Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร เอาง่ายๆ เลยก็อย่าง Grab, Uber ที่มีแพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถ (Ride-Hailing) หรือ Airbnb ที่เป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันที่อยู่อาศัยกัน ความน่าหลงใหลของธุรกิจนี้คือหลายๆ บริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นเลย (รถ,ที่พัก ฯลฯ) เพียงแค่สร้างระบบที่เชื่อมผู้ใช้ถึงกันและกันก็ทำเงินได้แล้ว ฝั่งผู้บริโภคก็มีตัวเลือกใหม่ๆ ให้ได้ลองใช้กัน เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น
ประเทศจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ Sharing Economy โตดุเดือดมาก ในปี 2017 อุตสาหกรรมนี้มูลค่าถึง $782 พันล้าน (~25.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นการเติบโตแบบปีต่อปีสูงถึง 40%!! ยัง…ยังไม่พอ ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2018 นี้ Sharing Economy ของประเทศจีนจะโตขึ้นถึงระดับ $1 ล้านล้าน (~33 ล้านล้านบาท) และศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นของจีนก็คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถรักษาระดับการเติบโตต่อปีอย่างน้อยที่ระดับ 30% ได้
ทำไม Sharing Economy ในประเทศจีนถึงเติบโตโหดจัง?
ถ้ามองทางด้านผู้บริโภค เราจะเห็นว่าคนจีนมีความพร้อมสำหรับการเปิดรับโอกาสใหม่นี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนก็เช่น อัตราผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมือถือที่หันมาใช้การจ่ายเงินผ่านมือถือนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้บริการ Sharing Economy มีความรวดเร็วง่ายดายมากขึ้น ในปี 2016 ผู้ใช้บริการจ่ายเงินผ่านมือถือในจีนนั้นมีจำนวนถึง 195 ล้านคน เทียบกับสหรัฐฯ มีแค่ 37 ล้านคนเอง นอกจากนี้ปัจจัยอย่างจำนวนประชากรที่หนาแน่น และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยผลักดันให้ Sharing Economy ได้รับความนิยมในจีนเช่นกัน
ว่ากันว่าไม่ใช่แค่รถ จักรยาน ที่พักอาศัยเท่านั้นที่คนจีนเค้าแชร์กัน ยังมีร่ม ที่ชาร์จแบต ลูกบาส ที่ผสมคอนกรีตอีกด้วย จะจิปาถะไปไหน
ในฝั่งของผู้ให้บริการ หนึ่งในบริษัทที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่บริษัทต่างประเทศ แต่เป็นบริษัทท้องถิ่นอย่าง Didi Chuxing ที่ให้บริการเรียกรถ จะเรียกว่าเป็น Uber ของประเทศจีนก็ไม่ผิด… จริงๆ ก็ถือว่าใช่แหละ เพราะ Didi ซื้อกิจการ Uber ในจีนไปเมื่อปี 2016
แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ปีของ Didi Chuxing สักเท่าไร
เมื่อผู้นำตลาดอย่าง Didi Chuxing เผชิญปัญหาด้านความปลอดภัย
7.43 พันล้าน…คือจำนวนเที่ยวโดยสารทั้งหมดที่ Didi Chuxing ให้บริการ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปี 2017
หากนับที่จำนวนเที่ยวโดยสารแล้ว Didi Chuxing ถือเป็นบริษัทให้บริการรถยนต์ร่วมโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น โดย Didi Chuxing นั้นก่อตั้งในปี 2012 พอผ่านไปสามปีก็ได้ควบรวมกิจการกับ Alibaba ยักษ์ใหญ่วงการ e-commerce
