ก้าวใหม่ของ JKN:
ตอบโจทย์คนไทย ชนะใจคนต่างประเทศ มุ่งมั่นเป็นบริษัทระดับสากล
ARTICLE BY: Nanchya Chomphooteep, ALONGKOT Manorungruengrat, Nattapart Chunhawattanakul
Illustration by: Piyapol Wongsangeim
Key Highlights
- JKN คือผู้ค้าคอนเทนต์ เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคือ JKN ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เด่นๆ ดังๆ จากทั่วโลก เพื่อนำมาขายให้ช่องในประเทศไทย (รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่สนใจ) นำไปเผยแพร่ ในขณะเดียวกันก็ทำสัญญากับเจ้าของคอนเทนต์ในประเทศไทยอย่างช่อง 3 เพื่อนำไปขายต่อให้ต่างประเทศ ตอกย้ำจุดมุ่งหมายของบริษัทที่หมายมั่นจะเป็น “บริษัทระดับภูมิภาค” หรือ Regional Company ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
- ปี 2018 ที่ผ่านมา JKN มีรายได้ในส่วนของการส่งออกมากว่า 20% ของรายได้รวม ปี 2019 นี้ก็ตั้งเป้าว่าจะขึ้นมาอยู่ที่เกินกว่า 30% ในส่วนของการส่งออก และถึงแม้จะได้ 50% ตามที่หวังแล้ว แต่ JKN ก็ไม่มีแผนหยุด เพราะจุดหมายคือการเป็นบริษัทระดับโลก (Global Company) ซึ่งนั่นหมายถึงสัดส่วนรายได้ของการส่งออกต้องมากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด
- อีกเรื่องที่น่าตื่นเต้นของ JKN คือการหันมาลุยผลิตคอนเทนต์ประเภทใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากจัดจำหน่ายซีรีส์โดยสิ้นเชิง นั่นก็คือการเปิดตัวช่อง JKN-CNBC ซึ่งจะอยู่ภายใต้บริษัทย่อยอย่าง JKN Newsโดยช่องนี้จะเน้นนำเสนอข่าวสารการเงินการลงทุนที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ให้กับวงการคอนเทนต์เมืองไทย ที่ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแบบนี้เท่าไรนัก
Introduction
“กาลเวลาเปลี่ยนไป ผู้ค้าคอนเทนต์ร่ำรวยเสมอ จึงได้ชื่อว่า Content is King
นี่คือสิ่งที่ประธาน Viacom กล่าวไว้ตั้งแต่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จนหลายสิบปีผ่านมา มันก็เลยกลายเป็น King of The Industry เป็นผู้นำ ซึ่งปัจจุบันนี้เนี่ยเขากำลังจะเปลี่ยนชื่อคำว่า King เป็น Content is Emperor ด้วยซ้ำไป ใหญ่ขึ้นไปอีก… ใครเป็นผู้ที่กำคอนเทนต์ ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่กำชะตากรรมมีเดีย ทั้งอุตสาหกรรม”
นี่คือคำกล่าวที่คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN กล่าวต้อนรับพวกเราในวันแถลงข่าวหัวข้อ JKN: The Rising Content Queen แสดงให้เห็นถึงกระแสธุรกิจคอนเทนต์ที่กำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะมีคุณค่าและขายได้ตลอดก็คือคอนเทนต์นั่นเอง
ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2014 และการดูคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ (สตรีมมิ่ง) สิ่งนี้ทำให้เหล่าผู้ประกอบการด้านสื่อต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะเมื่อกระแสการเสพสื่อเปลี่ยนไป เมื่อผู้คนหันไปพึ่งพาช่องทางที่รวดเร็วกว่าเดิม เจ้าของช่องทางต่างๆ ก็ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองตามไปด้วย
ในขณะที่เหล่าเจ้าของช่องต้องปรับกลยุทธ์กันไป ผู้ที่ดูเหมือนจะยืนหนึ่งเหนือตลาดก็คือผู้ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ ที่แม้ไม่มีช่องเป็นของตัวเอง แต่ก็มีคอนเทนต์ซึ่งเป็นที่ต้องการของหลายๆ ช่อง เพราะเรียกได้ว่าถึงแม้ช่องทางจะดี แต่ถ้าไม่มีคอนเทนต์ที่น่าดึงดูด ใครเขาจะไปดู?
ถ้าว่ากันด้วยประเภทคอนเทนต์ที่มาแรง หลายคนอาจจะกำลังนึกถึงซีรีส์เกาหลีที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งผลให้วัฒนธรรมเกาหลีได้รับความนิยมในประเทศไทย ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจุดกระแสเกาหลีให้เปล่งประกายขึ้นมาก็คือ JKN นี่ล่ะ ซึ่งเป็นผู้ที่นำซีรีส์เกาหลีเด่นๆ ดังๆ อย่างแดจังกึม มาเปิดตลาดบ้านเรา รวมถึงซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เกาหลีอีกมายมาย เช่น ซอนต๊อก จูมง หรือซีรีส์รักกุ๊กกิ๊กที่ฮิตไม่แพ้กันอย่าง Coffee Prince และ Princess Hours
ทว่า JKN ก็ไม่หยุดนิ่งแค่ซีรีส์เกาหลี เพราะตอนนี้ JKN เห็นโอกาสใหม่ ในการนำละครอินเดียและฟิลิปปินส์มาเปิดตลาดบ้านเรา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเซอร์ไพรส์มากที่ละครจากสองชาตินี้ได้รับความนิยมไม่แพ้ละครเกาหลีเลย ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคนไทยจะติดซีรีส์อินเดีย ซีรีส์ฟิลิปปินส์ล่ะ? นับว่า JKN เฉียบมากที่สามารถมองเห็นช่องว่างในตลาดก่อนที่คู่แข่งจะแย่งไป และสามารถ “ปรุง” คอนเทนต์ที่เคยแปลกหน้าเหล่านี้ให้คนไทยรู้สึกคุ้นเคย
ด้วยเหตุนี้ JKN จึงถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่โดดเด่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 20% ต่อปี บริษัทมีปัจจัยสนับสนุนมากมาย เช่น การเป็นผู้ค้าคอนเทนต์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ CEO การมีคอนเนคชั่นกับสื่อหลายแห่งหลายประเทศ และการกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ สร้างโอกาสใหม่ๆ เช่น ช่อง JKN-CNBC ที่บริษัทตั้งเป้าออกอากาศภายในเดือนมิถุนายนปีนี้
เกริ่นมาขนาดนี้ เราว่าหลายคนน่าจะพอเห็นภาพธุรกิจของ JKN แล้ว แต่ถ้าใครยังงงๆ เราขอเกริ่นสั้นๆ ก่อนละกันว่า JKN คือผู้ค้าคอนเทนต์ เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคือ JKN ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เด่นๆ ดังๆ จากทั่วโลก เพื่อนำมาขายให้ช่องในประเทศไทย (รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่สนใจ) นำไปเผยแพร่ ในขณะเดียวกันก็ทำสัญญากับเจ้าของคอนเทนต์ในประเทศไทยอย่างช่อง 3 เพื่อนำไปขายต่อให้ต่างประเทศ ตอกย้ำจุดมุ่งหมายของบริษัทที่หมายมั่นจะเป็น “บริษัทระดับภูมิภาค” หรือ Regional Company ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแผนงานของบริษัทที่ทาง JKN ได้นำมาบอกเล่ากันในงานแถลงข่าว เรามาฟังความเห็นจากกูรูหุ้นอย่างคุณมาร์ช อลงกฎ มโนรุ่งเรืองรัตน์ เจ้าของนามปากกา BuffettCode ที่ร่วมทีมไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร JKN ถึงถิ่นกันเลย
Teaser: ความเห็นหุ้น JKN จากคุณมาร์ช Buffettcode
“ผมประเมินหุ้น JKN จาก 3 มุมมองนะครับ คือมุมผู้บริหาร ธุรกิจ และการเติบโต
มุมแรกผู้บริหาร ผมชอบที่คุณแอนเป็นนักธุรกิจที่เก่ง ผมเชื่อว่าถ้าคุณแอนอยากขายของใครแล้วไม่น่าพลาด ขายกระจายแน่นอน ถือว่าเป็นคนที่มีความสามารถ หาได้ยากคนหนึ่ง แต่เท่าที่ผมสังเกตคือ JKNเหมือนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการบริหารโดยคุณแอนคนเดียวเป็นผู้บริหารทั้ง10 คน ซึ่งผมมั่นใจว่าเป็นกลุ่มผู้บริหารที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ แต่การที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อจนสำเร็จแบบที่คุณแอนทำเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร
มุมที่สอง มุมของธุรกิจ ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญเพราะธุรกิจ Content Distribution เป็นธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง สิ่งสำคัญอีกอย่างของธุรกิจนี้คือการบริหารสภาพคล่อง เพราะการจะนำคอนเทนต์ไปขายได้ก็ต้องมีเงินไปซื้อคอนเทนต์มาก่อน
ธุรกิจ Content Distribution เป็นธุรกิจที่ซื้อเงินสดแต่ขายบนเครดิต ลูกค้าจะจ่ายเงินใช้เวลา 3-6 เดือน ยิ่งลูกค้าเป็นรายใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงยิ่งมีโอกาสที่จะยืดระยะเวลาในการจ่ายเงินนาน เพราะต้องการให้คอนเทนต์ออกอากาศก่อนเพื่อรองรับเงินจากการขายโฆษณา จึงอาจเกิดโอกาสที่ทำให้ JKN ขาดสภาพคล่อง รวมไปถึงความเสี่ยงของการที่ลูกค้าอาจจ่ายช้ามากจนทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองตามหลักการทางบัญชีและกระทบกับผลกำไรในงบการเงินได้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้รับชำระเงินจากลูกหนี้ได้ทั้งหมด และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ความเสี่ยงก็จะไม่มากนักจึงยังไม่ต้องตั้งสำรองตามหลักการทางบัญชี
