญ เขาน่าจะเลือกและวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว อย่างที่บอกครับ เซียนที่คุณเห็น ก็เป็นมนุษย์เหมือนๆกับเรา ที่ผ่านมาเขาอาจไม่เคยผิดให้เราเห็น แต่ไม่มีอะไรยืนยันว่าเขาจะถูกตลอดไป

ดังนั้น เราจะอ่านหนังสือ อ่านบทความ ไปงานสัมมนา หาทางสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุน ไม่ว่าแบบใด แต่อย่าลืมสิ่งที่ควรเอากลับมา คือ หลักคิด และแนวทางของการเดินที่ถูกต้อง เพราะหลักการที่ถูกต้องนั้นไม่เคยสั่นคลอน และอยู่ได้ไปอีกยาวนาน ตราบเท่าที่มีผู้เดินบนทาง และหลักการเส้นทางนั้น


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast