ตัดอคติของคุณออกไป คัดเลือกกองทุนโดนใจด้วยหุ่นยนต์

ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากซักหน่อยสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมหรือ Mutual Fund

ด้วยความที่ยอดเงินลงทุนทั้งอุตสาหกรรมเติบโตไม่เกิน 3% ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งๆ ที่เฉลี่ยโตทั้งปีมากกว่า 10% มาตลอด 5-6 ปีหลัง แต่เมื่อมองจากบริบทของการลงทุน และสถานการณ์การลงทุนในโลกในช่วงปี 2018 นี้ ก็จะพบคำตอบว่า เพราะอะไร

ประเด็นสำคัญมากจากการที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารตลาดเงิน และตราสารหนี้มันต่ำติดดินเป็นระยะเวลานาน กดดันให้ผู้ฝากเงินโยกเงินไปลงทุนในกองทุนรวมประเภทผสม และกองทุนรวมหุ้น และเมื่อลงทุนไปซักระยะ ก็มากังวลกันว่า กองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนกันอยู่ตอนนี้ มันเป็นจุดที่ยังลงทุนได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะดัชนี SET Index ต้นปีทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) แต่ก็ไม่วายโดนแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ยังคงกดดันนักลงทุนให้ต้องหาแหล่งลงทุน และเพื่อประโยชน์ด้านการกระจายความเสี่ยง จึงทำให้เงินลงทุนจำนวนมาก ย้ายเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เหมือนตลาดหุ้นอยากให้ประสบการณ์กับนักลงทุนอย่างเข้มข้น จึงส่งความผันผวนในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาเขย่าตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับคู่ค้ารายใหญ่, การคว่ำบาตร, การชะลอตัวของตัวชี้นำเศรษฐกิจ, เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนที่จัดพอร์ตการลงทุนอยู่ พบว่า แทบไม่เกิดประโยชน์ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงเลยตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมา และอาจคิดไปว่า การจัดพอร์ต Asset Allocation เป็นเรื่องหลอกลวงหรือเปล่า?

จากการที่ผมและทีมงานได้ทำการประมวลผล ดูความสัมพันธ์ของแต่ละประเภทสินทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรก ก็พบว่า แต่ละประเภทสินทรัพย์มีความสัมพันธ์ที่แปลกไปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ไม่วิ่งเคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ในอดีตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือ กรณีการแข็งค่าของค่าเงินดอลล่าร์ ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงเหมือนในอดีตที่แปรผกผันกันมาตลอด ถ้าเราเอาอคติของเราใส่เข้าไป เราก็อาจคิดต่อไปว่า ไม่ต้องจัดพอร์ตแล้ว หลังจากนี้เรามานั่งวิเคราะห์เอาเลยแล้วกันว่า อนาคตสินทรัพย์ประเภทไหน กองทุนอะไรจะโต แล้วก็ซื้อเข้าพอร์ตตามที่เราพอใจ ง่ายดี

แต่ถ้าเราใจเย็นๆ ซักนิด จะพบว่า เหตุการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ขยายความก็คือ ความผิดปกติของคู่ความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์การลงทุนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เราสามารถพบเจอได้ในระยะสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดจะหาจุดสมดุลใหม่ และกลับมาเป็นปกติเช่นเดิมความท้าทายก็คือ เราไม่รู้หรอกครับว่าเมื่อไหร่ความผิดปกติจะผ่านพ้นไป เวลาจะเฉลยคำตอบให้เราเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงยังมั่นใจว่า การจัด Asset Allocation คือสิ่งที่ยังจำเป็นสำหรับการวางพอร์ตการลงทุนในระยะยาวนะครับ ที่ชวนให้คิดต่ออีกหนึ่งคำถามก็คือ แล้วจะเลือกกองทุนกองไหนใส่เข้ามาในพอร์ตการลงทุนตามแต่ละประเภทสินทรัพย์ที่เราเลือก ตรงจุดนี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในฐานะ Asset Allocator และนักลงทุนทั่วไป เพราะจำนวนกองทุนที่มีอยู่มาก และคุณลักษณะ รวมถึงนโยบายการลงทุน ที่แตกต่างกันไป ตรงจุดนี้ การใช้ Algorithm ในการคัดเลือกกองทุนจึงสามารถช่วยนักลงทุนได้เยอะทีเดียว

เราสามารถคัดเลือกกองทุนที่เหมาะกับเรามากที่สุด โดยการให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่เราวางไว้ เปรียบเสมือนตะแกรงร่อนกองทุนรวมให้กับเราได้ อย่างง่ายสุดก็คือ เรียงลำดับตามผลตอบแทนดีที่สุดไปน้อยที่สุด และเปรียบเทียบกับความเสี่ยง และเพิ่มการคัดกรองให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยดูคุณสมบัติอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ขนาดของกองทุนรวม, ปริมาณการซื้อขายต่อขนาดของกองทุน, ค่าใช้จ่ายกองทุน, นโยบายการลงทุน, ความผันผวนของ NAV, ประสบการณ์การลงทุนของผู้จัดการกองทุน ฯลฯ โดยให้คะแนนแต่ละคุณสมบัติ และรวมคะแนนเพื่อหากองทุนรวมที่เหมาะกับเรามากที่สุดในการจัดพอร์ตแต่ละประเภทสินทรัพย์

ที่สำคัญคือ ประมวลผล และทำสิ่งนี้ซ้ำๆ ทุกๆ เดือน ทุกๆ ไตรมาส เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ปรับสมมติฐาน และทำการปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อมีกองทุนรวมอื่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนที่เราลงทุน ณ ตอนนี้

ด้วยวิธีนี้ นักลงทุนจะไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทำ Market Timing และเฝ้ามองตลาดในระยะสั้นมากเกินไป ในขณะที่มั่นใจได้ว่า ในทุกช่วงเวลา คุณได้ถือกองทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละประเภทสินทรัพย์โดยปราศจากอคติของคุณเอง

ใช่ครับ เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ให้หุ่นยนต์ทำงานสร้างพอร์ต สร้างความมั่งคั่งให้กับเงินลงทุนของเราได้ดีกว่าในอดีต คุณพร้อมแล้วรึยัง?

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645512

TSF2024