ตอนนี้บริษัทมีการบริหารสภาพคล่องโดยการออกหุ้นกู้และมีวงเงินกู้ธนาคารสำรองไว้เยอะพอสมควร ซึ่งด้วยจำนวนหนี้ที่มีทำให้ JKN อาจมีภาระดอกเบื้ยที่เพิ่มขึ้นแต่ทางบริษัทยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการลูกหนี้เพื่อการจัดเก็บหนี้ให้ทันกำหนดเพื่อลดภาระการใช้วงสินเชื่อจะทำให้ลดภาระดอกเบี้ยดังกล่าว
มุมที่สาม มุมของการเติบโต ในสถานการณ์ปกติ JKN ควรจะสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ ตามแผน การขยายออกไปขายคอนเทนต์ ต่างประเทศพิสูจน์ได้แล้วว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เพราะสามารถทำสัดส่วนรายได้ ได้ถึง 25% ของรายได้รวมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเติบโตของ JKN ยังเป็นเรื่องลูกค้าที่เป็นดิจิทัลทีวีซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าระยะยาวจะรักษาศักยภาพในการแข่งขันของตนได้มากน้อยแค่ไหน หากลูกค้ามีรายได้น้อยลง มีกำไรน้อยลงเรื่อยๆ JKN ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Supplier ของบริษัทเหล่านั้นจะมีโอกาสที่เติบโตน้อยลงได้ แต่ JKN ยังเห็นว่าช่องสถานีดิจิทัลทีวีจะต้องรักษาศักยภาพให้ตนเองอยู่ได้ โดยลดต้นทุนคอนเทนต์ที่ผลิตเอง เพื่อนำไปออกอากาศจะต้องใช้คอนเทนต์ที่มีความสะดวก ประหยัด และรวดเร็ว ต้นทุนต่ำก็จะต้องซื้อคอนเทนต์จาก JKN นอกจากนี้ทาง JKN เองก็สามารถขายคอนเทนต์ไปยังช่องทางอื่นที่มีการเติบโต เช่น ทางอินเทอร์เน็ต และ JKN เป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตไปยังต่างประเทศ และพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็คงมีโอกาสเป็น Regional Company ได้ โอกาสที่ยิ่งใหญ่แต่หนทางยังอีกยาวไกล บริษัทยังต้องผ่านบททดสอบอีกหลากหลายเพื่อบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ครับ”
*ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*
Season 1: Road to Regional Company
…เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส…
นี่คือรายชื่อประเทศที่ JKN มีแผนจะไปโชว์ตัวในปี 2019 นี้
ที่ผ่านมา JKN ได้ไปออกบูธและทำโชว์เคสที่ต่างประเทศหลายงาน มีการนำนักแสดงไปโชว์ตัวถึงถิ่น ละครไทยที่ JKN นำไปแสดงศักยภาพนั้นก็อย่างเช่น นาคี 2, คมแฝก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับยอดเยี่ยมจากนานาประเทศ สิ่งนี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบุกตลาดต่างประเทศอย่างแท้จริง โดย JKN หวังจะเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (Regional Company) ภายใน 3-5 ปี ข้างหน้านี้ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ ทาง JKN มองว่ารายได้จากการส่งออกคอนเทนต์ไปต่างประเทศนั้นในเบื้องต้นต้องมีสัดส่วนอยู่ที่50% ของรายได้ทั้งหมดเสียก่อน
แล้วตอนนี้สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่เท่าไร? อย่างปี 2018 ที่ผ่านมา JKN มีรายได้ในส่วนของการส่งออกมากว่า20% ของรายได้รวม ปี 2019 นี้ก็ตั้งเป้าว่าจะขึ้นมาอยู่ที่เกินกว่า 30% ในส่วนของการส่งออก และถึงแม้จะได้ 50%ตามที่หวังแล้ว แต่ JKN ก็ไม่มีแผนหยุด เพราะจุดหมายคือการเป็นบริษัทระดับโลก (Global Company) ซึ่งนั่นหมายถึงสัดส่วนรายได้ของการส่งออกต้องมากกว่า50% ของรายได้ทั้งหมด ไม่ใช่สัดส่วนที่น้อยๆ เลย แต่ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็มีลุ้น
เพราะ ณ ปัจจุบัน JKN ส่งคอนเทนต์ออกไปขายประมาณ 20 ประเทศแล้ว โดยเน้นหลักๆ ที่ประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่ซึ่ง JKN เน้นขายละครไทย ละครอินเดีย และละครฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับการรองรับคอนเทนต์กลุ่มนี้ โดยสำหรับละครไทยนั้น JKN ได้เซ็นสัญญา Exclusive กับ BEC หรือช่อง 3 เรียกง่ายๆ ว่า JKN เป็นเจ้าเดียวที่มีสิทธิ์นำละครช่อง 3 ไปขายต่างประเทศได้
“ถ้าเป็นละครเราต้องรับช่อง 3 ช่องเดียว ซึ่งเราก็ถือว่ามีความเป็นนานาชาติมากที่สุดแล้ว พอเวลาไปสู่ต่างประเทศ ช่อง 3 ดูแล้วโมเดิร์น ชูหน้าชูตาประเทศไทยได้ ณเดชน์ไปอย่างเงี้ยโอเค มาริโอ้ไปอย่างเงี้ยกรี๊ด เจมส์จิไปทุกคนลงไปนอนตาย เรียกได้ว่าสู้ระดับอินเตอร์ได้ โปรดักชั่นน่ะ เรามองไม่ผิด ต่างคนต่างเลือกซึ่งกันและกัน เป็นรสนิยมที่แมตช์กับเราแล้วเห็นว่าไปต่างประเทศได้”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
ถึงอย่างนั้น รู้ไหมว่าไม่ใช่ละครทุกเรื่องที่ได้การตอบรับที่ดีนะ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ละครยอดฮิตของชาวไทยอย่าง “บุพเพสันนิวาส” นั้นไม่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติมากนัก นั่นเป็นเพราะละครเรื่องนี้มีความเป็น “ไทย” มากเกินกว่าที่ชาวต่างชาติจะมีความรู้สึกร่วมไปด้วย ละครไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหา เอกลักษณ์ความเป็นไทย (Thainess) ที่ไม่หนักเกินไป ไม่ซีเรียสเกินไป สามารถผสมผสานเข้าไปกับบริบทความเป็นสากลได้
“ต้องไม่ใช่ไทย Too Historical ประวัติศาสตร์จ๋าเลยน่ะไม่ได้ เช่น เราดูละคร ราชวงศ์ฮั่น ปิดเลย จะมาเรียนประวัติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์กันเหรอบนจอ คนไม่ดูหรอก แต่คนดูแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ใส่ชุดจีนเหมือนกันแต่รำมังกรหยกอย่างนี้โอเคก็เป็น Chineseness ของเขาไง Thainess ก็ได้เหมือนกัน แต่งชุดได้เหมือนกัน แต่อย่าให้เป็น Thai-Centric เกิน ประวัติศาสตร์เกินคนไม่อยากดู เอาแบบสนุกๆ อะ แล้วเอาตัวเรื่องความเป็นไทยมาผสมผสาน”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ JKN ระบุว่าประเทศไทยน่าจะอยู่ที่อันดับประมาณ 5-6 ของตลาดคอนเทนต์ในเอเชีย แน่นอนว่าตำแหน่งต้นๆ ยังคงครองแชมป์โดยเกาหลีใต้ ตามมาด้วย จีน/ ฮ่องกง/ ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดย JKN มองว่าอยากเห็นประเทศไทยไต่ขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดเอเชีย พร้อมให้กำลังใจว่าคุณภาพการผลิตของเรานั้นมีคุณภาพสู้ต่างชาติได้ สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเห็นจะเป็นการทำการตลาดที่ควรแข็งแรงกว่านี้ และบทละครที่ควรปิดช่องโหว่หลายๆ จุดให้เรียบร้อย
ในส่วนของการบุกตลาดต่างประเทศนั้น ล่าสุด JKN ได้คุณ Indra Suharjono มาเป็น Strategic Advisor ซึ่งจะมาช่วยวางกลยุทธ์ของการขายต่างประเทศ ซึ่งประวัติของคุณ Indra ก็ไม่ธรรมดาเลย เพราะมีประสบการณ์ด้านสื่อมายาวนานกว่า 30 ปี เคยดำรงตำแหน่งรองประธานของบริษัท Viacom International Media Networks Asia ซึ่งดูแลช่องดังๆ อย่าง MTVและ Nickelodeon
“คุณ Indra Suharjono เนี่ยรู้จักกันมา อยู่ในอุตสาหกรรมมา 30-40 ปี ก็จะมากกว่าแอน แต่พูดง่ายๆ ว่าเจอกันตั้งแต่ตอนที่อยู่ Viacom เพราะว่าเป็นกรรมการผู้จัดการ Viacom ของเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด อยู่ที่สิงคโปร์ แล้วก็เป็น Influential Person เป็น Woman of The Year หลายครั้ง ที่ปรากฏในอุตสาหกรรมระดับเอเชีย แล้วก็ทำงานทั้ง Warners ทั้ง Viacom เดินทางหลายประเทศ ก็จะมาประจำอยู่ที่ประเทศไทย แล้วก็จะอยู่ที่ JKN Global Media นี่แหละค่ะ”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
ใน 3 ปีข้างหน้า JKN คาดหวังรายได้ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท และหวังโตปีละไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อดูจากความกระตือรือร้นของแผนงานและความเชี่ยวชาญของ JKN แล้ว เป้าหมายนี้ก็ดูไม่ไกลเกินเอื้อมนัก
Season 2: Unique Business Model
“บริษัทนี้ค้าคอนเทนต์ และเป็นบริษัทเดียวในประเทศด้วย นอกนั้นก็จะเป็นเจ้าของมีเดียของตัวเอง”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
มาทบทวนพื้นฐานของบริษัทกันสักหน่อย ธุรกิจหลักๆ ของ JKN หรือบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) คือการ “ค้าคอนเทนต์” โดยบริษัทมุ่งหวังจะเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย และประเทศแถบ CLMV ทั้งในแง่การส่งออกคอนเทนต์ไทยไปยังต่างชาติ และนำเข้าคอนเทนต์ต่างชาติเข้ามายังเมืองไทย เปรียบเสมือนหน้าต่างของโลก
“ตลาดคอนเทนต์มันใหญ่มาก มูลค่าเป็นแสนล้านเลยทีเดียว คือตัว Blue Ocean นี่เองแหละที่เรามองว่าเฮ้ย เรามีคอนเทนต์อยู่ในมือ… บวกกับการทำการตลาดอย่างแข็งแกร่งของคุณแอน เราได้รับความไว้วางใจจากสถานีของทางอินเดีย ให้เราขายนอกเหนือจากประเทศไทยด้วย”
คุณบรรพต ชวาลกร (รองกรรมการผู้จัดการสายงานการลงทุน หรือ CIO)
ว่าแต่ว่าคอนเทนต์ที่เรากำลังพูดถึงนี่มันคอนเทนต์อะไร? แม้หลักๆ JKN จะโฟกัสที่ซีรีส์ แต่จริงๆ แล้ว JKN มีคอนเทนต์ถึง 8 ประเภทด้วยกัน
- JKN Originals: งานที่ผลิตเองเพื่อเผยแพร่ให้คนไทยและทั่วโลก เช่น สารคดี My King, My Queen
- Asian Fantasy: ซีรีส์เอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง อินเดีย ฟิลิปปินส์
- Hollywood Hits: ซีรีส์และภาพยนตร์ฝรั่ง เช่น Walking Dead
