ตลาดหุ้นโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2019 จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า คลื่นลมจะสงบมากขึ้น เมฆหมอกเริ่มจางหายไปบ้าง หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในการเจรจาการค้ากับจีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯสามารถสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นธรรม และได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะซื้อสินค้าจำนวนมากจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร, พลังงาน รวมทั้งสินค้าในภาคการผลิตและบริการอื่นๆ
แต่ถึงอย่างนั้น ความเสี่ยงในอนาคต ก็ยังมี อย่างประเด็น Government Shutdown ที่ต้องติดตามหลังจาก Shutdown มาแล้วกว่า 22 วัน ส่งผลให้เป็นการ Shutdown ครั้งที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ จากการไม่ผ่านร่างกฏหมายงบประมาณชั่วคราว เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ร้องขอการอนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโกในร่างกฏหมายครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลต่อการบริโภคของสหรัฐฯได้ จากการขาดรายได้ของพนักงานของรัฐ รวมถึง ยังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะบรรลุข้อตกลง และยุติสงครามกันได้แบบเบ็ดเสร็จนะครับ
กลับไปดูข้อมูลทางสถิติในอดีตหน่อยดีกว่า การปรับฐานจากจุดสูงสุดรวดเดียวลงมาแตะระดับติดลบตั้งแต่ -20% ลงไปนั้น ในอดีตเกิดเหตุการณ์ใดต่อจากนั้นบ้าง
ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 1929 จนถึงปัจจุบัน มีช่วงที่ดัชนี S&P 500 ปรับฐานจากจุดสูงสุดรวดเดียวแตะระดับ -20% หรือที่เราเรียกกันว่า Bear Market Entry ทั้งหมด 12 ครั้ง นะครับ
ถ้าดูตามสถิติ ก็แปลว่า ทุกๆ 7 ปีกว่าๆ เราจะเจอแรงเทขายแรงๆในตลาดหุ้นซักครั้งนั้นเอง
Source : Bloomberg.com
จากข้อมูลในอดีต การปรับฐานทั้ง 12 ครั้งนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจตามนี้ครับ
1. การปรับฐานลบมากกว่า -20% ทุกครั้ง จะตามมาด้วยการรีบาวน์ทุกครั้งเช่นเดียวกัน โดยสามารถรีบาวน์ได้เฉลี่ย +9.63% โดยครั้งที่รีบาวน์ได้เบาสุดคือ เดือนต.ค. ปี 1929 รีบาวน์ได้เพียง 1% คือ หนึ่งวันหลังจากนั้น และครั้งที่รีบาวน์ยาวนานได้สุดก็คือ เดือนก.พ. ปี 2001 รีบาวน์ได้ +7.1% ในระยะเวลา 62 วัน
2. หลังการรีบาวน์เมื่อร่วงลงมาต่ำกว่า -20% พบว่า ทุกครั้งตลาดทำจุดต่ำสุดใหม่ทั้งหมด
3. จุดต่ำสุดของรอบตลาดหมี เฉลี่ยแล้วจะปรับฐานจากจุดสูงสุดอยู่ที่ -37%
4. ครั้งที่มีการปรับฐานรุนแรงมากกว่า -40% มีทั้งหมด 4 ครั้งจากทั้งหมด 12 ครั้ง คือ ปี 1929, ปี 1974, ปี 2001 และปี 2008
