วันนี้แล้วนะครับ ที่สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งกลางสมัย หรือ US Midterm Election 2018
ทุกๆ การเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะถือเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังจากนั้นอย่างที่เราทราบกัน มาถึงการเลือกตั้งกลางสมัยครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกัน ที่จะมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์อีก 2 ปีข้างหน้า
ให้ข้อมูลเพิ่มกันซักหน่อยนะครับว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะแบ่งออกเป็นการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ 2 ฝ่ายด้วยกัน โดยฝ่ายบริหาร ก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งกำหนดขึ้นทุกๆ 4 ปี และอีกฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีการเลือกตั้งแต่ทุกๆ 2 ปี โดยจะเป็นการเลือกพร้อมกับการเลือกฝ่ายบริหาร 1 ครั้ง และ กลางสมัยของฝ่ายบริหารอีก 1 ครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งกลางสมัยนี้เอง ที่ถูกเรียกว่า Midterm Election ครับ
Midterm Election มีความสำคัญตรงที่ จะทำให้ที่นั่งในสภา มีสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 435 ที่นั่ง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และสมาชิกวุฒิสภาที่หมดวาระประมาณ 33-35 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 100 ที่นั่ง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี
ปัจจุบันพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งสองสภาคือพรรครีพับลีกัน โดยสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลีกันมี 236 ที่นั่ง ขณะที่วุฒิสภา พรรครีพับลีกันมี 51 ที่นั่ง
จุดที่น่าสนใจก็คือ สมาชิกวุฒิสภา ที่จะเลือกตั้งรอบนี้ทั้งหมด 35 คน เป็นสมาชิกพรรครีพับลีกันหมดวาระ 9 คน และเดโมแครต 26 คน สิ่งที่พรรคเดโมเครตต้องการก็คือ ต้องรักษาที่นั่งในวุฒิสภาเดิม 26 ที่นั่งและได้ที่นั่งเพิ่มอีก 2 ที่นั่ง จึงเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา และต้องได้ 281 ที่นั่ง จึงจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เช่นกัน
ถามว่าง่ายไหม โพลสำรวจจากแทบทุกสำนักในสหรัฐฯ บอกว่า มีโอกาสสูงมากที่พรรคเดโมเครตจะกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในวุฒิสภานั้น พรรครีพับลีกันจะยังครองเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (Split Congress)
เมื่อไปดูสถิติย้อนหลังการเลือกตั้ง Midterm Election ในอดีต ก็มีสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่องครับ
พรรคที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดี (สมัยปัจจุบัน คือ เดโมแครต) มักจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในสภาคองเกรสเสมอ
นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หากนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ของปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม จะพบว่า ดัชนี S&P500 สามารถปิดบวกได้ในสิ้นปี และในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยสามารถบวกได้เฉลี่ย +14.5% ทีเดียว
จากสถิติ หลังการเลือกตั้งกลางสมัย มีเพียงปีเดียวที่ดัชนี S&P500 ย่อตัวหลังทราบผลการเลือกตั้งบ้าง ก็คือในปี 1978 ในสมัยของประธานธิบดีจิมมี่ คาร์เธอร์ ซึ่งดัชนี S&P500 ย่อตัวลงหลังจากวันเลือกตั้ง 2 เดือนติดลบ -4% แต่ก็สามารถกลับมาเป็นบวกได้ภายใน 1 ปี โดยบวกได้ที่ 6.4%
นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์ Split Congress ขึ้น 2 ครั้ง คือปี 1982 ในสมัยประธานาธิบดีโรแนล เรแกน และปี 2010 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา พบว่า ไม่มีผลทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ยังคงเป็นบวกได้ต่อเนื่องไปอีก 1 ปีข้างหน้า
เมื่อดูจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา ในมุมมองส่วนตัวของผมก็มองว่า การเลือกตั้งกลางสมัย ไม่ว่าที่นั่งในสภาจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ก็แทบไม่มีผลลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะเวลาอย่างน้อยๆ คืออีก 1 ปีข้างหน้า และเพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯนี่เองที่ปีนี้ยังทำหน้าที่ค้ำยัน MSCI World ไม่ให้ติดลบ ในขณะที่ตลาดหุ้นแถบอื่นๆรวมถึงตลาดเกิดใหม่ เจอการปรับฐานกันมาตั้งแต่ต้นปี
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ผันผวนในปีนี้ก็มาจาก การครองเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาของพรรครีพับลีกัน และนโยบายแบบสุดซอยจากประธานาธิบดีทรัมป์ ที่พยายามจะทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ว่า “American First” และเกิดแนวคิดปกป้องการค้า จนทำให้สหรัฐฯออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และขึ้นกำแพงภาษีกับนานาประเทศโดยเฉพาะกับประเทศจีน รวมถึงใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบควบคุมภาคการเงิน และลดอัตราภาษีทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
ทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯหลังจากเลือกตั้งกลางเทอม อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง หากพรรคเดโมเครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในแง่ที่ว่า อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปลายปากกาของประธานาธิบดีทรัมป์ผ่านการลงนามคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯจะลดลงทันที
แต่สิ่งนี้ก็น่าจะกลายเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นฝั่งตลาดเกิดใหม่และเอเชีย เพราะสภาคองเกรสสามารถเข้ามาแก้กฎหมายเพื่อแทนที่ Executive Order ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีทรัมป์
สงครามการค้าก็จะมีกระบวนการที่ช้าลง ฝ่ายบริหารมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นในการออกนโยบายกีดกันทางการค้าในช่วง 2 ปีที่เหลือ แค่ Trade Wars นี่ลดลง ก็เชื่อว่า บรรยากาศการลงทุนหลังจากนี้ไป จะดีขึ้นตามลำดับนะครับ
สรุป การลงทุนในตลาดหุ้นยังน่าสนใจ และตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับฐานหนักปีนี้ละครับ ที่น่าสะสมหลังจากนี้
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645889