- I-Magic: สารคดี ซึ่งชิ้นแรกที่นำเข้าไทยคือ Walking with Dinosaurs
- Kids Inspired: การ์ตูนสำหรับเด็ก เน้นที่มาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ
- Music Star Parade: คอนเสิร์ตทั้งจากฝั่งสหรัฐฯ และเกาหลี รวมถึงเพลงประกอบละคร
- JKN CNBC: ข่าวสารการเงินการลงทุนระดับโลก
- Super Show: วาไรตี้ ทอล์กโชว์ และรายการแข่งขัน
มีแค่คอนเทนต์เฉยๆ คงไม่พอ เพราะคอนเทนต์นั้นต้องถูกเผยแพร่ออกไปถึงจะสร้างคุณค่าได้ ซึ่ง JKN ก็มีถึง 7 แพลตฟอร์ม ตามรูปด้านล่าง
- Digital TV: โทรทัศน์ระบบดิจิทัล ตอนนี้มีลูกค้าอยู่ 22ช่อง เช่น ช่อง 3 5 7 MCOT HD
- Cable Satellite: ระบบดาวเทียมเคเบิล ตอนนี้มีลูกค้าอยู่ประมาณ 200ช่อง ตัวอย่างเช่น true GMM Z
- Cinema: การออกฉายในโรงหนัง
- Merchandise: ผลิตภัณฑ์และของที่ระลึก เช่น เสื้อผ้า ตุ๊กตา เฟอร์นิเจอร์
- Publishing: สื่อสิ่งพิมพ์ เน้นไปทางอีบุ๊ก
- Over The Top: การเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Video On-Demand (VOD) ผ่านการสตรีมมิ่งในแพลตฟอร์ม เช่น B-Flix, AIS Play
- Ancillary: การเผยแพร่คอนเทนต์บนยานพาหนะ เช่น สารคดี My King บนไฟลท์บิน
หากใครติดตาม JKN มาตั้งแต่ต้นๆ อาจจะพอจำได้ว่าก่อนหน้านี้ JKN มีแพลตฟอร์มการเผยแพร่คือ Home Entertainment หรือวิดีทัศน์เอาไว้สำหรับดูทีวีที่บ้านด้วย แต่พอมาปี 2018 แพลตฟอร์มนี้ก็ถูกแทนที่ด้วย Cinema หรือโรงภาพยนตร์แทน (ถึงว่าล่ะ พักหลังๆ เราแอบเห็นว่ามีหนังอินเดียเข้ามาฉายในโรงหนังมากขึ้น) ซึ่งเหตุผลที่บริษัทโละ Home Entertainment ทิ้งไปนั้น…
“Home Entertainment บอกเลยนะปีนี้หมดเกลี้ยงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวีซีดี ดีวีดี บลูเรย์ พวกเราอยู่กันมาตั้งนานแล้ว แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็ทำให้มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แน่นอนว่าทำให้คนที่ค้าคอนเทนต์นั้นร่ำรวยขึ้นไป เนื่องจากว่าพอมีแพลตฟอร์มใหม่เข้ามาปุ๊บ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องคือการขายใหม่ตั้งแต่ต้นเลย ขายซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้ เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
ได้ชื่อว่าค้าขายคอนเทนต์ ก็ไม่ได้หมายความว่า JKN จะทำแค่ซื้อมาแล้วขายไปนะ เพราะถ้าทำแค่นั้น JKN คงไม่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ กลยุทธ์เด็ดของ JKN คือการทำ Localization หรือการปรุงคอนเทนต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศที่ไปเผยแพร่คอนเทนต์ ตัวอย่างเช่น เมื่อ JKN นำซีรีส์อินเดียเข้ามาฉายในไทย ก็ได้มีการเพิ่มคุณค่า (Value Added) ด้วยการพากย์ไทย ทำเพลงประกอบละครเป็นภาษาไทย ร้องโดยนักร้องแถวหน้าของเมืองไทย รวมถึงมีการพานักแสดงอินเดียตัวเป็นๆ มาพบปะกับแฟนคลับด้วย ได้ยินว่าเวลาดาราอินเดียมาไทยทีไร แฟนๆ และแม่ยกต่างตามไปรอพบเจอถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่แพ้ดาราเกาหลีเลยทีเดียว
สำหรับวิธีการขายนั้น JKN มี 2 แบบให้เจ้าของช่องเลือก คือแบบแยกเดี่ยวเป็นเรื่องๆ ชิ้นๆ (Syndication) และแบบที่ขายเป็นช่อง (Linear Channel) เจ้าของช่องสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อคอนเทนต์เป็นเรื่องๆ ไป หรือจะซื้อแบบเป็นช่องที่ทาง JKN จะจัดเตรียมคอนเทนต์แบบมัดรวมมาไว้ให้แล้ว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดแรง ลดต้นทุนของทางเจ้าของช่อง เพราะไม่ต้องวางผังเอง ไม่ต้องจัดการเอง JKN ทำให้หมดเลย
Season 3: Financial Highlights
มาดูฝั่งสถานะทางการเงินของ JKN บ้าง ข้อมูลจาก Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2019 เผยให้เห็นว่ารายได้บริษัทในปี 2018 นี้อยู่ที่ 1,423 ล้านบาท เติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งอยู่ที่ 304 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้นเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 47%
*ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*
รายได้ส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นมาจากค่าขายลิขสิทธิ์ของคอนเทนต์ ซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นนี้เองก็มาจากรายได้ค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มมากขึ้น จุดนี้หมายความว่าบริษัทจะต้องทำการซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างๆ เรื่อยๆ เพื่อตุนไว้ขายสร้างรายได้ให้บริษัทต่อไป โดยซีรีส์อินเดียสร้างยอดขายมากที่สุด คิดเป็นเกือบ 75% รองลงมาคือซีรีส์ฟิลิปปินส์ที่อยู่ประมาณ 20%
ส่วนช่องทางที่สร้างรายได้ให้ JKN มากที่สุดคือทีวีดิจิทัล ในปี 2018 อยู่ที่ 946 ล้านบาท เติบโตกว่า 100% จากปี 2017 ทางฝั่ง Home Entertainment อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่าบริษัทคงไม่เน้นอีกต่อไป ในปีที่ผ่านมา JKN ก็หันไปเน้น VOD แทน ซึ่งเติบโตถึง 77% และปีนี้ก็มุ่งมั่นจะหาลูกค้า VOD ต่อไป สอดคล้องกับกระแส VOD ที่กำลังมาแรงพอดี
*ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*
ว่ากันเรื่องการส่งออก ถือว่าปี 2018 ที่ผ่านมานี้ JKN บุกเปิดตลาดได้ดี รายได้จากการส่งออกคอนเทนต์อยู่ที่ 383 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากเพราะก่อนหน้านี้ในปี 2017 JKN ไม่ได้ส่งออกเลย คอนเทนต์ที่ว่าก็คือละครไทยของช่อง 3 กว่า 70 เรื่อง และละครต่างประเทศอย่างอินเดียกับฟิลิปปินส์ ที่วางใจให้ JKN ช่วยทำตลาดในต่างประเทศและจัดจำหน่ายให้ โดยลูกค้าหลักๆ ก็จะเป็นกลุ่ม CLMV และปีนี้จะมีไต้หวันร่วมด้วย รายได้จากการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะปีนี้บริษัทมีแผนจะออกไปโปรโมตอีกหลายงานในต่างประเทศ
ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่แค่รายได้ที่เติบโตสูง ทางด้านค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นสูงจนส่งผลกดดันกำไรขั้นต้นเช่นกัน แม้ในปี 2018 กำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 525 ล้านบาท จาก 488 ล้านบาทในปี 2017 แต่การเติบโตลดลงเหลือ 37.4% จากปีก่อนที่ 42.3%
*ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*
หากย้อนกลับไปในปี 2015 นั้น ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทเท่ากับ 255 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมาที่ 1,068 ล้านบาทในปี 2018 ถ้าไปดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายจะเห็นว่าเป็นค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ลิขสิทธิ์ของคอนเทนต์ถึง 78% ในเมื่อคอนเทนต์เป็นเครื่องจักรหลักในการสร้างรายได้ให้บริษัท ตัวเลขนี้ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเร่งการเติบโตเต็มที่ นั่นคือถ้าบริษัทสามารถหาลูกค้ามาซื้อคอนเทนต์ได้เป็นจำนวนมากจะส่งผลให้ทั้งรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากต้นทุนค่าคอนเทนต์ถูกตรึง (Fixed) ไว้ทั้งหมดแล้ว ผ่านการซื้อลิขสิทธิ์เป็นก้อนแล้วทยอยตัดจ่ายเอา คอนเทนต์ส่วนใหญ่ใช้เวลา 3 ปีถึงจะตัดราคาเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ถูกตรึงไว้นี้ก็อาจส่งผลเสียต่อตัวบริษัทได้ ถ้าไม่สามารถหาลูกค้ามาซื้อคอนเทนต์ได้ในจำนวนที่มากพอ แต่หาก JKN ยังรักษาศักยภาพในแง่ของการหาลูกค้าไว้ได้ ก็ไม่น่ากังวล
“เรามองว่าค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดดแบบปีที่ผ่านมาแล้ว จะอยู่ในอัตราการเพิ่มขึ้นที่ลดลงในส่วนของค่าใช้จ่าย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงยังมองว่า เราน่าจะสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีขึ้น ณ เป้าหมายที่เรามองไว้คือ 40% ขึ้นอยู่กับสุดท้ายแล้วว่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของเราจะต้องลงทุนเท่าไร ต้องบอกว่ามันขึ้นกับการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออก ว่าเราสามารถหาลูกค้าได้เร็วแค่ไหน มันก็จะทำให้เราลงทุนเยอะเพื่อให้ได้เงินกลับมาเยอะมากขึ้น”
คุณธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี (รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี)
นอกจากนี้ในปี 2018 ก็ยังมีต้นทุนการขายและบริหารงาน (SG&A) ซึ่งคิดเป็น 18% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตัวค่าใช้จ่ายการขายนั้นทุ่มไปในส่วนของการโปรโมตซีรีส์ การจัดงาน การโฆษณา การพีอาร์ และการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อออกงาน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็เป็นผลมาจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องมีการปรับในเรื่องของการบริหารงาน และเรื่องของการรองรับการเติบโต โดยรวมถือว่า JKN คุมค่าใช้จ่ายได้ดี เพราะถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายแต่ต้นทุน SG&A ยังคงเดิมที่ 14% ของรายได้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2017
