ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผมมีนิสัยที่ติดตัวมาตลอดอย่างน้อย 5-6 อย่างที่อาจจะเกี่ยวข้องกัน นิสัยส่วนใหญ่น่าจะติดมาจากแม่ซึ่งคอยเคี่ยวเข็ญตลอดเวลาให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ และถ้าเรายังไม่ทำเขาก็จะไม่หยุดพูด จานชามหลังจากกินข้าวเสร็จแล้วจะถูกสั่งให้ล้าง “ทันที” ไม่มีการปล่อยทิ้งไว้ เวลาที่เขาปลุกให้ตื่นเพื่อไปโรงเรียนหรือแม้แต่วันหยุดที่ไม่มีภารกิจอะไรเราก็ต้องตื่น การนอนตื่นสายไม่อยู่ในหลักปฏิบัติของบ้าน นอกจากนั้น ค่าที่ว่าฐานะทางบ้านยากจน ความประหยัดมัธยัสถ์ใช้แต่ของที่จำเป็นก็เป็น “เสาหลัก” อีกอย่างหนึ่งที่หล่อหลอมนิสัยหลายอย่างของผม ในสมัยที่ยังเป็นเด็กนั้น ข้าวแม้แต่เม็ดเดียวก็ต้องไม่เหลือติดชามไม่ต้องพูดถึงการกินอาหารเหลือทิ้งเหลือขว้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นน่าจะเป็น “ต้นตอ” ของนิสัยต่าง ๆ ของผมที่ยืนยาวต่อเนื่องมานานจนเป็นผู้ใหญ่ แน่นอน เรื่องความประหยัดแม้แต่การกินอาหารนั้นหมดไปนานแล้ว แต่นิสัยหลายอย่างก็ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้
นิสัยที่ผมคิดว่าติดตัวมาก ๆ และจะหงุดหงิดถ้าพบว่าคนใกล้ตัวหรือคนอื่นที่ผมเกี่ยวข้องไม่ทำน่าจะรวมถึงเรื่องหรือประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การ “ทำทันที”
โดยเฉพาะเมื่อดูแล้วไม่มีประเด็นที่ทำให้เราต้องรอ ถ้าเราคิดอย่างรอบคอบแล้วว่านั่นคือสิ่งที่ควรทำ เช่น ถ้าเรามั่นใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในเวลานั้นเป็นสิ่งที่ดีต่ออนาคตทางการเงินระยะยาวของเรา เราก็จะต้อง “ทำทันที” การ “ผัดวันประกันพรุ่ง” ไม่ใช่วิถีของผมเลย ผมยังจำได้ว่าวันที่ผมตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาโทและรวมถึงปริญญาเอกนั้น เมื่อผมรู้ว่าผมมี “โอกาสทำได้” แม้ว่าจะมีโอกาสผิดพลาด ผมก็ตัดสินใจแทบจะ “ทันที” อย่างไรก็ตาม การเรียนต่อนั้นจริง ๆ ก็อยู่ในใจผมก่อนแล้ว แต่ผมอาจจะแค่เคยคิดแบบกว้าง ๆ โดยไม่มีรายละเอียดหรือแผนการอะไรที่ชัดเจน ตอนที่ตัดสินใจผมแค่ดูว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและทำได้โดยที่ความเสี่ยงนั้นมีน้อย ว่าที่จริงผมแทบจะไม่มีต้นทุนถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผม “แทบไม่มีอะไรจะเสีย”
นิสัยข้อต่อมาน่าจะเป็นเรื่องของความชอบ “ความมีประสิทธิภาพสูง”
ผมชอบและมักจะหาวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ให้เร็วและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง การใช้ชีวิตประจำวันอย่างการเดินทางด้วยรถยนต์ในช่วงเวลาที่รถติดหนักนั้นผมมักจะพยายามเลี่ยง ถ้าสามารถใช้รถไฟฟ้าที่แล่นบนรางผมจะไม่รีรอที่จะใช้เลย นอกจากนั้น ถ้าผมต้องไปเข้าคิวรอรับบริการที่มีการปฏิบัติอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผมก็จะรู้สึกหงุดหงิด และนี่น่าจะทำให้ผมไม่อยากลงทุนกับบริษัทที่มีการปฏิบัติงานที่ดูไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรไปด้วย
นิสัยที่น่าจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเมื่อผมมีอายุมากขึ้นที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “การหาจุดยืนที่ปลอดภัย” ในทุกเรื่องที่ทำ
ย้อนหลังไปเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็กและอาศัยอยู่ในสลัมของกรุงเทพนั้น ผมใช้ชีวิตที่ “เสี่ยงมาก” หลายอย่างโดยไม่รู้ตัว อาจจะเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมที่ย่ำแย่และความเป็นเด็กที่อยากรู้อยากเห็นแต่ไม่มีใครบอกหรือสอน ตัวอย่างเช่น ผมยังจำได้ว่าตนเองชอบไปเที่ยวเก็บสายไฟฟ้าเก่าเพื่อเผาเอาทองแดงไปขายซึ่งเป็นเรื่องที่ทำเป็นปกติ วันหนึ่งก็ไปพบห้องแถวที่เป็นตึกสร้างไม่เสร็จและถูกทิ้งร้างโดยมีสายไฟฟ้าห้อยลงมาจากเพดาน เพื่อที่จะพิสูจน์ว่ามันไม่มีไฟ ผมก็เอาลวดไปแหย่ ปรากฏว่าผมถูกไฟดูด โชคดีที่ในสมัยนั้นยังเป็นไฟฟ้าระบบ 110 โวลท์ ทำให้ผมเพียงแค่กล้ามเนื้อกระตุก แต่ถ้าวันนั้นผมถูกไฟดูดและเส้นลวดที่ใช้แหย่ไม่หลุดออกมา ผมก็อาจจะตายได้
การหาจุดยืนที่ปลอดภัยนั้น หมายความว่าทุกครั้งที่ผมจะทำอะไร ผมก็จะไตร่ตรองดูอย่างรอบด้านว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นในทางที่เลวร้ายมาก มันจะกระทบกับผมแค่ไหน เปรียบไปก็เหมือนกับการปลูกบ้านอยู่ริมเขา ผมก็อาจจะต้องวิเคราะห์ว่าถ้าวันหนึ่งเกิด “ดินถล่ม” แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย ผมก็อาจจะตายได้แม้ว่าโอกาสเกิดอาจจะน้อย ตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่ทำนั้นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีมีสูงแต่โอกาสผิดพลาดนั้นอาจจะพอสมควรแต่เมื่อพลาดก็ไม่ทำให้เราตายหรือลำบาก แบบนี้ผมก็อาจจะทำหรือเข้าไปอยู่ในตำแหน่งนั้น
ผมคิดว่าการที่เราอยู่ในจุดยืนหรือตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมนั้น เมื่อเกิดอันตรายขึ้น การที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากกว่าการที่เราจะป้องกันไว้ก่อนโดยการหาจุดยืนหรือตำแหน่งที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนในหุ้นเก็งกำไรที่ไม่แข็งแกร่งและเกิดวิกฤติบางอย่างที่ทำให้หุ้นตกลงมามากจนทำให้เราขาดทุนหนัก แทบจะเป็น “หายนะ” นั้น การแก้ไขบางทีก็เป็นไปไม่ได้ และไม่ต้องไปถาม “เซียน” ว่าจะทำอย่างไร เพราะ “เซียนตัวจริง” นั้น มักจะรู้แต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่นำไปสู่ความหายนะ หรือแม้ว่าหุ้นหรือมูลค่าพอร์ตจะตกลงมาก มันก็มักจะสามารถฟื้นขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป การแก้ไขถ้าจำเป็นก็ง่ายกว่า พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของชาลี มังเกอร์ที่บอกว่า “สิ่งที่ผมอยากจะรู้ก็คือผมจะตายที่ไหน เพื่อที่ว่าผมจะได้ไม่ไปที่นั่น”
ผมเองผ่านสถานการณ์ที่ผิดพลาดเสียหายมาไม่น้อย เคยทำธุรกิจเล็ก ๆ หลายอย่างที่ล้มเหลวแต่ก็ไม่ได้กระทบการเงินส่วนตัวอะไรมากเพราะผมรู้ตัวว่าผมควรจะทำในระดับไหนและถ้าธุรกิจล้มเหลวจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง
ในด้านของการเป็นผู้บริหารในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่หลายแห่งและบริษัทประสบกับปัญหาล้มเหลวทางธุรกิจ ผมก็เอาตัวรอดมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกครั้งก็พยายาม “วางตัวเอง” ให้อยู่ในตำแหน่งที่ “ปลอดภัย” ถ้าเกิดอะไรที่เลวร้ายขึ้นกับบริษัทมันจะต้องไม่กระทบมาถึงตัวเองอย่างรุนแรงจนเป็นหายนะ ผมมีคติว่า “บริษัทนั้นอาจจะตายได้ แต่เราต้องไม่ตาย”
จุดยืนอีกอย่างหนึ่งและมันเป็นนิสัยของผมที่ก่อตัวมาตั้งแต่เด็กและก็มาจากแม่เช่นเดียวกันก็คือ ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง
และนี่น่าจะเป็น “เกราะ” ป้องกันตัวเองจากอันตรายหลาย ๆ อย่าง ที่กล่าวข้างต้น การทำงานในบริษัทมหาชนนั้น ถ้าเราไม่สุจริต เราอาจจะได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่นั่นทำให้เราอยู่ในตำแหน่งหรือจุดยืนที่อันตราย เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทประสบปัญหา เรื่องราวต่าง ๆ ก็จะถูกขุดคุ้ยและทำให้คนที่ไม่สุจริตตกอยู่ในที่นั่งที่ลำบากทั้งทางด้านการเงินและเรื่องส่วนตัวซึ่งสำหรับผมแล้วมันไม่คุ้มเลย และก็เช่นเดียวกัน ผมนึกถึงคำพูดของ วอเร็น บัฟเฟตต์ที่ว่า “ถ้าคุณคิดว่าเราใช้เวลา 20 ปีที่จะสร้างชื่อเสียง แต่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีที่จะทำลายมัน คุณก็จะทำสิ่งต่าง ๆ ในอีกแบบหนึ่ง”
ข้อสรุปใหญ่ของผมก็คือ ในการที่จะยืนอยู่ในโลกของการลงทุนและการใช้ชีวิตได้อย่างดีและน่าภาคภูมิก็คือ จงอย่าพาตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งหรือจุดที่อาจจะเกิดอันตรายเพราะวันหนึ่งมันก็อาจจะเกิดขึ้น ถึงแม้โอกาสจะเกิดขึ้นน้อยมันก็ไม่คุ้มที่จะทำ การอยู่ในตำแหน่งที่อันตรายที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น ปล่อยให้ตนเองเป็นหนี้ในระดับที่สูงเกินไป การทุ่มให้กับการลงทุนในทรัพย์สินบางรายการที่หนักเกินไป การทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือจริยธรรมอย่างรุนแรงหรือแม้แต่ที่หมิ่นเหม่ต่อสิ่งเหล่านั้น เป็นต้น แน่นอนว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบโดยเฉพาะคนที่อยู่ใน “ยุทธจักร” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการลงทุนและสิ่งที่ตนเองทำอย่างเต็มที่ แต่การตระหนักตลอดเวลาและอาจจะต้องทบทวนตำแหน่งที่ยืนอยู่เสมอก็จะช่วยให้เราเติบโตและอยู่รอดปลอดภัยไปตลอดชีวิต
ที่มาบทความ: thaivi.org