ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นทั่วโลกรีบาวด์ขึ้นเป็น 10% ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปีแล้วกว่า 20% ไม่เว้นแม้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างบอนด์ก็ปรับตัวขึ้น 3-4% ด้วย
ที่แปลกคือการรีบาวด์รอบนี้ดูจะยังไม่สามารถทำให้ทุกคนเปิดใจรับ
นักลงทุนหลายท่านไม่คิดว่าการรีบาวด์ควรเกิดขึ้น และไม่มั่นใจที่จะกลับเข้าตลาดจนอาจต้องนิยามตลาดทุนต้นปี 2019 ว่าเป็น “การรีบาวด์ที่ไม่มีใครรัก” มากที่สุดครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับนักลงทุนไทย ผลการสำรวจของธนาคารสหรัฐ Bank of America Merrill Lynch ถามนักลงทุนทั่วโลก ก็ได้คำตอบเช่นเดียวกันว่า “หุ้น” คือการลงทุนที่ทุกคน “ไม่รัก” และกว่า 50% ของนักลงทุน เชื่อว่าตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะขึ้นไปต่อได้อีกไม่เกิน 10%
หรือมองได้อีกมุมหนึ่งว่า ช่วงที่ตลาดทุนปรับตัวขึ้นทั้งที่ไม่มีใครรัก ก็คือช่วงที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังตัดสินทุกอย่างด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ช่วยจะให้นักลงทุนไม่พลาดโอกาสในปีนี้ ผมเชื่อว่าคือการสลัดความรู้สึกออก และมองตลาดด้วย “เหตุผล” ด้วยสามคำถามที่เราต้องตอบ
คำถามแรก คือการปรับตัวลงของตลาดในช่วงท้ายปี เกิดจากมุมมองอนาคตที่แย่ลง หรือความมั่นใจที่สูงในอดีตพบกับความจริง ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลที่สอง
ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือปัญหาการเมืองที่วุ่นวาย ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีใครรู้ แต่นักลงทุนเลือกที่จะ “มองไม่เห็น” ท้ายที่สุดเมื่อต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจริง พร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจไปไม่ไหว จึงต้องยอมขายลดความเสี่ยงในที่สุด
ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าเราควรจับตาไปที่ฐานความเสี่ยง อย่าง VIX Index ที่ไม่ควรอยู่ต่ำกว่าระดับ 10-15% มากกว่ามุมมองในอนาคต
ถ้าความผันผวนต่ำลงผิดปรกติอีกเราก็ควรรู้ตัวและลดความเสี่ยงลง ในทางกลับกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ VIX ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 25% โอกาสในการรีบาวด์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอจนเศรษฐกิจฟื้นตัว
คำถามที่สองคือ “ความเสี่ยง” เรื่องไหนกันแน่ที่จะทำให้อารมณ์ตลาดทุนแย่ลงกว่านี้ได้อีก ผมมองว่าคำตอบอยู่ที่เศรษฐกิจจีน
ถามนักลงทุนว่า “กลัว” เศรษฐกิจไหนจะแย่ หรือ “รัก” ตลาดทุนไหนมากที่สุด เราจะได้คำตอบเดียวกันว่าคือ “จีน” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสิบกว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนแทบจะเป็นทุกอย่างของโลก
แต่กลัวอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์ เราควรเตรียมตั้งรับน่ากรณีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งผมชวนให้ย้อนกลับไปดูวิกฤติตลาดหุ้นจีนในปี 2015
ในช่วงนั้นการถือเงินสดไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีที่สุด กลับเป็นบอนด์ในตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่ปรับตัวขึ้นสวนหุ้นจีนด้วยความสัมพันธ์ (Correlation) -0.2 ขณะที่ถ้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น หุ้นใน EM ทั้งในยุโรปและอเมริกาใต้ก็มี Correlation กับหุ้นจีนเพียง 0.1 ในช่วงวิกฤติ กลายเป็นโอกาสของคนกล้าถูกที่
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าวิกฤติในจีนเกิดขึ้นจริง ธนาคารกลางทั่วโลกคงไม่นิ่งเฉย และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และทวีปที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็ต้องเป็นตลาดที่เกี่ยวข้องกับจีนน้อยที่สุด
และคำถามสุดท้าย คือเหตุการณ์อะไร ที่จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกกลับมารักตลาด ซึ่งผมเชื่อว่า “นโยบายการเงิน”คือคำตอบในระยะสั้น และ “ตัวแทนของจีน”คือคำตอบในระยะยาว
มองพื้นฐานของความ “ไม่รักตลาด” รอบนี้ จะพบว่าที่มาของปัญหาเกิดจากโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมโลก ในระยะสั้น ทางออกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน หรือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อาจหนุนตลาดให้เคลื่อนไหวในกรอบบวกลบ 20% ได้ไม่ยาก
แต่ในระยะยาว เป็นไปยากที่ทางการจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับไปขยายตัวเป็น 10% เช่นเดียวกับปัญหาการค้า ที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายประชานิยมผสมกับความไม่ไว้ใจกันของประเทศใหญ่ๆ กับจีน
แม้เราจะหวังให้เศรษฐกิจกลับตัว ก็ดูเป็นเรื่องยากที่จะให้ตลาดจีนเป็นผู้นำการเติบโตต่อ หรือตีความได้ว่า นักลงทุนจะกลับมารักตลาดจริงๆ เมื่อมีเศรษฐกิจ EM อื่นขึ้นมารับไม้ต่อจีนนั่นเอง
ลึกๆ แล้วผมเชื่อว่านักลงทุนทั่วโลก “แอบมีใจ” ให้ตลาดทุนอยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงไม่ควรกลัวที่จะรักตลาด และกล้ารับความเสี่ยง ขอเพียงแค่ทุกครั้ง ให้เรามองตลาดด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์
สุดท้ายผลตอบแทนคาดหวังและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจะเป็นตัวตัดสินความคุ้มค่าของการลงทุน