จะวางแผนลงทุนได้ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการดูมุมมองของนักลงทุนมืออาชีพนะครับ ว่าเขาเหล่านั้นคิดยังไงกับตลาดบ้าง?
ปีนี้ ดูจากความผันผวนที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ตอบได้ว่า ไม่ง่ายแน่ๆ สำหรับปี 2019 ทาง Bloomberg เขาใจดี ทำสรุปมุมมองจากนักวิเคราะห์ค่ายชั้นนำของโลกว่า แต่ละแห่งมีมุมมองอย่างไรกันบ้าง ลองไปดูกันครับ
1. Bank of America Merrill Lynch
มองว่า ในปี 2019 Earning Growth ของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจะลดลง การเติบโตของรายได้คาดว่าจะลดลงอย่างมากจากปี 2018 ที่โตมากกว่า 15% จะเหลือเพียง น้อยกว่า 5% ในปี 2019 ทีมวิเคราะห์มีมุมมองเชิงลบกับสินทรัพย์ 3 ประเภท ทั้ง หุ้น, พันธบัตร และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่า การถือเงินสดและสินค้าโภคภัณฑ์ จะให้ผลตอบแทนที่ดี ในสภาวะที่ความผันผวนจะสูงเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ทาง BofAML คาดว่า จะปรับเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงเข้าพอร์ตการลงทุนอีกครั้งช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ (ไตรมาส 4) แต่จะเริ่มในปี 2019 นี้ ด้วยการมีสัดส่วนหุ้นเพียง 50% พันธบัตร 25% และเงินสด 25%
2. BlackRock
มองว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในปี 2018 ทำให้นักลงทุนต้องมีการปรับสมดุลความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างระมัดระวัง ด้วยการเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ควบคู่กับการจัดสรรพอร์ตการลงทุนแบบ High-Conviction เลือกการลงทุนที่ยังมีคุณภาพสูง มี risk/reward ที่น่าดึงดูด อย่างไรก็ตาม Blackrock ยังคงมองว่า การลงทุนในหุ้นยังน่าสนใจในระยะยาว จากกระแสเงินสดที่ยังแข็งแกร่ง และยังมีมุมมองเชิงบวกกับการเติบโตในระยะยาว ขณะที่งบดุลของบริษัทจดทะเบียนมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ โดยเชื่อว่า สหรัฐฯเป็นภูมิภาคที่ยังน่าสนใจ และเริ่มเห็นตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ที่มี Valuation ที่ถูกลง
3. JPMorgan
คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2019 จะดีขึ้นมากกว่าในปี 2018 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว เนื่องจากมูลค่าของหุ้นที่ลงมาในระดับที่น่าสนใจมากขึ้น และเชื่อว่า ไม่เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว (no-recession) ในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ มองว่า U.S. high-yield จะให้ผลตอบแทนดีขึ้น แต่ก็ให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการถือเงินสดและทองคำไว้ด้วย โดยสินทรัพย์ที่น่าเป็นกังวลในปี 2019 ที่ต้องระวังก็คือ พันธบัตรของเยอรมัน จากปัจจัยเสี่ยงกรณี BREXIT และมองว่าควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ผลตอบแทนคาดการณ์จากตลาดหุ้นในปี 2019 นี้ อยู่ในกรอบ 2-15%
4. Morgan Stanley
พอร์ตการลงทุนระยะสั้นของ Morgan Stanley มีสัดส่วนหุ้นอยู่ในระดับปานกลางและ เริ่มสะสมสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้น ทั้งนี้ ทาง Morgan Stanley กลับมาชอบหุ้นนอกสหรัฐฯ และเน้นการลงทุนแบบ Value มากกว่า Growth ในปี 2019 โดยหลักฐานชิ้นสำคัญก็คือ Morgan Stanley มีการปรับเพิ่มประมาณการ upside การลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่และปรับเพิ่มน้ำหนักจาก Underweight เป็น Overweight ขณะเดียวกัน ได้มีการลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐเป็น Underweight สนใจหุ้นกลุ่ม Materials เป็นพิเศษ และให้เป้าหมายดัชนี S&P 500 ไว้ที่ 2,750 จุด ณ สิ้นปี 2019
5. Lombard Odier
มองว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดูเหมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว มูลค่าหุ้นในภาพรวมยังคงน่าสนใจ แม้ในด้านราคาจะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่มองว่า ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการใช้ประโยชน์จากความผันผวน เพราะภาพรวมยังค่อนข้างให้การสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดย Lombard ยังคงชอบหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ซึ่งจะยังคงผันผวนจากมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอน และการลดสภาพคล่องโดยรวม ชอบหุ้นญี่ปุ่น และ ตลาดเกิดใหม่ในแง่ของ Valuation ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในยูโรโซนยังคงแข็งแกร่ง
6. Goldman Sachs
มองว่า เหล่าบริษัทจดทะเบียนจะเป็นผู้ซื้อหุ้นรายใหญ่ที่สุดในปี 2019 นี้ จากความต้องการซื้อหุ้นคืน หลังมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้น และมีเงินสดในมือในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นถูกลง ประกอบกับเชื่อว่า จะมีการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีมุมมองว่า นักลงทุนนอกสหรัฐฯ จะเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นสหรัฐฯเนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าลง และมองว่า การทยอยสะสมหุ้นผ่าน ETF น่าจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
7. Societe Generale
มองว่า นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องปรับพอร์ตการลงทุนและเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีธนาคารกลางในยุโรปและญี่ปุ่น จะเริ่มผ่อนคลายและยุติโครงการ QE ในขณะที่เศรษฐกิจทั้งสองฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในโลกลดลงอีก ทั้งนี้การลงทุนในตราสารทุน มองว่า เน้นมองที่ Value มากกว่า Growth และเชื่อว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากความสนใจของตลาด จะหันไประมัดระวังและเตรียมตัวเข้าสู่จุดสิ้นสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจในอเมริกาเอง ซึ่งเริ่มเห็นปัญหาการขาดดุลการคลังและการค้า และหากค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าจริง มองว่า สินค้าโภคภัณฑ์ ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในปี 2019 ด้วย
นี่คือมุมมองบางส่วนจากนักวิเคราะห์มืออาชีพ 7 สำนักนะครับ จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า ตลาดหุ้น หรือ ตราสารทุน น่าจะพอสร้างผลตอบแทนได้ในปี 2019 และก็มีบางเจ้าที่เริ่มระมัดระวังและลดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างแล้ว รวมถึงแทบจะทั้งหมด มองว่า ปี 2019 นี้ เป็นปีที่ค่าเงินดอลล่าร์มีโอกาสกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯ รวมถึงสินทรัพย์โภคภัณฑ์ และทองคำด้วย
ที่มา : https://www.bloomberg.com/graphics/2019-investment-outlooks