FINNOMENA REVIEW
ซื้อหน้ากากกันฝุ่นยังไงดี
ให้คุ้มค่าเงินในกระเป๋า?
Created by:
Soranop PHOTHAROS (Wealthness)
Key Highlights
-
หน้ากากที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ จะมีอยู่ 3 ชนิด คือ 1. หน้ากากที่ใช้สวมในขณะผ่าตัด (Surgical mask) 2. หน้ากากที่ใช้ครั้งเดียว (Disposable Particulate Respirators) และ 3. หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรอง ซึ่งมีทั้งแบบครึ่งหน้า (half) กับเต็มหน้า (full)
- ทุกวันนี้ปริมาณหน้ากากทั้งธรรมดาและ N95+ มีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากผิดปกติ ส่วนใหญ่ที่ถูกสื่อแนะนำและให้ความรู้เป็นแบบ single use ใช้แล้วทิ้งซึ่งสร้างปริมาณขยะที่ต้องถูกทำลายมาก คล้ายกรณีถุงผ้า vs ถุงพลาสติก
- ข้อดีของหน้ากากประเภท half mask คือใช้ซ้ำได้ ยิ่งใช้นานราคายิ่งถูกกว่าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แถมลดการสร้างขยะด้วย
Introduction
หน้ากาก
หน้ากากนักร้อง?
ไม่ใช่
หน้ากาก
เป็นโรคหรอ?
ยัง
ยังไม่หยุดเล่นอีก
เข้าเรื่องครับ คงไม่ต้องอารัมภบทแล้วเนอะว่าทำไมเราต้องคุยเรื่องหน้ากากกัน
หน้ากากที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ จะมีอยู่ 3 ชนิดนะครับ ขอนำข้อมูลจาก http://www.thai-safetywiki.com/respirator/81-n95-mask มาแบ่งปันกัน
1. หน้ากากที่ใช้สวมในขณะผ่าตัด (Surgical mask)
เป็นหน้ากากที่สวมขณะผ่าตัดเพื่อป้องกันเลือด หรือเสมหะของผู้ป่วยที่จะกระเด็นเข้าปากและจมูกของหมอผ่าตัด และป้องกันเสมหะหรือน้ำลายของแพทย์ที่จะไปปนเปื้อนบริเวณที่จะผ่าตัด สามารถกรองอนุภาคได้ 5 ไมครอน จึงสามารถกันเชื้อโรคได้บางชนิดเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วหน้ากากชนิดนี้จะใช้สำหรับกันการไอจามของผู้ป่วยออกสู่ภายนอก แต่ไม่สามารถใช้หายใจในสถานที่ที่มีเชื้อโรคหรือไวรัสที่มีขนาดเล็กได้
2. หน้ากากที่ใช้ครั้งเดียว (Disposable Particulate Respirators)
ตามมาตรฐานของ NIOSH จะมีชนิด N,R,P และมาตรฐานยุโรป EN –P1,P2,P3 ซึ่งจะมีหรือไม่มีช่องสำหรับหายใจออก (exhalation valve) ก็ได้ โดยหน้ากากอนามัยที่เหมาะจะใช้สำหรับการป้องกันเชื้อไวรัส ได้แก่ หน้ากากอนามัยชนิด N95 (Niosh) หรือ P2 (EN) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคได้ถึง 0.3 ไมครอน และประสิทธิภาพในการกรอง 95%
อย่างไรก็ตาม อาจพบปัญหาจากการใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดและทางเดินหายใจ และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากลมหายใจจะผ่านเข้าออกได้ยากขึ้นเนื่องจากแรงต้านภายใน นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยชนิด N95 ออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ หากนำมาให้เด็กใช้ ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ข้อดีของหน้ากากชนิดนี้
- ใช้แล้วทิ้ง ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด
- น้ำหนักเบาและสวมใส่ง่าย
ข้อเสียของหน้ากากชนิดนี้
- เนื่องจากการหายใจเข้าจะทำให้เกิดความดันในหน้ากากต่ำกว่าภายนอก อากาศอาจจะเล็ดรอดทางรูรั่วได้
3. หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรอง
เป็นหน้ากากที่สามารถเปลี่ยนไส้กรองอากาศได้ สามารถนำมาใช้ใหม่ แต่ต้องหมั่นทำความสะอาด แบ่งเป็นสองชนิด คือ
3.A หน้ากากครอบครึ่งหน้า (Half-Mask Replaceable Particulate Filter Respirator)
อาจจะมีที่กรอง 1-2 ช่อง อาจจะต้องใช้ร่วมกับแว่นกันใบหน้า
ข้อดีของหน้ากากชนิดนี้
- น้ำหนักเบา ใช้ได้สะดวก
- หน้ากากนี้ทำด้วยยางใช้ได้นาน สามารถเปลี่ยนไส้กรองก็นำมาใช้ใหม่
ข้อเสียของหน้ากากชนิดนี้
- ต้องหมั่นตรวจสอบรอยรั่ว การเสื่อมของหน้ากาก การทำความสะอาด
- เนื่องจากการหายใจเข้าอาจจะทำให้การรั่วของอากาศโดยไม่ผ่าไส้กรอง
- สื่อสารกับคนอื่นลำบาก
3.B หน้ากากครอบเต็มหน้า (Full Facepiece Replaceable Particulate Filter Respirator)
เหมือนกับชนิดข้างบนแต่มีที่สำหรับกันใบหน้า
ข้อดีของหน้ากากชนิดนี้
- การรั่วของอากาศน้อยกว่าชนิดครึ่งหน้า
- สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยการเปลี่ยนไส้กรอง
- ป้องกันตาจากฝุ่นได้
ข้อเสียของหน้ากากชนิดนี้
- ต้องมีการทำความสะอาด ตรวจสอบรอยรั่ว
- อาจจะมีการรั่วของอากาศ
- การสื่อสารทำได้ลำบาก
- ต้องใช้แว่นตาชนิดพิเศษ
จากประสบการณ์จริงของผม ข้อดีของหน้ากากประเภท half mask คือใช้ซ้ำได้
ลองคิดดูว่าทุกวันนี้ปริมาณหน้ากากทั้งธรรมดาและ N95+ มีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากผิดปกติ ส่วนใหญ่ที่ถูกสื่อแนะนำและให้ความรู้เป็นแบบ single use ใช้แล้วทิ้งซึ่งสร้างปริมาณขยะที่ต้องถูกทำลายมาก คล้ายกรณีถุงผ้า vs ถุงพลาสติก
หน้ากากแบบ half mask พร้อมไส้กรอง 1 คู่ (จริง ๆ ใช้แบบกรองเดี่ยวก็ได้ ลดปริมาณขยะลงอีกครึ่งและลดราคาไปอีก) ตัวหน้ากากสามารถถอดชิ้นส่วนมาทำความสะอาดได้ในระยะสัปดาห์ หรือระหว่างการใช้งานสามารถทำความสะอาดส่วนที่สัมผัสใบหน้าได้ เช่นทิชชู่เปียกหรือ ผ้าชุบน้ำ ซึ่งทั้งย่อยสลายได้ หรือ ใช้ซ้ำได้เช่นกัน
จากการใช้งานใน กทม. ย่านเยาวราช ที่มีคนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจำนวนมากร่วมกับการบูชาเทพเจ้าด้วยธูปเต็มอัตรากำลัง สามารถใช้งานไส้กรอง 2078 คู่หนึ่งได้เกือบ 2 สัปดาห์ (2 คู่ต่อเดือน) คิดเป็นขยะ 28 กรัม
- เทียบกับหน้ากากทั่วไปแบบ N95 (มีวาล์ว) 20 กรัม
- ไม่มีวาล์ว 13 กรัม
- ที่ต้องใช้ 42 ชิ้นต่อเดือน (2-3 วัน/ชิ้น) ถึงจะได้ระยะเวลาเท่ากัน
คำนวณกับปริมาณประชากร 1 แสนคน ในระยะเวลา 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ (หรือ 90 วัน) หน้ากากแบบ reuseable สร้างขยะประมาณ 16.8 ตัน
- ในขณะที่หน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวสร้างขยะ 80 ตัน (มีวาล์ว)
- และ 54.6 ตัน (ไม่มีวาล์ว)
ซึ่งไม่รู้ว่าขยะประเภทนี้จะถูกฝังกลบหรือเผาทำลาย ถ้าเผาทำลายก็แย่หน่อยตรงที่มันก็วนลูป Particulate matter ในอากาศขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดถึงกระบวนการผลิต ขนส่ง ตาม user flow ที่ก็ปล่อยสารพิษทั้งวงจร
ด้านราคา หน้ากากแบบใช้ซ้ำได้ มีต้นทุนคงที่ 789 บาท (3M 6200 respirator at JAN 2019)
- ฟิลเตอร์ 2078 คู่ละ 259 บาท
- ในระยะ 12 สัปดาห์ (90 วัน) ใช้ 6 คู่ รวมใช้เงิน ประมาณ 1,825 บาท
- เฉลี่ยวันละ 26.03 บาท
***วิธีคิด 789 + (259×6) / 90 ยิ่งใช้นานราคายิ่งถูกกว่าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งแบบไม่มีวาล์ว (ใช้แบบตามคำแนะนำ ใช้ครั้งเดียว) ชิ้นละ 40 บาท (Officemate online)
- 12 สัปดาห์ใช้ 90 ชิ้น รวมเป็นเงิน 3,600 บาท
- เฉลี่ยวันละ 40 บาท
ยังไม่นับเรื่องความพอดีบนใบหน้าที่แนบสนิทกว่า การสะสมเชื้อโรคที่น้อยกว่าหากทำความสะอาดอย่างเหมาะสม การหายใจที่ง่ายกว่าจาก space ภายในที่มีพื้นที่ให้อากาศเดินทางได้สะดวก เป็นทิศทางชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนฟิลเตอร์ที่ดีขึ้นหรือประหยัดกว่านี้ (2071 กรองฝุ่นไม่กรองไอระเหย) ได้
ข้อเสียจากการใช้งาน Half-Mask มีแค่ 2 ประการสำหรับผม คือ
1. เวลาใส่หน้ากากพูดแล้วคนอื่นฟังยาก
2. พกพายาก เพราะพับเก็บไม่ได้
ก็ไม่รู้ว่าจะใช้แบบธรรมดาไปทำไม แถมการได้ราคา 26 บาทต่อชิ้นก็ดูเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะต้องซื้อยกกล่อง หาก็ไม่ง่าย แถมขนาดแบบใช้แล้วทิ้งมีวาล์วของ 3M (9913V) ที่ชั่งน้ำหนักได้ 20 กรัมนั่น ขายปลีกก็อันละ 150 บาทเข้าไปแล้ว
Cr: เพื่อนผู้น่ารัก
ผมเชื่อว่าเราสามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีควบคู่กับสุขภาพกายที่ดีได้ครับ
เพิ่มเติม
- N95 คือ มาตรฐานในการกรองฝุ่นละอองที่ได้รับการรับรองว่า สามารถกรองฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 ไมครอนหรือใหญ่กว่า ได้มากกว่า 95%
- PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร (เส้นผมมีขนาด 100 ไมครอน)
- NIOSH (National Institute for Occupational Safety and Health) เป็นหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ของอเมริกา
ข้อมูลอ้างอิง: