บทสุดท้าย Brexit จะเป็นอย่างไร

เรียกว่ามาแรงขึ้นๆ แบบกำลังเข้าสู่จุดไคล์แมกซ์ สำหรับ Brexit บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจาก Brexit

โดยบทสุดท้ายในรูปแบบต่างๆ ของ Brexit จะดำเนินต่อไปในปีหน้าจนจบกระบวนการอย่างไรบ้าง ดังนี้

หนึ่ง ไม่มีข้อตกลง Brexit ใดๆ เกิดขึ้น

หรือ No Deal ที่เรียกกันว่า Loss of the passport เกิดการแบ่งแยกเป็น ฝ่าย ได้แก่ ตลาด EU 27 ประเทศ กับอีกฝั่งที่มีอังกฤษและอาจจะรวมถึงสวิสเซอร์แลนด์

ประเด็นอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษเจรจากับอียู จะใช้กับอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือหรือไม่ โดยหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ต้องเกิดการตั้งด่านเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการตรวจตราเอกสารต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการตรงเขตแดนระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงเขตแดนกับยูโร ที่เรียกว่า Irish Backstop จะทำให้กระบวนการ Brexit ต้องชะงักงัน ในมิติทางการเมือง จะเกิดการถกเถียงกันในกลุ่ม Brexiteer และ Remainer

ส่วนด้านผลกระทบเชิงธุรกิจ จะทำให้เกิดแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากอังกฤษไม่สามารถเซ็นดีลการค้าต่างๆเนื่องจากภายใต้ Irish Backstop กำแพงภาษีจะถูกตั้งโดย EU มีการประเมินว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 3 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบนี้

สอง ‘Hard Brexit หลังจากเปลี่ยนผ่าน’ 

หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและยุโรป ไม่สามารถตกลงกันได้โดยเฉพาะประเด็นการให้สินค้าและบริการเพียงบางส่วนตามที่อังกฤษต้องการเป็นส่วนที่สามารถค้าขายโดยเสรี (Cherry-Picking) จะเกิดข้อตกลงที่คล้ายกับยุโรปทำกับแคนาดาที่เรียกกันว่า Canada Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สามารถค้าขายระหว่างกันเพียงบางส่วน ซึ่งอังกฤษน่าจะถือว่าออกจากยูโรแบบชัดเจนในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบริการทางการเงิน ประเมินกันว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 5 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบ CETA

สาม เกิด Customs Union หลังช่วงเปลี่ยนผ่าน ปี

มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ เมื่อ 2 วันก่อนออกโรงเชียร์รูปแบบนี้ กรณีนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ Remain Camp ต้องการ โดยอังกฤษจะค่อยๆ เจรจาตกลงถอนตัวออกจากยุโรป ภายหลัง เส้นตายเดิม มี.ค. 2019 จากนั้น อังกฤษจะเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเสรีและ Customs Union กับยุโรปภายในปี 2022 โดยยังสามารถค้าขายได้กับไอร์แลนด์เหนืออย่างเสรีเหมือนเดิม ในมิติทางการเมือง กลุ่ม Brexiteer ยังบ่นว่าทำให้อังกฤษไม่สามารถตกลงและเซ็นสัญญาการค้ากับต่างประเทศเนื่องจากยังอยู่ใน Customs Union ส่วนธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อื่น

บทสุดท้าย Brexit จะเป็นอย่างไร

โดยกรุงลอนดอนที่เคยได้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาตร์และการเชื่อมโยงตลาดการเงินต่างๆด้วยระบบสื่อสารแบบเคเบิล ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป ดังรูป จะถูกปารีส อัมสเตอร์ดัม และมิลาน แย่งส่วนแบ่งตลาดจาก Brexit ที่เกิดข้อติดขัดในสัญญาระหว่างอังกฤษกับยุโรป

สี่ ให้เกิดการคิดภาษีกับยูโรเฉพาะสินค้าและบริการบางกลุ่ม

หรือ Chequer’s Plan ดีลในรูปแบบนี้คือสิ่งที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยต้องการเมื่อกลางปีนี้ ทว่านักการเมืองฝั่ง Brexiteer บ่นว่าเป็นแค่ Brexit เพียงแต่ชื่อ โดยชาวอังกฤษและยุโรปยังสามารถเดินทางระหว่างอังกฤษและยุโรปได้อย่างเสรีและรัฐบาลยังมีการแบ่งปันงบประมาณกับยูโรเหมือนเดิม โดยธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งร่างดังกล่าวถูกปิดประตูจากการลาออกของรัฐมนตรีหลายท่านในรัฐบาลของนางเมย์

ท้ายสุด ‘European Economic Agreement’ (EEA)

โดยดีลแบบนี้คล้ายกับที่นอรเวย์ทำกับยูโรในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ายังสามารถค้าขายกับยูโรได้อย่างค่อนข้างเสรีและเกือบทุกฝ่ายพึงพอใจยกเว้นกลุ่ม Brexiteer ที่ชาตินิยม โดยนักวิชาการส่วนใหญ่จะชื่อชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากยังสามารถค้าขายกับประเทศในยุโรปได้อย่างค่อนข้างเสรี ประเมินกันว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 2 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบ Norway-Style ซึ่งรูปแบบนี้ มีนักการเมืองหลายท่านเริ่มโน้มเอียงมาทางนี้มากขึ้น

โดยจนถึงวันนี้ ผมก็ยังมองว่า Second Referendum ของ Brexit ยังมีความเป็นไปได้ต่ำมากๆ จนไม่ใช่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผมให้ไว้ข้างต้น

หากถามว่าผลกระทบของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะมีผลต่อจีดีพีของอังกฤษอย่างไร

เมื่อพูดถึงประมาณการของจีดีพีที่ลดลงจากการเกิด Brexit คงต้องมองไปที่หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศได้แก่กระทรวงการคลังของอังกฤษ ว่าประมาณการผลกระทบของ Brexit ไว้เท่าไหร่ ตัวเลขที่กระทรวงการคลังอังกฤษได้คำนวณไว้คือจีดีพีลดลง 7.8% ในระยะยาว โดยคำนวณจากปริมาณการค้ากับต่างประเทศที่จะลดลงเมื่ออังกฤษเกิด Brexit ขึ้นมา

จากนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณการค้าที่ลดลง จะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของปัจจัยการผลิตของประเทศ จนกระทั่งนำเข้าไปวิเคราะห์กับแบบจำลองแบบดุลยภาพ จนได้อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีที่ลดลงของอังกฤษปรากฏว่าจีดีพีเติบโตลดลง 7.8% ในระยะยาว สำหรับในระยะสั้นนั้น ทาง London School of Economicsได้คำนวณไว้ว่าจะลดลงราว 1.3-2.6% ใน 1-2 ปีแรก

หากจะอ้างอิงงานศึกษาที่น่าเชื่อถือที่สุดล่าสุดในตอนนี้ คงต้องรอจากธนาคารกลางอังกฤษที่จะเปิดเผยผลการศึกษาว่าด้วยผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจอังกฤษในสัปดาห์หน้าครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646011