ลูกหนี้การค้าของบริษัทก็เป็นหนึ่งในจุดสำคัญเช่นกันโดยในปี 2018 บริษัทมีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนคิดเป็น 36% ของลูกหนี้การค้าทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท แต่ประเด็นที่น่าจะทำให้ความกังวลลดลงคือลูกหนี้เหล่านี้เป็นบริษัทสื่อขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องเลื่อนการชำระออกไปเพราะคอนเทนต์ที่ซื้อจากทาง JKN บางรายการยังไม่ได้ออกอากาศนั่นเอง
มาทางฝั่ง ROE บ้าง เนื่องจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายปี 2017 และมีการเพิ่มทุนในปี 2018 เพื่อการระดมทุนซื้อคอนเทนต์ต่างประเทศ ส่งผลให้ ROE ลดลงเพราะส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าการขายคอนเทนต์เหล่านี้ประสบความสำเร็จ ROE ของบริษัทจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
*ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*
เมื่อมองจากภาพรวมแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคงจะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงศักยภาพในการจ่ายเงินของลูกค้า ซึ่งนั่นก็หมายถึงศักยภาพในการแข่งขันของลูกค้าด้วย ว่ายังสามารถทำรายได้ได้ดีหรือเปล่า ไม่แน่ว่าการกระจายความเสี่ยงด้วยการส่งออกคอนเทนต์ไปหลายๆ ประเทศมากขึ้นก็อาจจะช่วยสร้างความมั่นใจให้รายได้ได้
Season 4: JKN-CNBC
อีกเรื่องที่น่าตื่นเต้นของ JKN คือการหันมาลุยผลิตคอนเทนต์ประเภทใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากจัดจำหน่ายซีรีส์โดยสิ้นเชิง นั่นก็คือการเปิดตัวช่อง JKN-CNBC ซึ่งจะอยู่ภายใต้บริษัทย่อยอย่าง JKN Newsโดยช่องนี้จะเน้นนำเสนอข่าวสารการเงินการลงทุนที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ให้กับวงการคอนเทนต์เมืองไทย ที่ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแบบนี้เท่าไรนัก
“ประเทศต้องมี CNBC สักที มาตรฐานของการลงทุน ของการเสพสื่อ ของความเที่ยงตรง คือการเดินหน้าของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสากล ทำงานแบบ Integrity ของความเป็นสื่อที่เป็นกลาง และให้ข้อมูลประชนที่ถูกต้อง เพื่อการลงทุนที่ถูกจุด และการตัดสินใจที่มีสติด้วยข้อมูลที่ถูก และเดินหน้าไปด้วยความเจริญยั่งยืน ขีดเส้นใต้คำว่ายั่งยืน”
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์
ความพิเศษของข้อตกลงนี้คือ JKN ได้เป็นเจ้าเดียวที่ได้สิทธิ์ในการนำรายการของ CNBC มาทำเป็นเวอร์ชั่นไทย ดำเนินรายการเป็นภาษาไทย โดยพิธีกรคนไทย เมื่อเร็วๆ นี้ทีมบริหารต้องบินไปสิงคโปร์เพื่อเรียนรู้วิธีทำงานและมาตรฐานซึ่งต้องถอดแบบมาจากต้นฉบับ เรียกได้ว่าสตูดิโอต่างประเทศเป็นอย่างไร ของไทยก็ต้องเป็นอย่างนั้น โดยเบื้องต้น JKN วางผังไว้ว่าจะมี 4 รายการข่าวระดับโลกอย่าง Street Signs, Squawk Box, Power Lunch และ Closing Bell ในวันธรรมดา ออกอากาศ 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะเริ่มออนแอร์ช่วงมิถุนายนปีนี้ และมีรายการสัมภาษณ์ 3 รายการ ซึ่งจะออกฉายสุดสัปดาห์ พร้อมออนแอร์ช่วงตุลาคมปีนี้
แน่นอนว่าพอเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องมีการลงทุนกันสักหน่อย ซึ่ง JKN ลงทุนกับ CNBC ไป 50 ล้านบาท สำหรับพวกค่าเครื่องมือ สตูดิโอ นี่ยังไม่รวมค่าลิขสิทธิ์นะ เงินก้อนนี้บริษัทมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตจริงๆ โดยในระยะเวลาครึ่งปีที่จะดำเนินการนั้น บริษัทคาดหวังรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 3-5% ของรายได้บริษัทแม่ ซึ่งอยู่ที่ 1,400-1,600 ล้านบาท นั่นหมายความว่า JKN-CNBC จะต้องมีรายได้อย่างน้อยประมาณ 40 ล้านบาทนั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้น JKN News ก็สบายใจไปได้เปราะหนึ่งเพราะว่าจะมีบริษัทลูกในเครืออย่าง JKN IMC มาช่วยกันขายโฆษณา หารายได้ให้กับทั้ง JKN News แล้วก็ JKN Global
“เราเป็นเจ้าแรกที่ CNBC Asia เปิดโอกาสให้เราออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษ จากสตูดิโอ JKN Gallery ที่ศาลายา ไปที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะเผยแพร่ไปสู่สายตาคนที่ดู CNBC Asia ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คนดูในหนึ่งนาทีนับแล้วประมาณ 14.2 ล้านคน เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของ JKN ว่าเราได้รับความไว้วางใจจาก CNBC Asia ว่าเราไม่ได้เป็นเพียงแค่ License Holder ไม่ได้เป็นเพียง พาร์ตเนอร์ในส่วนของคอนเทนต์ แต่ว่าเรายังสามารถที่จะเป็น Content Provider ให้กับสถานียักษ์ใหญ่ระดับโลกด้วย เป็นความมั่นใจค่ะว่าเราทำได้แน่นอน JKN ง่ายๆ เราไม่ทำ ยากๆ เราชอบค่ะ”
คุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด)
ยอมรับเลยว่าหลังจากได้ยินข่าวคราวอัปเดตความคืบหน้าของช่องการเงินการลงทุนอย่าง JKN-CNBC แล้ว เราก็อดตื่นเต้นไม่ได้ อยากจะเห็นรูปแบบรายการไวๆ แล้วล่ะ
Season 5: RISKS
ทางด้านความเสี่ยง ก็จะมีในเรื่องของความนิยมที่ลดลงในคอนเทนต์ เพราะอย่างที่รู้กันว่าเทรนด์การบริโภคสื่อนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกความเสี่ยงหนึ่ง (ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งก็คือจุดแข็ง) ก็คือการที่คุณแอนซึ่งเป็น CEO เป็นคนเก่งมาก เปรียบเสมือนซูเปอร์สตาร์ของ JKN เลยก็ว่าได้ เห็นได้จากงานโปรโมตบริษัทที่จะต้องมีคุณแอนเป็นตัวยืนเสมอ ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดที่ชวนคิดว่าหากวันใดวันหนึ่งบริษัทต้องมีคนอื่นขึ้นมาแทน คนคนนั้นจะเก่งเท่าคุณแอนไหม จะโดดเด่นเท่าคุณแอนไหม เป็นความเสี่ยงของบริษัทเมื่อจุดแข็งและความสนใจของสาธารณชนไปรวมตัวอยู่ที่ CEO ถึงอย่างนั้นเราก็มองว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้หรอกที่คุณแอนจะวางมือ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นตัวแทนของ JKN และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานไปอีกพักใหญ่ นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของศักยภาพการแข่งขันของดีจิทัลทีวีว่าจะสามารถทำกำไรได้ในระยะยาวหรือไม่ รวมถึงสภาพคล่องของบริษัทที่อาจโดนกระทบหากลูกค้าจ่ายเงินค่าคอนเทนต์ช้า หรือผิดชำระหนี้ ดังที่คุณมาร์ช BuffettCode ได้ให้ความเห็นไว้ข้างต้น
ส่วนประเด็นที่ว่า กสทช. เปิดให้ทีวีดิจิทัลสามารถคืนช่องได้หากมีปัญหาในการดำเนินงาน หลายคนอาจจะกังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ JKN อาจได้รับผลกระทบเพราะถ้าสามารถคืนช่องได้ เจ้าของช่องก็ไม่จำเป็นต้องซื้อคอนเทนต์จาก JKN มาลงสล็อต ตรงนี้เราว่าไม่น่ากระทบขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าทีวีดิจิทัลของ JKN คือ ช่อง3 ช่อง 8 ช่อง 5 และ Bright TV ซึ่งถือว่ามีเรตติ้งแข็งแรง จึงไม่มีแนวโน้มคืนช่อง และด้วยความที่ JKN หวังรายได้จากต่างประเทศมากขึ้นในปีนี้ จาก 20% เป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด ก็น่าจะพอกระจายความเสี่ยงทางด้านรายได้ได้
Conclusion: บทสรุปธุรกิจคอนเทนต์ของ JKN
โดยรวมแล้ว JKN ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจได้น่าสนใจ กล้าที่จะริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แล้วมองเห็นโอกาสอยู่เสมอ ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่น่าติดตามสำหรับ JKN ว่าก้าวใหม่อย่าง JKN-CNBC จะประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้หรือไม่ ที่แน่ๆ คือเราได้เห็นว่าทีมผู้บริหารมองการณ์ไกล และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นบริษัทระดับภูมิภาค
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องจับตาความเสี่ยงในหลายๆ ด้านที่แอบซ่อนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการเงินในบาง ส่วน อย่างไรก็ดี หากดูจากอัตราการเติบโตในอดีตแล้วนั้นถือว่า JKN ทำได้ดี และผลตอบรับจากการส่งออกก็ถือได้ว่าน่าประทับใจ จึงมีลุ้นว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็น่าจะได้เห็น JKN เป็นบริษัทระดับภูมิภาคกันเร็วๆ นี้
Special Episode: FUN FACTS
- JKN ถือคติว่า ถ้าไม่ได้เงิน ไม่ขาย ดังนั้นจึงไม่ขายคอนเทนต์รายการกีฬา เพราะแม้ว่าคนดูจะเยอะ แต่คนดูส่วนใหญ่อยากดูฟรี จึงทำเงินได้ยาก
- เร็วๆ นี้จะมีการทำ JKN-CNBC Thailand Economic Forum 2019 ซึ่งจะเชิญตัวแทนด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ มาคุยกันเรื่องนโยบาย ตอนนี้ JKNได้ทาบทามไปทุกพรรคแล้ว ไม่ว่าพรรคไหนจะได้รับเลือกตั้ง ก็มีคนมาให้สัมภาษณ์ได้แน่นอน
- JKN กระซิบบอกเคล็ดลับ Go-Inter สำหรับเหล่านักแสดง ว่าเหล่านักแสดงควรจะฝึกพูดภาษาอังกฤษให้คล่อง เพื่อที่จะได้ไปโชว์ตัวและรับงานต่างประเทศได้ ณ ตอนนี้นักแสดงไทยที่พูดอังกฤษได้ยังมีไม่เยอะ ดังนั้นส่วนใหญ่นักแสดงลูกครึ่งก็จะได้รับแสงสปอร์ตไลต์จากต่างประเทศไป
- จะมีการฉาย The Prince of Ayodhaya หรือ สยามรามเกียรติ์ ในปี 2020 ซึ่งจะเป็นซีรีส์ฟอร์มยักษ์ ทำเป็น Motion Picture ครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย (ดูยิ่งใหญ่มากจริงๆ เราเห็นตัวอย่างแล้ว)
Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต