หลายคนอาจจะรู้สึกว่า กว่าจะเข้าใจว่ากองทุนนี้เป็นยังไง ก็ต้องใช้เวลานาน บางคนก็ไม่อยากอ่าน Fund Fact Sheet เลย แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ซื้อตามๆ คนอื่นไปละกัน
เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งท้อ วันนี้เราจะมาบอกโพยการหาข้อมูลหลักๆ เบื้องต้นของกองทุนภายใน 5 นาที ! จะทำได้หรือไม่ได้ต้องมาลองกัน
อุปกรณ์: ไฟล์สรุปข้อมูลกองทุนรวม (Fund Fact Sheet) จาก บลจ. / ไฟล์หน้ากระดาษว่างๆ 1 ไฟล์
กติกา: กวาดตาดู Fund Fact Sheet รอบหนึ่งก่อน พอให้รู้ว่าข้อมูลอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มจับเวลาแล้วทำตามขั้นตอนด้านล่าง มองหาข้อมูลที่ต้องการ เมื่อเจอแล้วก็คัดลอกใส่ไฟล์หน้ากระดาษเลย ถ้าคัดลอกไม่ได้ก็แคปรูปเก็บไว้แทนนะ
ขอยกภาพตัวอย่างมาจาก Fund Fact Sheet ของกองทุน SCBSET50 ละกัน (https://www.scbam.com/medias/fund-doc/summary-prospectus/SCBSET50_SUM.pdf)
นาทีที่ 1: นโยบาย/กลยุทธ์การลงทุน
- ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน? อาจจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาฯ ตราสารหนี้ และอื่นๆ ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป
- มีกลยุทธ์การลงทุนแบบไหน? หากเป็น active กองทุนจะพยายามเอาชนะดัชนีชี้วัด แต่หากเป็น passive กองทุนจะพยายามเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด
- ระดับความเสี่ยงเป็นเท่าไร? (ตัวเลข 1-8) ยิ่งตัวเลขเยอะก็ยิ่งเสี่ยงสูง
- มีจ่ายปันผลหรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการปันผลรึเปล่า?
นาทีที่ 2: พอร์ตการลงทุน 5 อันดับแรก
- สัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์เป็นยังไง ตรงกับนโยบายการลงทุนไหม แล้วลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง?
- ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ลองดูว่ากองทุนต่างประเทศที่กองทุนไทยไปลงทุน (Master Fund) ลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง? (ถ้าใน fund fact sheet บอกนะ)
นาทีที่ 3: ค่าธรรมเนียม/ข้อมูลการซื้อขาย
- ค่าธรรมเนียมนั้นจะมีทั้งแบบที่ระบุว่าจะคิดไม่เกินเท่าไร และเก็บจริงตอนนี้เท่าไร
- ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมเป็นเท่าไร? ส่วนที่ปรากฏใน Fund Fact Sheet นั้นคิดเป็น % ต่อปีของ NAV โดยจะถูกคำนวณแล้วหักออกทุกวัน ก่อนจะมาเป็น NAV ให้เราซื้อขายกัน
- ค่าธรรมเนียมขาย/รับซื้อคืนเท่าไร? ค่าธรรมเนียมนี้คือค่าใช้จ่ายที่เราเสียตอนซื้อขายกองทุน คล้ายๆ ค่า commission น่ะเอง คิดเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย
- ขั้นต่ำการซื้อเป็นเท่าไร? นี่คือมูลค่าขั้นต่ำที่เราต้องซื้อ ซึ่งมีทั้งขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกและขั้นต่ำในการซื้อครั้งถัดไป ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละกอง
นาทีที่ 4: ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
- เทียบกันในแต่ละปีว่าสม่ำเสมอหรือไม่ เหวี่ยงหรือไม่ เทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ด้วยว่าทำได้สูงกว่าหรือต่ำกว่า? ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าผลการดำเนินงานนั้นสะท้อนเพียงอดีต ให้เราพอเห็นภาพ ไม่สามารถยืนยันอนาคตได้นะ
นาทีที่ 5: ความเสี่ยง
- เคยขาดทุนสูงสุดเท่าไร ตัวเลขนี้จะทำให้เราเห็นภาพว่ากรณีร้ายแรงที่สุดในอดีตเป็นยังไง ลองถามตัวเองดูว่าถ้าเจอแบบนี้แล้วรับได้ไหม?
- ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard deviation) เป็นเท่าไร? ยิ่งเยอะ ยิ่งผันผวนมาก
เป็นยังไงบ้าง ทำกันทันรึเปล่า? ถ้าไม่ทันไม่เป็นไร ฝึกเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะคล่องเอง ถ้าใครทำได้ ยินดีด้วยนะเพราะคุณได้เข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของกองทุนนั้นๆ แล้ว ถ้าสนใจก็ลองศึกษาเพิ่มเติมแบบละเอียดๆ กันได้ เพราะต้องอย่าลืมนะว่าเราไม่ควรลงทุน ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนนั้นๆ ดีพอ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้
เรียนกองทุน เรื่อง “วิธีอ่าน Fund Fact Sheet สำหรับมือใหม่” ฟรี! คลิกที่รูปได้เลย