มูลค่าของบริษัทนี้อยู่ที่ $56 พันล้าน (~1.8 ล้านล้านบาท) มีคนขับประมาณ 30 ล้านคน และมีผู้ใช้งานประมาณ 550 ล้านคน… เทียบกับจำนวนผู้ใช้งานมือถืออินเตอร์เน็ตในจีนทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 772 ล้านคนในปี 2017 แล้วจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ใช้งาน Didi นี้มีมากกว่าครึ่งของผู้ใช้งานมือถืออินเตอร์เน็ตในจีนทั้งหมดซะอีก ยิ่งใหญ่มั้ยล่ะ
แต่ปีนี้ Didi Chuxing ก็ต้องเจอมรสุมหนัก เพราะตั้งแต่ปี 2018 มานี้บริษัทเจอเคสผู้โดยสารของตัวเองเสียชีวิตมาแล้วถึง 2 ครั้งจากบริการ Hitch Carpooling หรือการจับคู่คนที่มีจุดหมายเดียวกันให้เดินทางไปด้วยกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักหน่วง ทางการจีนต้องสั่งระงับการให้บริการ Carpooling นี้แบบถาวร จนกว่าบริษัทจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจน ซึ่งจุดนี้บริษัทก็ออกมายอมรับแหละว่าละเลยการดูแลเรื่องความปลอดภัยจริงๆ
งานนี้จะอยู่เฉยได้ไง… Didi รีบประกาศมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ทันที ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งปุ่มกดเรียกความช่วยเหลือในแอปฯ (Panic Button) ซึ่งเมื่อผู้โดยสารกดแล้วก็จะสามารถติดต่อตำรวจได้, การเพิ่มทีมงานดูแลลูกค้าจาก 5,000 คนขึ้นเป็น 8,000 คน, การให้ผู้ใช้งานสามารถระบุเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าของเบอร์จะได้รับการอัพเดตหากผู้โดยสารเจอเหตุร้าย, การมีแผนติดตั้งอุปกรณ์อัดเสียงในรถ และการตรวจสอบประวัติข้อมูลของคนขับที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม (พอเกิดเหตุร้ายทีนี่ล้อมคอกกันชุลมุนเลย)
หันกลับไปดูที่สุขภาพการเงินของบริษัทในปีนี้… ครึ่งปีแรกนี้ Didi ขาดทุนไปกว่า $580 ล้าน (~1.9 หมื่นล้านบาท) เพราะนอกจากจะเจอมรสุมเรื่องผู้โดยสารเสียชีวิต ก็ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบเป็นมูลค่ากว่า $1.7 พันล้าน (~5.5 หมื่นล้านบาท) โปะเข้าไปในแคมเปญโปรโมชั่นลดราคาสู้กับคู่แข่ง ซึ่งจริงๆ แคมเปญลดราคานี้ก็กัดกินบริษัทยาวนานมาตั้งแต่สมัยแข่งกับ Uber แล้ว
Sharing Economy ในจีนเจอการแข่งขันอันดุเดือด
ใครคิดว่า Didi Chuxing ครองตลาด Sharing Economy คนเดียว? ไม่จริง เพราะยังมีบริษัทให้บริการเช่าจักรยาน (Bike-Sharing) อีกหลายๆ บริษัทที่เข้ามาแบ่งเค้กด้วย เป็นผลให้ระดับการแข่งขันนั้นสูงสุดๆ ถึงขั้นที่ว่าแต่ละเจ้าต้องหั่นราคาสู้กัน เมื่อราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงเรื่อยๆ กำไรที่บริษัททำได้ก็น้อยลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงินของบริษัทไปอีก ตอนนี้ก็มีบางรายที่ไม่สามารถมัดจำคืนให้ผู้ใช้งานได้ และหลายๆ รายก็ล้มหายตายจากไป ตัวอย่างบริษัทให้เช่าจักรยานที่มีปัญหาก็เช่น MoBike ที่มีปัญหาเรื่องการเงิน จนสุดท้ายกิจการก็ถูก Meituan Dianping บริษัทเดลิเวอรี่ซื้อกิจการไป อีกบริษัทก็ Ofo ซึ่งเจอปัญหาเรื่องการบริหารจัดการงาน
บ้างก็ว่าการแข่งขันที่รุนแรงแบบนี้ ส่งผลให้บริษัทไม่คิดจะเบนความสนใจไปเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะจะส่งผลต่อต้นทุนที่มากขึ้น กระทบกำไรไปอีก
ปัญหาด้านความสะอาดของบ้านเมืองก็ตามมา เพราะด้วยจำนวนบริษัทที่มากมาย ก็ตามมาด้วยจักรยานที่มีเยอะขึ้น เยอะจนล้นตลาด จักรยานที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ หรือ หมดอายุการใช้งานแล้ว ก็จะถูกวางทิ้งเกลื่อนอยู่ตามถนน เป็นปัญหาที่สังคมต้องจัดการเก็บกวาดอีก
รัฐบาลยังจับตามอง Sharing Economy
ถ้าใครยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเคยแผลงฤทธิ์กับอุตสาหกรรมเกมในจีนมาแล้ว สำหรับ Sharing Economy ก็โดนเหมือนกัน แม้ว่าจะทำรายได้ให้เศรษฐกิจจีนเป็นกอบเป็นกำ แต่รัฐบาลจีนก็ยังมีความกังวลต่อระบบความปลอดภัยของอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะในด้านข้อมูลหรือหรือความเป็นอยู่ของประชาชน และการที่ Sharing Economy มีบริษัทเอกชนหลายๆ บริษัทก็ทำให้การจัดระเบียบยุ่งยากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้ Sharing Economy มีผู้เล่นให้น้อยที่สุด เหลือ 2-3 รายยิ่งดี (Oligopoly) เพื่อที่จะได้ควบคุมง่ายๆ นั่นเอง
แน่นอนว่ามาตรการอะไรหลายๆ อย่างคงเข้มงวดขึ้น แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือแทนที่บริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนาบริการที่ถูกใจลูกค้า และแข่งขันกันด้วยประสิทธิภาพของตัวเองจริงๆ อาจจะต้องเปลี่ยนแผนไปเอาอกเอาใจผู้เป็นใหญ่เป็นโตแทน ผลลัพธ์ก็คืออาจจะได้สิทธิพิเศษอะไรหลายๆ อย่าง แต่อาจจะกระทบกับความชอบใจของผู้ใช้งานก็เป็นได้
โดยสรุปแล้ว แม้ว่า Sharing Economy ในจีนจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสดใส ด้วยตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตที่สูงลิบ แต่ปัจจัยที่ว่ามาเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนช่องโหว่ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ได้ และแม้ว่าเจ้าตลาดอย่าง Didi Chuxing จะสามารถกลับมาโลดแล่น แต่รอบนี้ก็คงต้องระมัดระวังหลายๆ อย่างมากขึ้น บทเรียนครั้งนี้ของ Didi น่าจะสามารถกระตุ้นให้หลายๆ บริษัทและหน่วยงานกลับมาย้อนคิดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือความปลอดภัยของผู้โดยสาร
เพราะแม้ว่าตัวเลขเม็ดเงินจะมากมายแค่ไหน ยังไงก็ไม่สามารถแทนที่ชีวิตของคนคนหนึ่งได้หรอก
Sources:
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Sharing-Economy/Didi-ride-share-halt-threatens-to-cool-China-s-sharing-economy
https://www.ft.com/content/7f6c55dc-b4c5-11e8-bbc3-ccd7de085ffe
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-45480222
https://www.weforum.org/agenda/2017/06/china-sharing-economy-in-numbers/
http://en.people.cn/n3/2018/0308/c90000-9434399.html
http://usa.chinadaily.com.cn/a/201801/09/WS5a541c98a31008cf16da5e76.html
https://www.statista.com/statistics/265140/number-of-internet-users-in-china/
https://www.dealstreetasia.com/stories/chinas-ride-hailing-giant-didi-chuxing-said-to-record-585m-loss-in-first-half-of-2018-106344/
ที่มาบทความ: https://thezepiaworld.com/2018/10/19/didi-chuxing/