หากพูดถึง 5 บริษัทชั้นนำของโลกในปัจจุบันเราอาจจะนึกถึงกลุ่ม FAANG (Facebook, Apple, Amazon, Netflix, Google)
แต่วันนี้อยากจะพามารู้จัก 5 บริษัทที่น่าสนใจใน Israel ซึ่งเป็นประเทศที่หลายคนอาจจะยังนึกไม่ถึงว่ามีการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
Israel เป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ตอนใต้ของตุรกี
ประเทศเล็กๆ นี้เองมีประชากรเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น น้อยกว่าจำนวนประชากรในกรุงเทพเสียอีก
จำนวนประชากรน้อยแต่กลับมีประสิทธิภาพสูง โดยพื้นฐานประชากรมีรายได้ต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ราว 1,280,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยนั้นอยู่เพียง 210,000 บาทต่อคนต่อปี เท่านั้น
ในเชิงของ Rating ก็มีความน่าสนใจ โดย Israel เองก็ได้ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ A+ สูงกว่าไทยที่ BBB+ ซึ่งหมายความว่าในเชิงการลงทุนแล้ว Israel มีความเสี่ยงต่ำกว่าประเทศไทย
Israel มีความเจริญทางด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีอย่างมาก จนถึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่ดีที่สุดรองจาก Silicon Valley สำหรับการริเริ่มธุรกิจเกิดใหม่ (Start-up)
เมื่อดูตัวเลขเราจะพบว่าประเทศ Israel ลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับ GDP
ทำให้ประเทศนี้มีจำนวนนักวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ และช่างกล เทียบกับจำนวนประชากรเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก และบทความวิจัยระดับโลกจำนวนมากก็มาจากประเทศนี้อีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากยังได้ลงทุนศูนย์วิจัยในประเทศ Israel ไม่ว่าจะเป็น IBM, Intel, HP, Apple, GE, Motorola, Facebook, Samsung, LG, Alibaba
“If you’re looking for brains, energy and dynamism, Israel was the place to go” – Warren Buffett
“Israeli contributions to technology fields such as analytics and security are improving the world” – Bill Gates
“There were thousands of times I said to myself and to colleagues at Alibaba: Never give up, And people in Israel… they never give up.” – Jack Ma
“Israel has the most important high-tech center in the world after the US.” – Eric Schmidt, Google Chairman
เราลองมาทำความรู้จักกับตัวอย่างบริษัทที่มีนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หากทุกอย่างเป็นไปได้จริง จะส่งผลดีต่อมนุษย์เราอย่างมาก
1. Cortica
เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เป็นสิ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
บริษัท Cortica เป็นบริษัทที่วิจัยด้าน AI โดยเฉพาะและมีฐานอยู่ที่ประเทศ Israel ซึ่งสิ่งที่บริษัททำการวิจัยมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ 1) ยานยนต์ไร้คนขับ 2) เมืองอัจฉริยะ
ทั้ง 2 ส่วนอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งใหม่บนโลกเรา เพราะเทรนด์นี้ก็มีแนวโน้มมาสักพักแล้ว
ในเรื่องของ AI สำหรับยานยนต์ไร้คนขับอาจจะฟังดูอาจจะยังไม่น่าตื่นเต้น แต่อีกส่วนหนึ่งถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย
เมืองอัจฉริยะที่ว่าคือการนำกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ในตามถนน โดรน และรวมไปถึงดาวเทียมคอยเก็บภาพต่างๆ ภายในเมือง และใช้ AI เข้ามาช่วยในการประมวลผลในการดูแลบ้านเมือง
ความสามารถของเจ้าเทคโนโลยีนี้ก็คือการสอดส่องบ้านเมือง เช่น การจดจำใบหน้าของคน การคาดการณ์พฤติกรรม หรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของบ้านเมือง ทั้งหมดจะถูกประมวลผลแบบ Realtime
ซึ่งหากมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่ชอบมาพากล ระบบก็จะแจ้งเตือนขึ้นได้ทันก่อนที่เหตุการณ์จริงอาจจะเกิดขึ้น
การที่ AI สามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้แบบ Realtime และแจ้งเตือนก่อนที่จะเกิดขึ้น ส่งผลดีอย่างมากต่อความปลอดภัยของบ้านเมือง และยังรวมไปถึงการคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอื่นๆอีกมากมาย
2. Urban Aeronautics
Urban Aeronautics เป็นบริษัทที่วิจัยในเรื่องของยานยนต์ที่สามารถขึ้นและลงได้ในแนวดิ่ง
จริงๆ แล้วเทคโนโลยีการขึ้นลงในแนวดิ่งได้เกิดขึ้นบนโลกมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินรบรุ่น Harrier (ใครเคยเล่น Red Alert 2 จะรู้จักเป็นอย่างดี)
แต่เทคโนโลยีทั้งสองอย่างมีข้อจำกัด คือไม่สามารถใช้งานภายในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นที่โล่งได้
Urban Aeronautics จึงได้แก้ปัญหานี้โดยการนำเครื่องยนต์และใบพัดใส่ไว้ในตัวถัง ทำให้ไม่มีส่วนใดยื่นออกมาจากตัวรถ
การแก้ปัญหานี้เอง ทำให้หากยานยนต์นี้เกิดขึ้นจริงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่นการสัญจรโดยอิสระ ประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น หรือการส่งหน่วยกู้ภัยไปยังจุดที่หมายได้รวดเร็วขึ้น
3. Storedot
แบตเตอรี่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับมนุษย์ในยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น IOT (Internet of Things), โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนแต่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ข้อจำกัดของแบตเตอรี่ Lithium ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันคือมันสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้จำกัด และเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้งานของเราทุกวันนี้ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเสียแล้ว
Storedot ได้เข้ามาแก้ปัญหานี้ ซึ่งบริษัทได้พัฒนาสูตรของแบตเตอรี่ขึ้นมาใหม่ชื่อว่า Flash battery และแบตเตอรี่ที่ว่านี้ก็สามารถชาร์จได้เร็วในเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น
สำหรับการใช้งานกับมือถือ แบตเตอรี่นี้สามารถชาร์จได้รวดเร็วเพียง 5 นาที และมีความจุเพียงพอสำหรับการใช้งานตลอดทั้งวัน
ส่วนการใช้งานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehical) การชาร์จนั้นใช้เวลาเพียง 5 นาทีเช่นกัน โดยยังสามารถวิ่งได้ถึง 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง
แน่นอนว่างานวิจัยกับการนำมาประยุกต์ใช้จริงคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง นี่ก็คงเป็นอนาคตที่น่าสนใจ
4. Gencell
Gencell เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิง
จริงๆ แล้วแอมโมเนียไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานโดยตรง แต่บริษัทได้พัฒนาการแยกไฮโดรเจนออกจากแอมโมเนียเพื่อนำใช้เป็นเชื้อเพลิง
สำหรับใครยังสงสัย แอมโมเนียมีสูตรเคมีคือ NH3 ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการผสมระหว่างไนโตรเจน (N) และไฮโดรเจน (H)
เนื่องจากไฮโดรเจนไม่ได้เป็นพลังงานที่สามารถหาได้ทั่วไปเหมือนแก๊ซธรรมชาติหรือดีเซล ดังนั้นการนำมาใช้จึงมีข้อจำกัด การที่บริษัทสามารถนำเจ้าไฮโดรเจนที่อยู่ในแอมโมเนียนี่มาใช้เป็นพลังงานได้จึงปลดล็อคแหล่งพลังงานของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง
Gencell ยังสามารถทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดีเซลปกติ และสิ่งที่เยี่ยมไปกว่านั้นคือการใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย
5. Bio-nexus
Bio-nexus เป็นบริษัทที่พัฒนา Software เพื่ออำนวยความสะดวกการปฏิบัติงานภาคสนามในหลายๆ สถานการณ์
ความสามารถของ Software นี้คือการรับคำสั่งจากภาคสนามด้วยเสียง และข้อมูลจะถูกเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น
นอกจากนั้นยังสามารถประมวลผลคำสั่งเสียงออกมาเป็นคำแนะนำกระบวนการแก่เจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ต่างๆได้อีกด้วย
Bio Nexus Medical เป็น Software ตัวย่อยที่ตอบโจทย์เรื่องการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแบบ Real time ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย หรือแม้กระทั้งในสนามรบ
Aero Nexus เป็น Software ตัวย่อยอีกส่วนที่ตอบโจทย์เรื่องการปฏิบัติการภาคสนามในการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องบิน รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเครื่องบินก่อนออกบินด้วย
ทั้งหมดสามารถประมวลผลได้ผ่านคำสั่งเสียงเท่านั้น ทำให้สามารถประหยัดเวลาและทรัพยากรไปได้อย่างมากในการปฏิบัติงานต่างๆ
Software อีกตัวที่น่าสนใจคือ Cyber Nexus เป็นกล่องเล็กๆ ที่เป็นตัวกลางการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลกับเครือข่ายภายนอก หน้าที่ของมันหลักๆ คือป้องกันการแฮกอุปกรณ์การแพทย์
สรุป
จริงๆ เชื่อว่าประเทศ Israel ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกมาก เพราะในแต่ละปีจะมีประมาณ 200 บริษัทหน้าใหม่เกิดขึ้น และรวมแล้วมีบริษัทเกิดใหม่กว่า 2500 แห่งทั่วประเทศ
นวัตกรรมหลายๆ อย่างอาจจะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย บางอย่างผลิตได้จริงแต่อาจจะยังไม่สามารถผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้
แต่สิ่งที่ Israel ให้ความสำคัญไม่ใช่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของ R&D (Research and Development) มากกว่า
ในอนาคต ประเทศไทยเราก็คงจะมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ประเทศ Israel เป็นผู้พัฒนาขึ้น นอกเหนือจากจีนหรืออเมริกา
สิ่งที่อยากจะทิ้งท้ายไว้ก็คือนวัตกรรมเหล่านี้ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนา ประเทศไทยเราเองควรมองให้ไกลและลงทุนกับ R&D มากขึ้น
เพราะหากเราเป็นเพียงแค่ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ประเทศของเราอาจจะต้องเกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเพื่อแลกกับเทคโนโลยีที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่รายได้ของประเทศมีขีดจำกัด…
ที่มาบทความ: http://investdiary.co/2018/10/22/156/