จากข้อมูลในอดีต ค่อนข้างชัดเจนว่า หากดัชนี S&P 500 ปรับฐานมากกว่า -20% แล้ว การรีบาวน์ในภาวะตลาดหมี มีโอกาสเกิดขึ้นหลังจากนั้น แต่ยังไงเสีย ตลาดจะยังมีแรงเทขายจนทำจุดต่ำสุดใหม่อยู่ดี
จุดต่ำสุดของตลาดหมี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ -37% จากจุดสูงสุด จากทั้งหมด 12 รอบนับตั้งแต่ปี 1929 ที่ผ่านมา
ถ้าเราเห็นข้อมูลนี้ และมีพอร์ตการลงทุนอยู่ เราก็ต้องวางกลยุทธ์แล้วครับว่าจะปรับพอร์ตรับมืออย่างไรดี ซึ่งคร่าวๆเราก็คงมีตัวเลือกอยู่ 3 ทาง 1) คือ ถือทนไป ยังไงซักวันหุ้นก็ต้องฟื้นคืนกลับมา 2) ขายตัดขาดทุนไปก่อน แล้วรอช้อนในจังหวะที่เหมาะสม และ 3) นำเงินลงทุนก้อนใหม่มาเฉลี่ยต้นทุน หรือ
ถ้านักลงทุนเลือกกลยุทธ์ข้อ 1) สิ่งที่ต้องคิดก็คือ สมมติ พอร์ตเราขาดทุนอยู่ 30% แล้วไม่ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนเลย ขอถือไว้เฉยๆรอวันขึ้นมา เราต้องให้พอร์ตบวกขึ้นมาถึง 43% ถึงจะกลับมาที่ทุนของเรา และถ้าพอร์ตเราขาดทุนที่ระดับ 50% เราต้องให้พอร์ตบวกมากขึ้นไปอีกถึง 100% นะครับถึงจะกลับมาที่ทุน
ถ้านักลงทุนเลือกกลยุทธ์ข้อ 2) สิ่งที่ต้องคิดก็คือ แล้วเราจะซื้อได้ในราคาที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ เรามีเวลามานั่งวิเคราะห์ จับจังหวะตลาดได้จริงหรือ นี่ก็เป็นความท้าทาย
สุดท้ายถ้าเลือกกลยุทธ์ข้อ 3) แปลว่า เรายังต้องมีรายได้ในอนาคตต่อเนื่อง และต้องมั่นใจว่า เราไม่ได้กำลังถัวเฉลี่ยในตลาดขาลง และยิ่งทำให้ต้นทุนยิ่งจมลงไปอีก
สรุปคือ เลือกกลยุทธ์ไหนก็ได้ครับ แต่ทุกกลยุทธ์ก็มีมุมที่นักลงทุนต้องคิดเพิ่ม ไม่มีทางง่ายๆ ให้เราเดินหรอกครับในโลกที่เรียกว่าการลงทุน
มาดูสถานการณ์ปัจจุบันกันว่า ดัชนีตลาดหุ้นหลักๆ ของโลกปรับฐานจากจุดสูงสุดของปี 2018 แล้วเท่าไหร่กันบ้าง (ข้อมูลถึงวันที่ 11 ม.ค. 2019)
ดัชนี S&P500 ลงมาลึกถึง -19.78% ก่อนรีบาวน์หลังปีใหม่เหลือลบ – 11.41%
ดัชนี NASDAQ ปรับฐานแรงเช่นกันถึง -23.64% และมีเด้งเปิดปีใหม่เหลือลบ -14.04%
ดัชนี DAX ของเยอรมัน ลบไป -23.44% และมีรีบาวน์เช่นเดียวกับที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เหลือลบ -19.71%
มาฝั่งเอเชีย
ดัชนี Hang Seng ปรับฐานลึกถึง -25.42% หลังจากนั้นก็รีบาวน์เหลือลบ -20.36% ในตอนนี้
ดัชนี Nikkei 225 ญี่ปุ่นก็โดนด้วยเช่นกันลึก -21.07% และเด้งขึ้นมาหลังปีใหม่ เหลือลบ -16.11%
กลับมาดูที่หุ้นไทย SET Index ลงมา -15.41% และรีบาวน์หลังปีใหม่นิดหน่อย เหลือลบจากจุดสูงสุด -13.25%
สรุปคือ ปรับฐานทะลุ -20% ซึ่งแปลว่าเข้าตลาดหมีไปแล้วหลายตลาด และเรากำลังอยู่ในช่วงของการรีบาวน์ ซึ่งดูจากสถิติย้อนหลังที่ผมอธิบายในวันนี้แล้ว ผมแนะนำว่า เราต้องเตรียมกลยุทธ์ตั้งแต่วันนี้แล้วครับ ว่าจะเตรียมรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไรดี
โดย Mr. Messenger
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646362