The Key Factors ประจำสัปดาห์ พบกับ ความกังวลจากประเด็นอิตาลี และทะเลจีนใต้ อีกครั้งกับประเด็นต่างๆ ที่เข้ามากดดันตลาดในช่วงเวลานี้

  • รัฐบาลอิตาลีตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 2.4% ของ GDP
  • ตลาดกังวลส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีพุ่ง
  • ต่อเนื่องด้วยทะเลจีนใต้กลับมาระอุอีกครั้ง หลังเรือรบของจีนและสหรัฐฯ เผชิญหน้ากัน
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น กับการลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์

1. สถานการณ์อิตาลี หลังรัฐบาลยืนยันตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณที่ 2.4% ของ GDP

The Key Factors: ตลาดกังวลประเด็นอิตาลี ทะเลจีนใต้ระอุอีกครั้ง

                        รูปที่ 1 อัตราผลคอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี 10 ปี Source : Bloomberg

รัฐบาลอิตาลีตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 2.4% ของ GDP สำหรับงบประมาณในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนรัฐบาลอิตาลีปรับตัวขึ้นทันทีกว่า 5% อย่างไรก็ตามหลังถูกแรงกดดันอย่างหนักจากสหภาพยุโรป ทำให้รัฐบาลอิตาลีปรับเป้าขาดดุลงบประมาณในปี 2020 ให้ขาดดุลลดลงเหลือ 2.2% และปี 2021 เหลือ 2.0% ส่งผลตลาดคลายความกังวล ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีปรับตัวลงมาเล็กน้อย นอกจากนั้น ผลจากความกังวลดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงมาที่ 1.1551 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1610 ดอลลาร์/ยูโร จากนั้นปรับตัวแข็งขึ้นมาเล็กน้อย

2. ทะเลจีนใต้ระอุ หลังเรือรบจีนเผชิญหน้าสหรัฐฯ กดดันประเด็นสหรัฐฯ-จีน ต่อเนื่อง

The Key Factors: ตลาดกังวลประเด็นอิตาลี ทะเลจีนใต้ระอุอีกครั้ง

Source : https://timesofsandiego.com/military/2018/10/01/chinese-warship-confronts-san-diego-based-destroyer-in-south-china-sea/

ประเด็นความกังวลในยุโรปยังไม่คลี่คลาย ล่าสุด เรือรบ “ยูเอสเอส ดีเคเตอร์” (USS Decatur) ของสหรัฐฯ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในทะเลจีนใต้ เผชิญหน้าเรือลาดตระเวนชั้น “ลู่หยาง” ของกองทัพเรือจีน ในระยะเพียง 45 เมตร ประเด็นดังกล่าว สร้างแรงกดดันต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนตึงเครียดในช่วงที่ประเด็นการค้ายังไม่มีใครยอมใคร

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นลดการซื้อตราสารหนี้

The Key Factors: ตลาดกังวลประเด็นอิตาลี ทะเลจีนใต้ระอุอีกครั้ง

ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาประกาศลดจำนวนเงินอัดฉีดเข้าซื้อตราสารหนี้ที่จะครบอายุเกินกว่า 25 ปี จาก 50,000 -150,000 ล้านเยน ในเดือนกันยายน เหลือ 10,000-100,000 ล้านเยน ประกอบกับการแถลงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่กล่าวในทำนองจะเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรท่ามกลางกระแสกดดันว่าบิดเบือนตลาด ทั้งนี้จากการประกาศลดจำนวนเงินในการเข้าซื้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 40 ปี เพิ่มขึ้น 0.02% สู่ระดับ 1.09% และอายุ 30 ปี เพิ่มขึ้น 0.015% แตะระดับ 0.92% การเพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจเป็นผลให้บริษัทประกันและกองทุนบำนาญโยกเงินลงทุนกลับมายังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง

ซึ่งสถานการณ์ข้างต้นทั้งหมด ส่งผลให้มีแรงกดดันต่อตลาดการลงทุนโดยรวม ทั้งในแง่ของราคาทองคำที่มีการปรับตัวขึ้นเหนือ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง ตลาดหุ้นยุโรปที่มีการปรับตัวย่อลงทันทีกว่า 1% หลังจากการประกาศตัวเลขการคาดการณ์การขาดดุลของรัฐบาลอิตาลี ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะเป็นอีก Key Factors ที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

FINNOMENA Investment Team


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน